xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ย้อนรอย พ.ร.บ.กู้ชาตินี้ ใช้หนี้(ยัน)ชาติหน้า …ก่อนพบจุดจบ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากคลิปขณะนายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย เสียบบัตรลงคะแนนแทนกันระหว่างลงมติร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านในสภาฯ
อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน

ในที่สุด การออกกฎหมายแบบลักหลับโดยรัฐบาลและรัฐสภาเสียงข้างมากยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ อย่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ก็มีอันพบจุดจบ เมื่อถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตก เหตุเพราะขัดรัฐธรรมนูญทั้งในแง่เนื้อหาและกระบวนการตรา พ.ร.บ.ดังกล่าว หลายคนคงดีใจที่กฎหมายฉบับนี้แท้งไปได้ เพราะไม่งั้น คนไทยคงต้องแบกรับหนี้มหาศาลนี้ไปอีก 50 ปี ...เรามาย้อนรอยความพยายามออกกฎหมายกู้เงินที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยฉบับนี้กัน

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หรือที่มักเรียกกันว่า “พ.ร.บ.กู้ชาตินี้ แต่ใช้หนี้ยันชาติหน้า” เป็นร่างกฎหมายที่มีทั้งหมด 18 มาตรา ซึ่งกระแสไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ปรากฏทั้งในสภาและนอกสภา โดยนอกสภา ได้แก่ นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ระบุว่า การออกกฎหมายกู้เงินดังกล่าวเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 และไม่มีประเทศไหนในโลกที่ออกกฎหมายกู้เงินมโหฬารขนาดนี้

ขณะที่ในสภา ได้มีการอภิปรายร่างกฎหมายฉบับนี้ในวาระ 2 และ 3 เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2556 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์พยายามชี้ให้เห็นถึงหายนะของประเทศที่จะเกิดจากการกู้เงินจำนวนมหาศาลเช่นนี้ โดยนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้พยายามแนะให้รัฐบาลใช้งบประมาณปกติแทนการออก พ.ร.บ.กู้เงิน แต่หากรัฐบาลยังเดินหน้ากู้ 2 ล้านล้าน การลงทุนตาม พ.ร.บ.กู้เงินนี้ หลายโครงการจะทำให้ประเทศขาดทุนและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น รถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 เส้นทาง เชื่อว่าจะขาดทุนถึงปีละ 1 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน 10 เส้นทางเพิ่มเติมใน กทม.จะขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท ต้องนำเงินภาษีคนทั้งประเทศมาชดเชยการขาดทุน

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อ้างว่า รัฐบาลมองประโยชน์ของรถไฟความเร็วสูงคือการสร้างเศรษฐกิจ สร้างเมือง และสร้างรายได้

ทั้งนี้ ในการอภิปราย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้สงวนคำแปรญัตติให้เพิ่มมาตรา 20 ว่า ภายในปีงบประมาณ 2560 ให้ ครม.จัดทำงบประมาณประจำปีเป็นงบประมาณแบบสมดุล หากไม่สามารถดำเนินการได้ หรือหากหนี้สาธารณะต่อรายได้ประชาชาติมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 50 ห้ามกู้เงินหรือจัดสรรเงินกู้ตาม พ.ร.บ.นี้ ขณะที่นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ สงวนคำแปรญัตติให้เพิ่มมาตรา 21 ว่า หากโครงการใดผลการศึกษาพบว่าไม่มีความคุ้มค่าทางการเงิน ให้ยกเลิกโครงการนั้นทันที เพื่อลดภาระหนี้ให้กับรัฐ นอกจากนี้นายจุติ ยังสงวนคำแปรญัตติให้เพิ่มมาตรา 22 ด้วยว่า โครงการที่ได้รับความเสียหายจากการละเว้น โดยไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตามสายบังคับบัญชามีความรับผิดทางแพ่ง อย่างไรก็ตามที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับการแปรญัตติเพิ่มดังกล่าว ก่อนมีการลงมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินในวาระ 3 ด้วยคะแนน 287 ต่อ 105 เสียง

จากนั้น วันที่ 7 ต.ค. ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทได้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภาในวาระ 1 โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวรายงานถึงความจำเป็นในการใช้จ่ายตามร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน พร้อมยืนยันว่ากระบวนการเบิกจ่ายเงินมีความรัดกุม โปร่งใส และวงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านล้านในเวลา 7 ปี ไม่เกินร้อยละ 50 ของกรอบหนี้สาธารณะ สามารถบริหารจัดการหนี้ได้ ไม่ให้กระทบต่อสถานะการคลังของประเทศ

