xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ชี้ “ปู” บิดเบือนปฏิรูป ทำแต่ที่ได้ประโยชน์ ปล่อยให้มีปะทะ ปีใหม่เดินสายสมัชชา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
หน.ปชป.ชี้นายกฯ บิดเบือนเจตนารมณ์ปฏิรูป รัฐขาดความชอบธรรมเป็นเจ้าภาพ ย้อนไม่มีท่าทีสนองการปฏิรูป ฉะตั้งพวกตัวเองร่วม กก.อิสระ ทำแต่ที่พวกพ้องได้ประโยชน์ ชิงความได้เปรียบสอดไส้แก้ รธน. เมินแก้โกง จ่อชง กกต.ฟันนายกฯ ลงพื้นที่ขัด กม.เลือกตั้ง ย้ำพรรคหนุนองค์กรปฏิรูป ปีใหม่เดินหน้าเคลื่อนไหว ปชช. ปัดขวางเลือกตั้ง ย้อน พท.พรรคได้ควรถูกยุบ รับห่วง 2 ก.พ. ชี้ปะทะช่วงเช้า นายกฯ ปล่อยให้สังคมอยู่คนละโลก



วันนี้ (26 ธ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุมระหว่างกรรมการบริหารพรรคเกี่ยวกับบทบาทของพรรคในการปฏิรูปประเทศ หลังตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.ว่า การขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและพิจารณาถึงคำประกาศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมรักษาการ ที่ประกาศตั้งสภาปฏิรูปประเทศรวมถึงการดำเนินการของพรรคที่เกี่ยวกับการปฏิรูป โดยเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลพยายามจัดตั้งสภาปฏิรูปโดยการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนสิ้นปี และอ้างว่าเป็นการดำเนินการตามข้อเสนอของ 7 องค์กรธุรกิจเพื่อหาทางออกให้ประเทศไทยนั้น แท้จริงแล้วสิ่งที่นายกฯ ประกาศเมื่อวานไม่ตรงกับทั้งเจตนารมณ์และข้อเสนอของหลายองค์กรที่ทำงานด้านนี้ เพราะในแง่เจตนารมณ์องค์กรเหล่านี้ต้องการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อเป็นทางออกของประเทศที่เผชิญความขัดแย้งในปัจจุบัน แต่เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลยังไม่มีคำตอบในการแก้ปัญหาสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่รัฐบาลยืนยันจะจัดในวันที่ 2 ก.พ. 57 โดยไม่มีคำตอบว่าการปฏิรูปคู่ขนานจะตอบโจทย์การปฏิรูปได้จริง เพราะมีคำถามในเรื่องกฎหมายที่ผูกมัดให้รัฐบาลหลังเลือกตั้งต้องมาดำเนินการตามนี้ และคณะกรรมการสรรหาจะได้บุคคลที่รัฐบาลต้องการหรือไม่ เพราะองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหามีความผูกพันกับรัฐบาลอยู่

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พรรควิเคราะห์และยืนยันคือ นายกและรัฐบาลขาดความชอบธรรมที่จะเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้ แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์พยายามบอกว่ารัฐบาลไม่เกี่ยวข้องแต่กลับเป็นผู้กำหนดกรรมการสรรหาสภาปฏิรูปเสียเอง ซึ่งดูจากประวัติของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีท่าทีไม่สนองการปฏิรูปประเทศมาโดยตลอด นับตั้งแต่วันที่นายกเข้าสู่ตำแหน่งมีระเบียบสำนักนายกฯ เรื่องกรรมการปฏิรูปซึ่งออกโดยรัฐบาลของตนมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน แต่ลาออกเพื่อเปิดทางให้รัฐบาลชุดใหม่หาบุคคลมาขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปต่อ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้ตั้งกรรมการเข้ามาแทนเพื่อสานต่อการปฏิรูปประเทศ อีกทั้งข้อเสนอในบางเรื่องที่รัฐบาลตนผลักดันแล้วเช่น การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยการกระจายการถือครองที่ดิน มีการเสนอกฎหมายภาษีที่ดินและทรัพย์สินแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ยืนยันจนตกไป

นอกจากนี้ยังมีกรรมการชุดที่สองคือสมัชชาปฏิรูปที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน แต่รัฐบาลก็ไม่มีการขับเคลื่อนใดๆ รวมถึง คอป.ที่นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์หาเสียงว่าจะดำเนินการตามบทสรุปของ คอป.แต่ก็มีการฉีกรายงานทิ้งเมื่อบทสรุปไม่ตรงตามที่ตัวเองต้องการ ดังนั้นการมีคณะกรรมการที่จะผูกมัดรัฐบาลชุดต่อไปโดยระเบียบสำนักนายกฯนั้น รัฐบาลชุดนี้ทำให้เห็นแล้วว่าไม่ปฏิบัติตามใดๆ ทั้งสิ้น

“เวลาที่มีคณะกรรมการอิสระทำงานเรื่องใดก็ตาม รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะใช้วิธีการตั้งคนของตัวเองมาลดทอนน้ำหนัก แปลงสารข้อเสนออย่างชัดเจน เช่น มี คอป.ก็ตั้ง ปคอป. ข้อเสนอไหนเป็นประโยชน์ทำ และทำมากกว่าที่ คอป.เสนอด้วย แต่สิ่งไหนที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ทำ เช่นเดียวกับที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย แต่รัฐบาลก็ไปตั้ง คอนธ.ที่มีนายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน มาซ้อนทับเพื่อลดทอนการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย แม้แต่สถาบันพระปกเกล้าก็ถูกนำรายงานไปใช้ประโยชน์เพื่ออ้างเดินหน้าเรื่องปรองดอง แต่ไม่ได้ให้สถาบันดำเนินการในเรื่องการสานเสวนากลับให้กระทรวงมหาดไทยทำเอง ไม่เพียงเท่านี้ยังมีสภาปฏิรูปที่ให้นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นประธาน แต่ไม่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ซึ่งในขณะนั้นฝ่ายค้านขอให้หยุดกฎหมายนิรโทษกรรมแต่ก็ไม่ปฏิบัติตามจนมีกรรมการลาออกสองคน แสดงให้เห็นว่านางสาวยิ่งลักษณ์มุ่งแต่จะทำเรื่องที่เป็นประโยชน์กับครอบครัวคือนิรโทษกรรมให้พี่ชายและพวกพ้องมากกว่าการปฏิรูปประเทศ”

นายอภิสิทธิ์ยังระบุด้วยว่า การดำเนินการในขณะนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์นำมาใช้เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง เบี่ยงเบนประเด็นแต่ยังคงเดินไปสู่เป้าหมายที่ตัวเองกำหนดอย่างไม่หยุดยั้ง เหมือนกับการที่ถูกต้านกฎหมายนิรโทษกรรมก็ถอย เมื่อกระแสสังคมต้องการการปฏิรูปประเทศก็นำเรื่องนี้กลับมาและยังสอดไส้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปด้วย

ทั้งที่ข้อเรียกร้องในปัจจุบันคือการขจัดคอร์รัปชัน การเลือกตั้งที่เป็นธรรม แต่พฤติกรรมรัฐบาลไม่จัดการปัญหาการทุจริตในโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเงินกู้ น้ำท่วม หรือจำนำข้าว และพฤติกรรมของนายกฯ รักษาการยังใช้สถานะของความเป็นนายกทำกิจกรรมที่อ้างว่าบริหารแต่มุ่งความได้เปรียบหรือคะแนนนิยมในการเลือกตั้ง ทั้งที่ในอดีตที่ผ่านมาคนเป็นนายกฯจะต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมเกี่ยวกับมวลชน เพราะจะมีความได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์มุ่งลงพื้นที่อย่างเดียว และยังมีภาพเจ้าหน้าที่ ประชาชนมาแสดงการสนับสนุนพรรคการเมือง ซึ่งขัดต่อกฎหมายเลือกตั้งและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นที่มาของการเรียกร้องว่าต้องมีการปฏิรูป ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษก็ยังยัดเยียดความผิดให้กับคนที่ต่อต้านรัฐบาล

“พรรคได้ให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมหลักฐานและพิจารณาข้อกฎหมาย ซึ่งบางคนเห็นว่าการกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความผิดสมบูรณ์แล้ว โดยพรรคจะได้พิจารณาเรื่องนี้เพื่อร้องเรียนต่อ กกต.ต่อไป และอยากให้ กกต.ชี้มูลโดยเร็วในประเด็นที่มีความชัดเจน เพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนการเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาว่าเมื่อไปชี้มูลหลังเลือกตั้งแล้วก็จะมีการอ้างว่าได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเข้ามา” นายอภิสิทธิ์กล่าว

