xs
xsm
sm
md
lg

เวทีหารือแก้ปัญหาเลือกตั้งเสนอ กกต.รับสมัครนอกเขต จว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง พร้อมด้วยผู้แทนจากฝ่ายรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และนักวิชาการ อาทิ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร รักษาการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัยเกษม นิติสิริ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ผู้บริหารสำนักงาน กกต. และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ที่มีปัญหาไม่สามารถจัดการรับสมัคร และจัดการลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมา ได้ร่วมกันประชุมและนำเสนอความคิดเห็น เพื่อแก้ไขปัญหาการเลือกตั้ง
ช่วงแรกที่ประชุมเปิดโอกาสให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งในจังหวัดที่มีปัญหา ได้รายงานสถานการณ์ปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถรับสมัครรับเลือกตั้ง ปัญหาการปิดล้อม การขัดขวางของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งแนวทางการหารือ กกต.ได้กำหนดประเด็นสำคัญไว้ 7 ประเด็น คือ การรับสมัคร ส.ส.ใน 28 เขตเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้นใหม่ ควรมีวิธีการอย่างไร ในกรณีที่อาจมีการขัดขวางกระบวนการรับสมัครอย่างรุนแรงจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีผู้เสนอให้ กกต.เปิดรับสมัครรับเลือกตั้งนอกเขตพื้นที่ หรือนอกเขตจังหวัด รับสมัครทางระบบอินเทอร์เน็ต และให้ใช้พื้นที่ทหาร ตำรวจ เป็นสถานที่ในการรับสมัครได้
ประเด็นที่ 2 การจัดพิมพ์และการจัดส่งบัตรเลือกตั้งลงไปยังพื้นที่ ที่ประชุมเสนอให้การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งเป็นการบริหารงานภายในของ กกต. และต้องดำเนินการอย่างเป็นความลับ ให้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการในการจัดส่งบัตรเลือกตั้ง หาแหล่งพิมพ์บัตรเลือกตั้งเพิ่มเติม และจัดพิมพ์บัตรใหม่ในกรณีที่มีการขัดขวาง ทำให้ไม่สามารถนำบัตรเลือกตั้งที่จัดพิมพ์แล้วมาใช้งานได้
ส่วนการจัดหากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ซึ่งกฎหมายกำหนดให้อาศัยผู้ที่มีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งมาทำหน้าที่ กปน. ซึ่งมีการเสนอให้ กกต.ใช้อำนาจในการสั่งข้าราชการมาปฏิบัติหน้าที่ และแต่งตั้งประชาชนเป็น กปน.ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และให้เปิดรับสมัคร กปน.เป็นการทั่วไป
นอกจากนี้ ให้ดำเนินการทางวินัยกับ กปน.และ กกต.เขต รวมถึง กกต.จังหวัด ที่ละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ และเสนอให้ขออาสาสมัครที่เป็นนิสิต นักศึกษา ร่วมเป็น กปน.ได้
ขณะที่การกระจายบัตรเลือกตั้งและอุปกรณ์การเลือกตั้ง เสนอให้ กกต.ประสานงานกับศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) และให้ กกต.5 คน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบเป็นรายจังหวัด เพื่อให้มีความชัดเจน และให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความมั่นคง
กรณีที่มีอุปสรรค ปัญหา เกิดขึ้นในวันเลือกตั้ง เช่น มีการปิดกั้นทางจราจร หรือการขัดขวางหน้าหน่วยเลือกตั้ง เสนอให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ที่ขัดขวางการเลือกตั้ง ขออาศัยกำลังสนับสนุนจากปลัดกระทรวงกลาโหม เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ช่วยสนับสนุนการเลือกตั้ง และควรมีการจัดชุดอุปกรณ์สำรอง มีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว หากหน่วยเลือกตั้งดังกล่าวมีปัญหา
จากนั้น มีการหารือในประเด็นบทบาทของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ได้แก่ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ว่า กกต.มีอำนาจสั่งหน่วยงานดังกล่าวได้หรือไม่ และประเด็นสุดท้าย คือ การประกาศผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน จะดำเนินการได้อย่างไร เมื่อยังไม่สามารถจัดการลงคะแนนในอีก 10,284 หน่วยเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาระดับชาติ เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ความไม่ชัดเจน ไม่โปร่งใสของหน่วยงานต่างๆ พร้อมเสนอให้ ศรส.และ กกต.ควรตั้งนายทหาร หรือนายตำรวจ มาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่าง 2 หน่วยงาน
ส่วนกรณีที่มีผู้ขัดขวางการเลือกตั้ง กกต.ควรร้องผ่านอัยการสูงสุด ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตีความว่าการขัดขวางการเลือกตั้ง เป็นการแย่งอำนาจตามรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และให้ใช้มาตรา 26 (3) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. เรียกผู้ที่มีแนวโน้มจะขัดขวางการเลือกตั้ง โดยเฉพาะแกนนำ กปปส. อาทิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้าชี้แจงต่อ กกต. และให้ยืนยันว่า กปปส.จะไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น