“ธาริต” แจงผลประชุม ศรส. ครม.ปรับใช้ พ.ร.บ.มั่นคงตามที่เสนอ ยันไม่จำเป็นเลขาฯ สมช.ต้องเป็นเลขาฯ ศอ.รส. เผยสภาพัฒน์ประเมินความเสียหายชุมนุม กปปส. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดฮวบ ศก.เสียหายหนัก วอนม็อบนึกถึงชาติแก้ปัญหาสันติ ผุดแนวทางช่วยเหลือ ปชช.ธุรกิจที่รับผลกระทบ พม.ดูแลความเสียหายร่างกาย ธุรกิจจำกัดแต่ที่เสียภาษี และช่วยมาตรการการเงิน ให้ ก.เกี่ยวข้องดูแล สั่ง สนง.ปลัดนายกฯ คอยประสาน
วันนี้ (18 มี.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะกรรมการศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) แถลงผลการประชุม ศรส.ว่า วันนี้ (18 มี.ค.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามที่ ศรส.เสนอ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.ถึง 30 เม.ย.นี้ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว รวมถึงการพิจารณาจัดโครงสร้างเพื่อการบริหารจัดการ และการสนธิกำลังของหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ตำรวจ ทหาร และพลเรือน เพื่อทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ที่จะกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรต่อไป
นายธาริตกล่าวว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงมีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ โดยโครงสร้างการจัดอัตรากำลังและการสนธิกำลังของ ศอ.รส. จะคล้ายคลึงกับ ศรส. โดยวันนี้เวลา 14.00 น. บอร์ด กอ.รมน.จะมีการประชุมเพื่อจัดโครงสร้างอัตรากำลัง เมื่อที่ประชุมบอร์ด กอ.รมน.เห็นชอบในวันนี้แล้วก็จะทำงานได้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ ส่วนที่ถามว่าจะมีเลขาธิการ สมช.เป็นเลขาฯ ศอ.รส.หรือไม่นั้นยังตอบไม่ได้ ตนในฐานะกรรมการบอร์ดก็ยังไม่เห็นร่างองค์ประกอบ แต่ถ้าถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องเป็นเลขาธิการ สมช.ก็ตอบว่าไม่จำเป็น จะเป็นใครก็ได้ ฝ่ายเลขานุการ กอ.รมน. ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการร่วมประกอบด้วยตำรวจ ทหาร และพลเรือน จะเป็นผู้ที่ยกร่างต่างๆ เสนอ
นอกจากนี้ ศรส.ได้รับรายงานจากสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เกี่ยวกับการประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม จากการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ว่า นับตั้งแต่มีการชุมนุม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงเป็นลำดับจนปัจจุบันดัชนีอยู่ที่ 61.4 ส่วนความเชื่อมั่นภาคธุรกิจลดลงเป็นลำดับจนปัจจุบันดัชนีอยู่ที่ 45.4 ซึ่งเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง และตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งเดิม สศช. ได้ประมาณการไว้ที่ร้อยละ 4.0-5.0 จะต้องปรับลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3.0-4.0 ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศลดลง และมีการยกเลิกหรือเลื่อนการจัดประชุมในประเทศไทยหลายรายการ ศรส.จึงขอให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมทุกกลุ่ม ตระหนักถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศในระยะยาว และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยสันติวิธีโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ
นายธาริตกล่าวอีกว่า ศรส.ได้พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมปิดกรุงเทพฯ ของ กปปส.ตามที่คณะทำงานฯ ที่มีเลขาฯ ศสช.เป็นประธานแล้ว มีมติเห็นชอบตามแนวทางที่คณะทำงานฯ เสนอ ดังนี้ 1. ขอบเขตการให้ความช่วยเหลือจะให้การช่วยเหลือประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงธุรกิจขนาดใหญ่ ในเขตพื้นที่ชุมนุม และนอกเขตพื้นที่ชุมนุมที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม นับแต่เกิดเหตุชุมนุมและภายหลังการชุมนุมด้วย 2. หลักเกณฑ์การช่วยเหลือกรณีประชาชนจะต้องเป็นผู้ได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ส่วนกรณีผู้ประกอบการธุรกิจ ต้องอยู่ในระบบเสียภาษีโดยมีหลักฐานการประกอบธุรกิจชัดเจน
และ 3. มาตรการให้ความช่วยเหลือ ประกอบด้วย มาตรการทางการเงิน ได้แก่ การยืดระยะเวลาชำระเงินต้น สนับสนุนเงินทุน โดยกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย จะประสานขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินต่างๆ มาตรการส่งเสริมการตลาด ได้แก่ จัดกิจกรรมเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าและบริการ โดยมีกระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รับผิดชอบ มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการผลิต การฝึกอบรมผู้ประกอบการ โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน และ สสว.รับผิดชอบ มาตรการผ่อนปรนการชำระภาษี ได้แก่ การขยายกำหนดเวลายื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม ขยายเวลาการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ขยายเวลายื่นชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยมีกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบ มาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายระยะสั้น ได้แก่ การให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้น การผ่อนปรนค่าสาธารณูปโภค การลดค่าเช่า การจัดหาสถานที่ทำการค้า โดยมีกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบ และมาตรการแรงงาน ได้แก่ การให้เงินช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อรักษาสภาพการจ้างงาน โดยมีกระทรวงแรงงานรับผิดชอบ
ทั้งนี้ ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นศูนย์รับแจ้งผลกระทบจากประชาชนและผู้ประกอบการ และประสานการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยศรส.จะเสนอแนวทางดังกล่าวต่อครม.เพื่อพิจารณาโดยด่วนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการแถลงข่าวประจำวันของ ศรส. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะกรรมการ ศรส. ได้แจกเอกสารที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมจากการชุมนุมของกปปส.โดยจากเอกสารดังกล่าวพบว่า การชุมนุมส่งผลกระทบต่อความการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและชะลอการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจเอกชนรวมทั้งผลกระทบด้านการท่องเที่ยว โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงจากระดับ 65 ในเดือน พ.ย.เป็น 63.2 และ 61.4 ในเดือน ธ.ค. 2556 และม.ค. 2557 ส่วนความเชื่อมั่นภาคธุรกิจลดลงจากระดับ 46.9 เป็น 45 และ 45.4 ในช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับการท่องเที่ยวจำนวนนักท่องเที่ยวร้อยละ 0.1 ในเดือน ม.ค.และลดลงอย่างชัดเจนร้อยละ 8.2 ในเดือน ก.พ. 2557 เป็นผลมาจากหลายประเทศประกาศเตือนพลเมืองกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย รวมทั้งมีการยกเลิกและลดเที่ยวบินจาก 7 สายการบิน อาทิ สิงคโปร์แอร์ไลน์ส, ฮ่องกงแอร์ไลน์ส ไชน่าแอร์ไลน์ส เป็นต้น
เอกสารดังกล่าวยังระบุด้วยว่า สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสี่ของปี 2556 ขยายตัวเพียง 0.6 ชะลอตัวจากการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อน แต่เศรษฐกิจในภาพรวมยังมีเสถียรภาพ ซึ่งสาเหตุการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสสี่เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกสินค้าที่ยังได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลก