xs
xsm
sm
md
lg

กูรูชี้ชัดกู้2ล้านล.ขัดรธน. ศาลฯนัดแถลงปิดคดี27ก.พ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- 5 กูรูการคลัง แจงศาลรธน. ชี้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ขัดรธน. ทำลายวินัยการเงินการคลัง ระบุชัด เงินกู้ก็เป็นงบประมาณแผ่นดิน ย้ำหากเดินหน้าอาจกลายเป็นแบบอย่างให้ทุกกระทรวงขอออกกฎหมายพิเศษ เพื่อหวังให้ได้กู้เงิน โดยไร้โครงการแผนงานที่ชัดเจน ด้านศาลสั่ง "คำนูณ-อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์" ยื่นคำแถลงปิดคดีปมกู้เงิน 2 ล้านล้าน ภายใน 27 ก.พ.นี้

วานนี้ ( 12 ก.พ.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ ไต่สวนพยานในคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของสมาชิกรัฐสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยมีพยานผู้เชี่ยวชาญมาให้ถ้อยคำเพิ่มจำนวน 5 คน ประกอบด้วย นายภัทรชัย ชูช่วย ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะผู้แทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต ส.ส.ร. น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง และ นายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง

ทั้งนี้ นายภัทรชัย ได้ตอบคำถามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับคำนิยามของเงินกู้ว่าเป็นเงินแผ่นดินหรือไม่ โดยหยิบยก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจเงินแผ่นดิน มาตรา 4 โดยระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ได้มาในลักษณะใดก็ตาม ถ้าเข้ามาในความรับผิดชอบของหน่วยรับตรวจ ถึงแม้จะไม่นำเงินเข้าคลัง ก็ถือเป็นเงินแผ่นดินทั้งสิ้น

ในกรณี ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้าน คตง.ยังไม่มีคำเตือน เพราะยังเป็นเพียง ร่าง พ.ร.บ.อยู่ แต่ได้มีการสั่งการไปยังกระทรวงการคลังว่า ถ้าพ.ร.บ.นี้ออกมา หน่วยรับตรวจในกระทรวงจะต้องตรวจสอบเงินจำนวนดังกล่าว เพื่อไม่ให้ใช้ไปในทางที่ส่อทุจริตได้

ด้านนายพิสิฐ กล่าวว่า การกระทำอะไรก็ตาม สิ่งสำคัญต้องยึดถืออนาคต เคารพวินัยการเงินการคลัง ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐบาลใดๆ ออกกฎหมายพิเศษโดยไม่มีการตรวจสอบจากรัฐสภา ซึ่งจะทำให้ประเทศเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 50 หมวดที่ 8 เปรียบเสมือนลูกจ้าง คือฝ่ายการเมืองที่มีนายจ้าง คือประชาชน การที่ลูกจ้างจะแก้กฎหมาย หรือกระทำการใดๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายจ้างเสียก่อน และถ้าลูกจ้างออกกฎหมายใดที่ส่อขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่ากฎหมายเป็นโมฆะ รธน. ปี 50 เขียนขึ้นมาป้องกันการบริหารงานทางด้านเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมาเห็นตัวอย่างจากต่างชาติ ที่ใช้จ่ายเงินเกินตัว จึงมีรธน.หมวด 8 ขึ้นมา ซึ่งมาตรา 166 และ 167 ระบุชัดเจนว่า การกระทำใดต้องมีกฎหมายรองรับ หรือมีการออกพ.ร.บ. ที่ต้องให้รัฐสภา กรรมาธิการตรวจสอบ และสามารถเรียกชี้แจงได้ พร้อมทั้งมีการถ่วงดุลอำนาจ เปิดเผยข้อมูลให้องค์กรตรวจสอบ เช่น สตง. และป.ป.ช. รับรู้ได้ และใน ม.169 ก็ระบุชัดเจนว่า การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ ต้องประกอบไปด้วย 4 ส่วน ได้แก่ กฎหมายงบประมาณว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยวิธีการโอนงบประมาณ และ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เพื่อไม่ให้รัฐบาลออกกฎหมายมาใช้จ่ายนอกกรอบการเงินการคลัง และไม่ยินยอมให้รัฐบาลใช้จ่ายโดยไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะจะส่งผลต่อการใช้หนี้ของประชาชนในอนาคต

“เงินกู้ เมื่ออยู่ในมือของรัฐบาลแล้วถือเป็นเงินแผ่นดิน เพราะต้องชดใช้ภาษีในอนาคต การที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการก็เท่ากับว่า เงินนี้เป็นเงินแผ่นดิน หากเปรียบเทียบ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน กับพ.ร.บ.งบประมาณปี 2556 ที่วงเงินเกือบใกล้เคียงกัน แต่ พ.ร.บ.งบประมาณมีเอกสารข้อมูลนับพันแผ่น แต่ พ.ร.บ.กู้เงิน มีเอกสารเพียง 8 แผ่น และเงินครึ่งหนึ่งของเงินกู้นี้ เป็นการลงทุนในเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูง แต่ไม่มีการแสดงรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับตัวโครงการ อีกทั้งเป็นการกู้ถึง 7 ปี ซึ่งใช้ระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดภาระผูกพันต่อรัฐบาลชุดต่อไป เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อย่างชัดเจน”นายพิสิฐ กล่าว

