xs
xsm
sm
md
lg

วงถกเลือกตั้ง จี้หย่อนบัตรหน่วยปัญหาให้ทันใช้สิทธิ ส.ว. แนะขนบัตรลับ-พุธนี้รู้ผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วงถกปัญหาเลือกตั้ง ที่ประชุมแนะ 28 เขตปัญหา รับสมัครนอกเขต กระจายบัตรความลับ ให้คนนอกเป็น กปน.ได้ มีอุปกรณ์เลือกตั้งสำรอง ชี้ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง กกต.ใหญ่สุด ให้ส่งหนังสือขอหน่วยงานช่วยไม่ทำมีโทษ บี้หย่อนบัตรหน่วยปัญหาให้ทัน 30 วัน อย่างช้า 30 มี.ค.วันเดียวกับเลือก ส.ว. หลังชี้ต้องได้คะแนนครบทุกเขต จึงจะประกาศผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ควรเคร่งใช้ กม.เรียก “สุเทพ” มารับปากไม่ขวาง “สมชัย” เผยพุธนี้รู้ทำได้หรือไม่

วันนี้ (17 ก.พ.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เป็นประธานจัดประชุมรับฟังและนำเสนอความคิดเห็นคิดเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. โดยมีตัวแทนจากรัฐบาล พรรคเพื่อไทย นักวิชาการ เช่น นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัยเกษม นิติศิริ รมว.ยุติธรรม นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายคณิน บุญสุวรรณ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นางนันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ และผู้อำนวยการเลือกตั้ง 8 จังหวัดภาคใต้ที่ยังมีปัญหาในการจัดการเลือกตั้ง

โดยนายพงศ์เทพได้แสดงความกังวลว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองอีกกว่า 50 พรรคที่ส่งผู้สมัคร แต่เหตุจึงเชิญผู้แทนเฉพาะพรรคเพื่อไทยประชุม ซึ่งนายสมชัย ชี้แจงว่า เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นผู้มีส่วนได้เสียหลัก หากเชิญหลายฝ่ายมาพูดคุยเวลาอาจไม่เพียงพอ ซึ่งข้อสรุปที่ได้จะนำเสนอต่อที่ประชุม กกต.ต่อไป โดยนายสมชัยได้นำเสนอ 7 ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. จนทำให้ กกต.ไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ เช่นใน 28 เขตเลือกตั้ง 8 จังหวัดภาคใต้ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งจะทำอย่างไรให้ไม่มีการขัดขวาง การจัดพิมพ์และกระจายบัตรถูกขัดขวาง การไม่สามารถจัดหากรรมการประจำหน่วยได้ การเกิดปัญหาอุปสรรคในวันเลือกตั้งอุปกรณ์ไม่มา กรรมการประจำหน่วยลาออก การไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานความมั่นคงในการเข้ามาช่วยจัดการเลือกตั้ง และการประกาศผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน ต้องได้คะแนนครบ 93,952 หน่วยเลือกตั้งก่อนแล้วจึงประกาสผลได้ กรณียังจัดการเลือกตั้งในส่วนที่ขาดอีก 10,284 หน่วยเลือกตั้งไมได้ จะทำอย่างไร ไม่เช่นนั้นจะเปิดประชุมสภาไม่ได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้นำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหากรณี 28 เขตเลือกตั้งว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในการขัดขวาง ควรมีการเปิดรับสมัครนอกเขตเลือกตั้ง นอกเขตจังหวัด หรืออาจใช้ค่ายทหารเป็นสถานที่รับสมัคร และให้ถือว่าผู้ที่ไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจในวันรับสมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ขณะที่การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง และการจัดส่งบัตรเลือกตั้งลงยังพื้นที่ มองว่าเป็นปัญหาการบริหารภายในของ กกต. ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดพิมพ์ การขนส่ง ซึ่งจะต้องดำเนินการโดยลับ โดยการขนส่งอาจขอความร่วมมือหน่วยราชการช่วยดำเนินการเช่น การขอเครื่องบินของกองทัพในการขนส่งก็ได้ แต่ก็ต้องคงระบบการตรวจสอบการการป้องกันการปลอมบัตรไว้อย่างเข้มข้น

สำหรับปัญหาการขาดคนเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือ กปน. เห็นว่าให้สามารถรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งเป็น กปน. ประกาศเปิดรับอาสาสมัครเป็น กปน. รวมถึงให้มีการดำเนินการเอาผิดทางวินัยต่อ กปน. หรือ กกต.เขตที่ละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ การกระจายบัตร อุปกรณ์ ก็ควรเพิ่มจุดกระจายบัตร ทำในลักษณะลับลวงพราง พร้อมให้หน่วยงานทหารเข้ามาสนับสนุนทำเป็นลักษณะกองกำลังเพื่อให้เกิดความสำเร็จ ส่วนกรณีวันเลือกตั้งเกิดอุปสรรค เช่น บัตรไม่มา อุปกรณ์ไม่ครบ เห็นว่า กกต.ควรมีชุดอุปกรณ์สำรอง ทั้งหีบ ทั้งบัตรสำรอง และจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเอาไว้นำส่งไปยังหน่วยเลือกตั้งที่มีปัญหา

โดย พล.ต.สุวัฒน์ เรืองสกุล ประธาน กกต.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ที่ภาคใต้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้เพราะมีการส่งสัญญาณขัดขวางการเลือกตั้งจาก กปปส.ส่วนกลาง ซึ่งการดำเนินคดีต่อผู้ที่ขัดขวางการเลือกตั้งทำให้ผู้ที่คิดจะทำผิดเกิดความเกรงกลัว แต่ที่ไม่กลัวกันอยู่เวลานี้ เพราะเขาเห็นว่าขนาดแกนนำ กปปส.ในส่วนกลางถูกออกหมายจับ แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด ดังนั้นถ้าจะให้การจัดการเลือกตั้งสำเร็จเห็นว่าจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด

ขณะที่นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาระดับชาติ เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง การจะให้เลิกขัดขวางการเลือกตั้งเห็นว่า กกต.ควรใช้ มาตรา 26 (3) ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. เรียกพรรคประชาธิปัตย์ เรียกผู้ที่มีแนวโน้มจะขัดขว้างการเลือกตั้ง โดยเฉพาะแกนนำกลุ่ม กปปส. อาทิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มาชี้แจงต่อ กกต.และให้ยืนยันว่า กปปส.จะไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง

ส่วนความร่วมมือของฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ที่ในการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.แม้ระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพจะมีหนังสือยื่นยันว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับกกต.ในการจัดการเลือกตั้งทุกอย่าง แต่กลับมีปัญหาในระดับปฏิบัติที่ปฏิเสธการให้ความร่วมมือ อย่างเช่นการขอทหารมาร่วมเป็น กปน. การปฏิบัติไม่ให้ใช้ค่ายทหารเป็นสถานที่เก็บบัตรเลือกตั้ง ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ในช่วงมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง กกต.มีอำนาจมากกว่าหน่วยงานไหน เพราะกฎหมายให้ กกต.ใช้อำนาจรัฐธรรมนูญมาตรา 235 และ 236 ที่กำหนดให้ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งโดยสุจริต เที่ยงธรรม ประกอบมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. มีหนังสือสั่งการไปยังผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผบ.ตร. ให้ช่วยเหลืองานจัดการเลือกตั้งของ กกต. หากไม่ปฏิบัติมีโทษ

