xs
xsm
sm
md
lg

ขบ.เปิดจ่ายภาษีรถบนมือถือ คาดรายได้เพิ่มเป็น 2 หมื่นล้าน/ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)
กรมการขนส่งฯ จับมือ AIS เปิดให้บริการชำระภาษีรถบนมือถือเป็นครั้งแรก เริ่ม 15 พ.ย. 56 เป็นต้นไป มั่นใจช่องทางสะดวกขึ้นช่วยเพิ่มรายได้กว่า 2 หมื่นล้านต่อปี จากปัจจุบันเก็บได้เพียง 1 หมื่นล้าน และมีรถค้างชำระภาษีปีละกว่าแสนคัน เหตุสะดวกมากขึ้น

วันนี้ (22 ต.ค.) นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และ นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการรับชำระค่าภาษีรถประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ผ่านบริการรับชำระเงิน ค่าสินค้า/บริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Payment) ด้วยบริการเอ็มเปย์ และที่เคาน์เตอร์ชำระเงินที่มีสัญลักษณ์ mPay Station เพื่อเพิ่มช่องทางการรับชำระภาษีรถประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ โดยเจ้าของรถสามารถชำระภาษีรถประจำปีผ่าน Application “ชำระภาษีรถ” บนโทรศัพท์มือถือเครือข่าย AIS 3G 2100 ด้วยบริการเอ็มเปย์ ได้ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งยังสามารถชำระภาษีผ่านเคาน์เตอร์ชำระเงินที่มีสัญลักษณ์ mPAY STATION กว่า 3,500 แห่งทั่วประเทศ โดยเปิดให้บริการในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไป สำหรับมือถือระบบปฏิบัติการ Android ส่วนระบบ iOS จะเริ่มให้บริการปลายเดือนธันวาคม 2556

นายอัฌษไธค์กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ให้บริการการชำระภาษีที่กรมการขนส่งทางบก และที่ห้างสรรพสินค้าเท่านั้น ส่วนการให้บริการชำระค่าภาษีรถประจำปีผ่านโทรศัพท์มือถือนั้น ถือเป็นการให้บริการครั้งแรกที่จะทำให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น คาดว่าจะเพิ่มยอดการชำระภาษีได้ทั่วประเทศประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี จากเดิมมีรายได้เพียง 1 หมื่นล้านบาทต่อปีเท่านั้น โดยที่ผ่านมาพบว่ามีการค้างชำระภาษีสูงกว่าหลายแสนคันต่อปี

อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบว่ารถคันใดไม่มีการต่อภาษีเกิน 3 ปีนั้นทะเบียนรถก็จะถูกระงับทันที สำหรับรถที่จะชำระภาษีประจำปีบนมือถือ ประกอบด้วย รถเก๋ง รถปิกอัพ รถตู้ ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 7 ปี และไม่ใช้ก๊าซ CNG หรือ LPG เป็นเชื้อเพลิง และรถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี โดยต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยจากรถหรือสามารถสั่งซื้อกรมธรรม์ประกันภัยผ่านระบบนั้นได้ ทั้งนี้ สามารถดำเนินการได้ล่วงหน้าก่อนวันครบกำหนดชำระภาษีรถประจำปีครั้งถัดไปได้ไม่เกิน 3 เดือน โดยเสียค่าใช้จ่ายเพียง 60 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น