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะตัวแทน กมธ.การเงิน การคลัง ธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา มองว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 และว่า รัฐบาลสามารถบริหารจัดการโครงการเหล่านี้ด้วยวิธีงบประมาณปกติได้ โดยตั้งงบรายจ่ายข้ามปี หรือตั้งเป็นงบผูกพันข้ามปี พร้อมวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ ดังนั้นการนำเข้าสภาเพียงครั้งเดียว แล้วต้องมีผลผูกพันวงเงินถึง 2 ล้านล้านบาท เป็นเวลา 7 ปี เท่ากับหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อ้างว่า ก่อนเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้รับคำยืนยันจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะแล้วว่าดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแล้ว

ทั้งนี้ หลังที่ประชุมวุฒิฯ ใช้เวลาอภิปรายร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านเป็นเวลา 2 วัน ในที่สุด ที่ประชุมเสียงข้างมากก็ได้ลงมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแปรญัตติใน 7 วัน แต่ภายหลัง คณะกรรมาธิการฯ ขอเพิ่มเวลาอีก 30 วัน เนื่องจากต้องเชิญส่วนราชการมาชี้แจงจำนวนมาก

ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา เผยว่า หากร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเมื่อใด ทางกลุ่ม 40 ส.ว.จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ว่าร่างฯ ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 หรือไม่ และว่า เท่าที่ดูเนื้อหาของร่างฯ ฉบับนี้มีหลายส่วนที่เป็นปัญหา ทั้งความไม่ชัดเจน และความไม่สมเหตุผลของโครงการ ส่อที่จะทำให้เกิดภาระหนี้สินแก่ประเทศมหาศาล

ต่อมา วันที่ 18 พ.ย. ที่ประชุมวุฒิฯ ได้วาระ 2 และ 3 ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน โดยก่อนหน้าจะถึงวันประชุม นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแฉว่า มีการล็อบบี้ ส.ว.ให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ตามร่างเดิมที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยแลกกับเงินคนละ 30 ล้านบาท

ด้านนายธวัช บวรวนิชยกูร ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ของวุฒิสภา เผยว่า ร่างของ กมธ.มีการแก้ไข 2 มาตรา คือมาตรา 3 มีการเพิ่มคำว่า “โครงการ” เข้าไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า จะไม่มีการเปลี่ยนหรือนำโครงการอื่นๆ เข้ามาใส่เพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งจะเป็นหลักประกันได้ว่าโครงการจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามเนื้อหาของโครงการจริงๆ ขณะที่ร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีคำว่า “โครงการ” ส่วนมาตรา 6 ร่างเดิมของสภาฯ ระบุว่าการจัดสรรเงินกู้ไม่ต้องส่งคลัง แต่ กมธ.ให้ตัดคำว่า “ไม่” ทิ้ง หมายความว่า ต้องส่งคลัง ซึ่งจะทำให้การใช้เงินในทุกๆ โครงการต้องผ่านกระบวนการของงบประมาณ

ทั้งนี้ เหตุที่การพิจารณาในชั้น กมธ.ของวุฒิสภา สามารถแก้ไข 2 มาตราดังกล่าวได้สำเร็จ เนื่องจากในการประชุม กมธ.สายรัฐบาลเข้าร่วมประชุมน้อย ทำให้กลายเป็น กมธ.เสียงข้างน้อยในที่ประชุมที่ต้องการให้คงร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ต้องแก้ไข 2 มาตราดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ปรากฏว่า ที่ประชุมวุฒิสภาเสียงข้างมากกลับเห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างน้อยที่ต้องการให้ใช้ร่างเดิมของสภาฯ โดยไม่ต้องแก้ไขมาตรา 3 และ 6 ดังกล่าวโดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับ กมธ.เสียงข้างน้อยให้ตัดคำว่า “โครงการ” ออกจากมาตรา 3 ด้วยคะแนน 63 ต่อ 52 งดออกเสียง 1 ขณะที่มาตรา 6 ที่ประชุมเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับการให้เงินกู้เป็นเงินที่ต้องส่งเข้าคลัง ด้วยคะแนน 68 ต่อ 44 ส่งผลให้ต้องกลับไปใช้ร่างเดิมของสภาฯ

