xs
xsm
sm
md
lg

“วราเทพ” ลั่นหากร่างกู้ 2 ล้านล้านถูกตีตก ไม่ต้องรับผิดชอบ-เหน็บทำประเทศล้าหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวราเทพ รัตนากร รักษาการ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ (ภาพจากแฟ้ม)
รมต.สำนักนายกฯ รักษาการ เผย 3 แนวทางตัดสินคดีร่างกฎหมายกู้ 2 ล้านล้าน ลั่นหากถูกตีตกทั้งฉบับ ครม.ไม่ต้องรับผิดชอบ อ้างผ่านสภาไปแล้ว และรัฐบาลยุบสภา ทำโอดต้องกู้เงินไปสร้างรถไฟฟ้าใน กทม.อ้างศักยภาพประเทศต่ำ แข่งเพื่อนบ้านไม่ได้

วันนี้ (10 มี.ค.) นายวราเทพ รัตนากร รักษาการ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในวันที่ 12 มี.ค.ว่า ตนเห็นว่าแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจเป็นไปได้ใน 3 แนวทางตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังนี้ 1.พ.ร.บ.ดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งกระบวนการตราขึ้นและเนื้อหา กรณีนี้ก็จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 150 2.ร่าง พ.ร.บ.นั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่มิใช่สาระสำคัญ ดังนั้น เฉพาะข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นจึงเป็นอันตกไป ขั้นตอนต่อจากนั้นก็จะต้องนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในส่วนที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสี่ ประกอบกับมาตรา 150 และ 3.กระบวนการตราขึ้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญซึ่งข้อความนั้นเป็นสาระสำคัญ กรณีนี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตกไปทั้งฉบับ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสาม

“หากออกมาตามแนวทางที่ 3 ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะตกไปทั้งฉบับ ก็จะไม่มีผลใดๆ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองแต่อย่างใด แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงินก็ตาม เนื่องจากได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว กรณีนี้จึงไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ.หรือกฎหมายของ ครม.ที่ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา” นายวราเทพ กล่าว

นายวราเทพ กล่าวว่า ทั้งนี้ คงจะมีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่ได้อนุมัติไว้แล้ว เช่น โครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ในส่วนขยายเพิ่มเติมอีก 10 เส้นทาง ซึ่งจะต้องเร่งหาเงินกู้มาดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด และที่สำคัญจะทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศล่าช้าออกไป จนทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศลดลง ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตได้


กำลังโหลดความคิดเห็น