อย่างไรตาม มองว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ขัดกับ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะปี 48 แต่เนื่องจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีศักย์เป็นพ.ร.บ.ด้วยกัน ขณะที่วงเงินกู้ 2 ล้านล้าน ใหญ่กว่าพ.ร.บ.หนี้สาธารณะที่จะควบคุมได้ พ.ร.บ.เงินกู้ จึงน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ นายทนง พิทยะ กล่าวชี้แจงว่า พ.ร.บ.เงินกู้รัฐบาลได้ให้คำจำกัดความว่า ไม่เป็นเงินแผ่นดิน เพราะไม่ให้เข้าในรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปี จึงไม่ใช่รายจ่ายแผ่นดิน ถือเป็นเงินนอกงบประมาณ ที่กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม สามารถใช้จ่ายโดยที่ไม่ต้องมีการตรวจสอบจากรัฐสภาได้

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวคิดว่า แม้จะเป็นเงินนอกงบประมาณ ก็ถือเป็นเงินแผ่นดิน ตนจึงไม่แน่ใจว่า มีความจำเป็นอะไรที่จะไม่ให้เป็นเงินแผ่นดิน ผลกระทบสามารถแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ ในส่วนหนึ่งของเงินกู้ มีการศึกษาอย่างละเอียดผ่านวิธีการงบประมาณปกติ แต่อีกส่วนยังไม่มีการศึกษาอย่างละเอียด คือ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งถือเป็นครึ่งหนึ่งของวงเงินกู้ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการผิดวิสัยทางธุรกิจ และการบริหารเงินของรัฐ

ดังนั้นหาก พ.ร.บ.นี้ผ่านไปได้ ก็เชื่อว่ากระทรวงต่างๆ ก็จะเอาเป็นตัวอย่าง จึงสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงในการบริหารหนี้ การใช้งบประมาณที่ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด ถือเป็นการผิดวินัยการเงินการคลังอย่างชัดเจน“รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่า การที่ภาครัฐจะวางแผนงานทางเศรษฐกิจ ต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจพอเพียง และประโยชน์ของประเทศชาติให้มากที่สุด ขณะนี้รถไฟความเร็วสูงยังไม่ถึงเวลาที่ประเทศเราควรจะมี ควรนำเงินก้อนนี้ไปพัฒนาระบบรถไฟฟ้ามวลชน และพัฒนาภาคการเกษตร ภาคการศึกษาจะดีกว่า”นายทนง กล่าว

ต่อมานายธีรชัย กล่าวยืนยันว่า ขณะที่ตนดำรงตำแหน่งรมว.คลัง ร่วมกับรัฐบาลชุดนี้ ไม่เคยมีแนวคิดที่จะออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ มาทราบภายหลังพ้นตำแหน่ง ถ้ามีการดำเนินการจริง จะมีผลเสียต่อระบบการเงินการคลังของประเทศมาก กระทบต่อกรอบวินัยการเงินการคลัง สร้างปัญหาต่อฐานะเครดิตของประเทศแต่สำหรับโครงการนี้ บัญชีแนบท้ายประกอบการดำเนินโครงการมีรายละเอียดแค่ 3 หน้า บอกการใช้จ่ายงบประมาณเป็น 3 ส่วน โดยไม่มีรายละเอียดเมื่อเทียบกับโครงการเงินกู้ สร้างถนนของกระทรวงคมนาคม ตามพ.ร.บ.งบประมาณ วงเงินแค่ 2 หมื่นล้าน ยังมีเอกสารประกอบกว่า 200 หน้า

นายธีรชัย กล่าวอีกว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงไม่สร้างความเชื่อมั่น หรือสร้างเครดิตให้กับประเทศได้เลย หากเดินหน้าจะยิ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศมากขึ้น และตาม ม.6 ของ พ.ร.บ.นี้กำหนดว่า เงินกู้ไม่จำเป็นต้องส่งเข้าคลัง ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และหากปล่อยให้ทำได้ ต่อไปงบประมาณในระบบจะไม่มีความหมาย จะเหลือแต่งบเงินเดือน ส่วนงบฯ ก่อสร้างใหญ่ๆ จะออกนอกระบบทั้งหมด หากรัฐบาลต้องการดำเนินนโยบายให้มีความต่อเนื่อง ตนคิดว่า รัฐบาลควรแก้ไขระเบียบงบประมาณให้มีช่องกำหนดที่สามารถดำเนินโครงการในแต่ละปีโดยไม่สะดุด และต่อเนื่องได้ โดยแนวทางนี้จะมีการตรวจสอบอย่างรัดกุม ตั้งแต่การอนุมัติงบฯ การใช้จ่ายงบฯและการติดตามดูแล