ขณะที่ในส่วนของการประกาศผล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 125 คนนั้นที่ประชุม ส่วนหนึ่ง เห็นว่า ว่า กกต.อาจจะออกประกาศการคิดคำนวณสัดส่วน ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อใหม่โดยกำหนดให้สามารถคำนวนได้แม้ยังไม่สามารถเลือกตั้งครบทุกเขตเลือกตั้งได้ แต่ในส่วนของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย เห็นว่าตามกฎหมายระบุชัดว่าให้เอาคะแนนที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากทุกเขตเลือกตั้งมาคิดคำนวนดังนั้นจำเป็นต้องรอให้มีการเลือกตั้งครบทุกหน่วย ทำเขตเลือกตั้งทั้ง 375 เขตทั่วประเทศก่อน กกต.จึงควรเร่งไขปัญหานี้ด้วยการจัดการเลือกตั้งในส่วนที่เหลืออีก 10,284 โดยเร็ว

โดยนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเลือกตั้ง 2 ก.พ.ที่ผ่านมาเหมือนเป็นปัญหาใหญ่เพราะ กกต.ต้องเลือกตั้ง 375 เขตทั่วประเทศ แต่ตอนนี้จังหวัดที่มีปัญหาเหลือน้อย เป็นไปได้หรือไม่ ที่ กกต.แต่ละคนจะแบ่งพื้นที่จังหวัดที่มีปัญหาอยู่ในการดูแล รวมทั้งเห็นว่า กกต.จำเป็นที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายต่อบุคคลที่ขัดขวางการเลือกตั้งให้มีความเด็ดขาดมากกว่านี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาเพิ่มเติมในกรณีที่ กกต.กำหนดเลือกตั้งทดแทนวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้งและวันเลือกตั้งในวันที่ 20 และ 27 เม.ย. โดยที่ประชุมเห็นว่า วันที่ กกต.กำหนดนั้นไม่เหมาะสมล่าช้าเกินไป รวมทั้งเกินกว่ากรอบเวลา 30 วันที่มาตรา 127 ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่าภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้งให้มีการเรียกรประชุมรัฐสภา เพื่อให้ ส.ส.ได้ประชุมกันเป็นครั้งแรก ซึ่ง กกต.ก็ได้พยายามอธิบายว่า ที่ กกต.กำหนดวันที่ 20 และ 27 เม.ย. มาจากการประเมินความพร้อมของ กกต.จังหวัด รวมถึงมองว่าในเดือน มี.ค. กกต.จะต้องจัดการเลือกตั้ง ส.ว. จึงไม่อยากให้มีการสอดแทรกการจัดการเลือก ส.ส.เพราะหากมีการขัดขวาง ก็อาจทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.

นายคณิน บุญสุวรรณ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กกต.ควรจัดลงคะแนนเลือกตั้งภายในกรอบเวลา 30 วัน ซึ่งถ้าเป็นไปได้ กกต.ควรจัดลงคะแนนเลือกตั้งทดแทนในวันที่ 2 มี.ค.

ด้านนางนันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า แนวทางการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ที่ผ่านมาทั้งก่อนและหลังวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. สังคมมองภาพลักษณ์ กกต.อย่างเคลือบแคลงว่า กกต.มีความมุ่งมั่นที่จะจัดเลือกตั้งให้สำเร็จหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้ต้องมีการปรับภาพลักษณ์ให้ชัดว่าหมื่นกว่าหน่วยเลือกตั้งนั้น กกต.มีความกระตือรือร้นที่จัดการเลือกตั้งให้สำเร็จ โดยจะต้องมีแผนงานและกรอบเวลาในการดำเนินการที่ชัดเจน แต่ไม่ใช่เนิ่นนานไปจนถึงเดือน เม.ย. ทำไมเดือน มี.ค.จึงจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ได้ ทำไมไม่เอาอย่างสหรัฐอเมริกาที่เวลาเลือกตั้งเขาสามารถเลือกตั้งทั้ง ส.ส.และส.ว.ในคราวเดียวกันได้ ดังนั้นในวันที่ 30 มี.ค.ที่จะเลือก ส.ว.เป็นไปได้หรือไปที่จะเลือก ส.ส.ไปด้วย