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังใช้เวลาอภิปราย 2 วัน (18-19 พ.ย.) ปรากฏว่า ช่วงดึกของคืนวันที่ 19 พ.ย. การพิจารณาและลงมติมาตราต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว กระทั่งล่วงเข้าวันใหม่ 20 พ.ย. เมื่อการพิจารณาดำเนินไปจนถึงเวลา 02.49น.ที่ประชุมได้ลงมติวาระ 3 ทันที โดยที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ด้วยคะแนน 63 ต่อ 14

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เผยว่า ฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 แล้วว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งนายกฯ ต้องระงับการทูลเกล้าฯ ร่างดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ทั้งนี้ มีรายงานว่า คำร้องที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า พ.ร.บ.กู้เงินนี้เป็นการกู้เงินนอกระบบงบประมาณที่ใหญ่ที่สุด คือมากกว่า 4 เท่าของประเทศไทยที่เคยกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และต้องเสียดอกเบี้ยมหาศาลถึง 3 ล้านล้านบาท ในเวลา 50 ปี ซึ่งตอกย้ำว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงินนี้ไม่ได้ทำตามกรอบวินัยการเงินการคลัง นอกจากนี้ยังไม่มีรายละเอียดของโครงการต่างๆ ว่าจะใช้จ่ายเท่าไหร่ กลับเป็นเพียงกรอบการลงทุนพื้นฐานที่ไร้ความชัดเจน และที่สำคัญ ฝ่ายค้านมีพยานหลักฐานด้วยว่า ระหว่างการลงมติร่าง พ.ร.บ.กู้เงินนี้ มี ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสียบบัตรลงคะแนนแทนกันด้วย

ต่อมา วันที่ 8 ม.ค. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ไต่สวนคำร้องคัดค้าน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ซึ่งศาลได้ให้ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี อดีต ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ให้ข้อมูลเรื่องที่มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันระหว่างลงมติร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน โดยมีการเปิดคลิปเสียบบัตรแทนกันให้ดูด้วย

ด้านนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ยอมรับต่อศาลฯ ว่า ตนเป็นบุคคลในคลิปดังกล่าวจริง แต่ไม่ยอมรับว่าได้เสียบบัตรแทน ส.ส.คนอื่น พร้อมอ้างว่า การเสียบบัตรหลายครั้งของตนเป็นพฤติกรรมส่วนตัว ซึ่งเกิดจากการที่ตนมีทั้งบัตรจริงและบัตรสำรอง จึงทำให้ดูเหมือนว่าตนได้เสียบบัตรหลายใบ

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิป้ตย์ ได้จับโกหกนายนริศรด้วยการให้ข้อมูลต่อศาลฯ ว่า ในการเสียบบัตรนั้น ไม่ว่าจะเป็นบัตรจริงหรือบัตรสำรองก็สามารถเสียบบัตรลงคะแนนได้แค่ครั้งเดียว เพราะเคยมีการทดสอบแล้วว่า หากมีการลงคะแนนด้วยการเสียบบัตรจริงแล้ว จะทำให้บัตรสำรองไม่สามารถใช้ได้ แต่ภาพที่ปรากฏในคลิปจะเห็นว่า นายนริศรไม่ได้เสียบบัตรจริงและบัตรสำรองของตัวเองตามที่ให้ข้อมูลต่อศาลฯ แต่กลับเป็นการเสียบบัตรแทน ส.ส.คนอื่น

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ไต่สวนพยานนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 ก.พ. โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังมาให้ข้อมูล ประกอบด้วย นายภัทรชัย ชูช่วย ผู้แทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง, นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ นายพิสิฐเบิกความสรุปว่า ระบบงบประมาณปกติต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียด แต่ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เปิดเผยตัวเลขแค่ 8 ตัว และ 1 ใน 8 ตัว คือ โครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านบาท และให้อำนาจรัฐบาลไปจัดการเอง โดยไม่ได้ระบุให้หน่วยงานใดเป็นผู้ดำเนินการ ขณะเดียวกันจะใช้เวลาในการกู้เงิน 6-7 ปี ซึ่งเป็นแผนกู้เงินที่ผูกพันไปถึงรัฐบาลอีกหลายชุด

นายพิสิฐชี้ด้วยว่า หากปล่อยให้รัฐบาลใดสามารถออกกฎหมาย เพื่อใช้จ่ายเงินโดยไม่มีข้อจำกัดและไม่ได้รับการตรวจสอบจากรัฐสภา จะทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจเหมือนหลายๆ ประเทศในขณะนี้ ดังนั้นเจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 คือ ต้องการให้รัฐบาลใดในอนาคตจะต้องอยู่ในกรอบวินัยการคลัง และจะต้องเปิดเผยข้อมูล มีระบบการคานอำนาจที่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นการออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 หมวด 8 อย่างสิ้นเชิง