ส่วนคำถามที่ว่ารถไฟความเร็วสูงมีความเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ นายธีรชัย กล่าวว่า ในแง่นักลงทุนสากล หากจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต้องคำนึงถึงนโยบายการคลังควบคู่กับนโยบายคมนาคม ที่ต้องเน้นในเรื่องความก้าวหน้าทางวิศวกรรมประกอบกับความพอดีในฐานะประเทศ หากประเทศมีฐานเงินเดือนสูง จะมีค่าเสียเวลาก็จำเป็นต้องมีระบบคมนาคมที่มีความเร็วสูงเพื่อชดเชยค่าเสียเวลา แต่ถ้าประเทศมีค่าจ้างต่ำ ความคุ้มค่าในการสร้างรถไฟความเร็วสูง ก็จะน้อย ซึ่งใน 5-10 ปี ประเทศไทยอาจอยู่ในฐานะที่มีค่าจ้างที่ดีขึ้นก็ได้ ดังนั้นหากนโยบายด้านคมนาคมพอดีกับฐานะประเทศ แต่กรอบวินัยการเงินเหลวแหลก ก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศอยู่ดี

ด้านน.ส.สุภา กล่าวถึงข้อดีข้อเสีย ถ้ากฎหมายฉบับนี้มีการบังคับใช้ ว่า กฎหมายนี้จะสร้างปัญหาให้กระทรวงการคลังควบคุมการก่อหนี้ไม่ได้เลย เพราะถ้ารัฐบาลชุดต่อไป ออกพ.ร.บ.ทำนองนี้อีก กรอบวินัยการเงินการคลังตามพ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ปี 48 จะถูกเพิกเฉย ทั้งนี้ กรอบวิธีงบประมาณได้ให้อำนาจรัฐบาลกู้ขาดดุล และกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้อยู่แล้ว โดยครม.จะอนุมัติเป็นรายโครงการ ไม่ใช่ออกเป็นเซตใหญ่ๆ อย่างนี้ ที่สำคัญโครงการต้องผ่านความเห็นของคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนมันสมองของประเทศ ที่ได้กลั่นกรองอย่างรอบคอบ แต่ พ.ร.บ.กู้เงินฉบับนี้ เอาโครงการกู้เงินมาโดยไม่ผ่านคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

จากนั้น น.ส.สุภา ได้อธิบายถึงระบบรับ-ระบบจ่าย ของกระทรวงการคลัง หมายถึงอะไร ว่า เป็นเรื่องการบริหารเงินสด รายรับจะนำส่งเข้าคลัง เพื่อรอเข้าบัญชีคงคลังของธนาคารแห่งประเทศไทย (บัญชี ที่1 ) โดยบัญชีนี้เปิดไว้รับอย่างเดียว ไม่จ่ายออก ถ้าจะจ่ายเงินจะผ่านบัญชีเงินคงคลังที่ 2 บัญชีเดียว ซึ่งบัญชีนี้มีไว้จ่ายอย่างเดียว ซึ่งเป็นหลักบริหารรายรับ-รายจ่ายในทางแคบ เพื่อป้องกันมิให้นำรายรับไปใช้ในทางอื่น ที่ไม่เป็นประโยชน์ของประเทศ

“เรื่องเงินกู้ 2 ล้านล้านนี้ ทำลายขบวนการพิจารณาขององค์กรที่มีหน้าที่โดยตรง อย่างกระทรวงการคลัง และยังสวนทางกับ โครงการนี้มีอายุการดำเนินการถึง 7 ปี จึงต้องถามว่า มีความเร่งด่วนอย่างไร ส่วนตัวมองว่าเงินกู้ 2 ล้านล้าน เป็นเงินแผ่นดิน เพราะคนทำนิติกรรม คือรัฐบาล คนใช้เงิน ก็คือรัฐบาล เงินจึงถือเป็นเงินแผ่นดิน”น.ส.สุภา กล่าว

น.ส.สุภา ได้ตอบข้อซักถามของตุลาการว่า หากเงินกู้นอกระบบงบประมาณแผ่นดิน และโครงการทำไม่สำเร็จในอนาคตจะนำเงินไปใช้ในโครงการอื่นได้หรือไม่ ว่า ในทางปฏิบัติทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานต้นเรื่อง เช่น ตอนกู้จะมาทำโครงการ ก. แต่ต่อไปไม่เข้ากับภาวะปัจจุบัน จึงขอเปลี่ยนแปลงไปทำเป็นโครงการ ข.

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น คณะตุลาการได้มีคำสั่งให้ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้เสนอความเห็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร้อง และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้อง ยื่นคำแถลงปิดคดี ภายในวันที่ 27 ก.พ.นี้ หากไม่ยื่น ถือว่าไม่ติดใจ โดยคณะตุลาการยังไม่ได้ระบุว่า จะมีการอ่านคำวินิจฉัยในคำร้องดังกล่าวในวันใด
กำลังโหลดความคิดเห็น