“กกต.ต้องกระตือรือร้นที่จะจัดการเลือกตั้งให้เสร็จโดยเร็ว ไม่ใช่จะมามัวแต่จะไปถามหมอดูแล้วหมอดูบอก และปัญหาอีกอย่างคือหลังการเลือกตั้งผู้สมัคร พรรคการเมือง กฎหมายกำหนดให้ต้องยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายเลือกตั้งภายใน 90 วันนับแต่วันเลือกตั้งตรงนี้จะมีความชัดเจนอย่างไร เพราะถ้าเลยไปก็จะทำให้เขาถูกยุบพรรคได้ หรือ กกต.จะปล่อยให้พรรคถูกยุบจนเหลือพรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียว”

ด้านนายสมชัยกล่าวสรุปว่า การจะจัดการลงคะแนนเลือกตั้งให้ทันกรอบเวลา 30 วันคงเป็นไปได้ยากแม้ขณะนี้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีจะยืนยันแล้วว่าจะมีหนังสือตอบกลับมายัง กกต.ว่าไม่ให้ด้วยกับที่ กกต.เสนอให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.ให้อำนาจ กกต.ในการกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้ง 28 เขตที่ไม่ผู้สมัครโดยเร็วอย่างช้าไม่เกินวันพุธที่ 19 ก.พ. ซึ่ง กกต.ก็จะได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแต่อย่างเร็วที่สุดที่ กกต.ส่งได้ก็คือภายในวันที่ 21 ก.พ. ซี่งศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีคำวินิจฉัยได้ในสัปดาห์หน้า ซึ่งก็เป็นช่วงสุดท้ายของเดือน ก.พ. การเตรียมในเรื่องการสมัคร หาเสียง คงทำไม่ทันวันที่ 2 มี.ค. ดังนั้นที่ กกต.พิจารณาได้ อาจเป็นข้อเสนอที่ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.วันเดียวกันเลือกตั้ง ส.ว. คือวันที่ 30 มี.ค

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาการจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้ ทางฝ่ายสำนักงานจะนำไปพิจารณาร่วมกับข้อกฎหมายว่าจะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้แค่ไหนอย่างไร หากประเด็นไหนที่อยู่ในอำนาจที่ กกต.สามารถดำเนินการได้ ก็จะมีมติและนำมาใช้ปฏิบัติ ส่วนประเด็นไหนที่ต้องแก้ไขพระราชบัญญัติหรือรัฐธรรมนูญ ก็ถือเป็นข้อจำกัดที่ กกต.ไม่อาจพิจารณาได้ โดยทุกประเด็นที่เสนอนั้น กกต.จะมีคำตอบว่าทำได้ไม่ได้อย่างไรหลังการประชุมพุธที่ 19 ก.พ.









รัฐบาลหน้ามืดไม่สนข้อจำกัด-อุปสรรค บีบกกต.แหกกติกาเลือกตั้ง
วงถกแก้ปัญหาจัดการเลือกตั้งจี้ กกต. เร่งจัดหย่อนบัตร 10,284 หน่วยเลือกตั้งภายใน 2 มี.ค. ให้ทันกรอบเวลา 30 วัน ต้องเปิดประชุมสภา ระบุไม่ควรปล่อยเนิ่นนานไปถึง 20 เม.ย.,27 เม.ย. ชี้อย่างช้าควรเป็น 30 มี.ค.วันเดียวกับเลือกตั้งส.ว. ส่วนวิธีแก้ปัญหาขัดขวางเลือกตั้ง ให้เปิดรับสมัครนอกเขตเลือกตั้ง - รับคนนอกเขตเป็นกรรมการประจำหน่วย–มีชุดอุปกรณ์ และบัตรเลือกตั้งสำรอง - เพิ่มจุดกระจายบัตร พร้อมเสริมชุดเคลื่อนที่เร็ว เน้นยุทธวิธี ลับ ลวง พราง และบังคับใช้กฎหมายเอาผิดคนขัดขวางเลือกตั้งเด็ดขาด เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งสำเร็จ ด้าน“สมชัย”รับข้อเสนอเตรียมตอบ ทำได้ ไม่ได้ พุธนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น