ขณะที่ นายทนง เบิกความสรุปว่า หากร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านผ่านไปได้ กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม มีสิทธิใช้เงินโดยคนอื่นไม่มีสิทธิเข้าไปตรวจสอบ โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและประสิทธิภาพของการดำเนินโครงการ นายทนงยังระบุด้วยว่า ไม่จำเป็นต้องร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เพราะหากกระทรวงการคลังต้องการกู้ และส่งให้กระทรวงคมนาคมนำไปจัดสรรตามโครงการต่างๆ ก็สามารถใช้วิธีตามระบบงบประมาณปกติได้ ไม่ใช่ไปสร้างกรณีพิเศษให้กับการกู้ด้วยการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านแบบนี้ พร้อมย้ำด้วยว่า เรื่องรถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องใหญ่มากของประเทศไทย ซึ่งยังไม่เห็นความจำเป็นที่เมืองไทยต้องมีรถไฟความเร็วสูง

ด้านนายธีระชัยเบิกความสรุปว่า ไม่เห็นด้วยกับการร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน และหากดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.นี้ จะส่งผลเสียต่อระบบการเงินการคลังของประเทศอย่างมาก เพราะจะกระทบกรอบวินัยการเงินการคลัง และสร้างปัญหาต่อฐานะเครดิตของประเทศ ส่วนสาเหตุที่มองว่าร่างกฎหมายนี้ไม่เข้ากรอบวินัยการเงินการคลัง เพราะไม่ยึด 5 องค์ประกอบ คือ 1. ข้อมูลที่จะเปิดเผยต่อสาธารณะ มีแค่ 3 หน้า ทั้งที่ใช้เงินสูงถึง 2 ล้านล้าน จึงไม่น่าเชื่อถือ 2. ไม่มีการถกเถียงในที่สาธารณะเท่าที่ควร จึงไม่รอบคอบเท่ากับกระบวนการงบประมาณตามปกติ 3. การเบิกใช้อาจจะไม่รัดกุม 4. โครงการเป็นก้อนใหญ่แบบเหมารวม ทำให้มีการโยกเงินไปมาได้ ซึ่งเป็นการควบคุมที่หละหลวมในแง่นักลงทุน และ 5. รัฐสภาไม่สามารถกำกับและควบคุมการปฏิบัติของรัฐบาลได้ เพราะกำหนดให้ ครม.เสนอสภาเพื่อทราบเท่านั้น สรุปคือ หากเดินหน้าร่างกฎหมายนี้ จะสร้างความเสียหายต่อระบบการเงินการคลัง

ขณะที่ น.ส.สุภาเบิกความสรุปว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เป็นการนำโครงการเข้ามาโดยไม่ผ่านหน่วยงานที่เป็นมันสมองของประเทศ คือ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และจะเป็นการทำลายกระบวนการพิจารณาขององค์กรที่มีหน้าที่โดยตรงโดยสิ้นเชิง ถ้ามีการตรา พ.ร.บ.นี้ จะทำให้กระทรวงการคลังไม่สามารถควบคุมการก่อหนี้ได้เลย และจะทำให้กรอบวินัยการคลังที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ถูกเพิกเฉย ไม่ได้ใช้บังคับ

ทั้งนี้ หลังไต่สวนพยานผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวแล้ว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งให้นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้เสนอความเห็น, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร้อง และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้อง ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลฯ ภายในวันที่ 27 ก.พ. และนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 12 มี.ค. ซึ่งในที่สุด วันนี้ 12 มี.ค. 2557 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้มีมติเสียงข้างมาก ว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 และ 170 ทั้งในแง่เนื้อหาและกระบวนการตรา ส่งผลให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นอันตกไป!!
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมสภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท(20 ก.ย.)
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง เข้าให้ข้อมูลต่อศาลรัฐธรรมนูญในการไต่สวนนัดสุดท้ายกรณี พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน(12 ก.พ.)
นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง เข้าให้ข้อมูลต่อศาลรัฐธรรมนูญในการไต่สวนนัดสุดท้าย(12 ก.พ.)
น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เข้าให้ข้อมูลต่อศาลรัฐธรรมนูญในการไต่สวนนัดสุดท้าย(12 ก.พ.)
กำลังโหลดความคิดเห็น