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ย้ำว่า กระบวนการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่การปฏิรูปที่แท้จริงแต่มุ่งไปสู่เป้าหมายตัวเองไม่ตอบโจทย์ประเทศ ทั้งนี้บทบาทของพรรคจะสนับสนุนการปฏิรูปโดยเฉพาะองค์กรที่จะมาทำหน้าที่ในการปฏิรูปแต่ยังไม่มีการพูดถึงสาระการปฏิรูปที่จะผลักดัน ดังนั้นหลังปีใหม่จะเดินหน้าทำกิจกรรมเกี่ยวกับเนื้อหาสาระการปฏิรูปในสองระดับ คือ 1. เชื่อมโยงกับกลุ่มบุคคลและองค์กรที่สนใจการปฏิรูป และ 2. เคลื่อนไหวจัดกิจกรรมกับมวลชนทั่วประเทศทุกภาค หัวข้อแรกคือ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันกับการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม การที่พรรคไม่ลงสมัครเลือกตั้งไม่ช่วงชิงอำนาจเพราะต้องการร่วมกับประชาชนในการปฏิรูปประเทศ โดยจะทำให้เร็วที่สุด และคิดว่าใช้เวลาไม่ถึงปีแน่นอน เพื่อจะได้รูปธรรมของการปฏิรูปอย่างชัดเจน

เมื่อถามว่าหากไม่มีการเลือกตั้งและการเมืองยังไม่มีทางออกพรรคจะใช้แนวทางใดผลักดันในการปฏิรูปประเทศ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่มีใครคาดการณ์ในอนาคตได้ เพราะในขณะที่รัฐบาลบอกว่าต้องเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 57 แต่มีคนคัดค้าน พรรคจึงเลือกที่จะไปเตรียมการเรื่องการปฏิรูปเพื่อหาทางออกให้ประเทศ อย่างไรก็ตามยอมรับว่ายังไม่รู้จะผลักดันอย่างไรเพราะไม่รู้อะไรจะเกิด แต่ที่ต้องทำเพื่อให้พรรคมีความพร้อมในการถ่ายทอดความคิดการปฏิรูปต่อสังคม เมื่อมีการเลือกตั้งที่ประชาชนยอมรับพรรคก็จะสามารถนำเสนอต่อประชาชนได้ทันที  โดยส่วนใหญ่ยึดตามพิมพ์เขียวประเทศไทยและสิบฐานรากที่เคยมีการนำเสนอไปก่อนหน้านี้ รวมถึงการเสนอกฎหมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ เช่น กฎหมายทุจริตไม่มีอายุความ กฎหมายภาษีที่ดิน เป็นเรื่องพรรคทำมาแล้วไม่ต้องเริ่มใหม่ ทั้งนี้ยืนยันว่าการรณรงค์ในเรื่องปฏิรูปประเทศเป็นคนละส่วนกับกระบวนการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น และย้ำว่าพรรคไม่มีการขัดขวางการเลือกตั้ง แต่คิดว่าจะมีคนมาขัดขวางการจัดกิจกรรมของพรรคมากกว่า หากดูจากประสบการณ์ในอดีต ทั้งนี้ตั้งใจจะไปในทุกพื้นที่

“ผมพยายามบอกกับประชาชนว่าการไม่ลงสมัครจะได้ไม่มีประเด็นว่าหาเสียงหรือวัตถุประสงค์การเมือง เอางานปฏิรูปเป็นตัวตั้งต้องการหาคำตอบให้กับประเทศและให้พรรคหลีกเลี่ยงเข้าไปอยู่ในวังวนความขัดแย้ง ผมย้ำกับสมาชิกพรรคว่าอย่าทำผิดกฎหมาย ให้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญหากมีการไปขึ้นเวทีปราศรัยเพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนก็เป็นบทบาทที่พึงกระทำได้ เพราะพรรคไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง มั่นใจพรรคไม่ทำผิดกฎหมาย แต่ก็รู้ว่ามีคนยื่นยุบพรรคอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาเราพิสูจน์ได้ทุกครั้งว่าพรรคไม่ทำผิดกฎหมาย และอยากถามว่าพรรคเพื่อไทยที่เอาผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายอยู่ในระบบัญชีรายชื่อ สมควรถูกยุบหรือไม่ เพราะศาลอุทธรณ์เพิ่งชี้ว่า ศาลอุทธรณ์เพิ่งชี้ว่าการเผาเซ็นเตอร์วันเป็นการกระทำโดย นปช.และถือเป็นการก่อการร้าย” นายอภิสิทธิ์กล่าว

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยอมรับว่า มีความเป็นห่วงต่อการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ว่าจะเดินหน้าต่อได้หรือไม่ เพราะ กกต.ทั้ง 5 คนก็พูดหลายครั้งว่าห่วงใย ซึ่งตนเห็นใจว่า กกต.มีหน้าที่ต้องทำเพราะนายกเดินทางไปถึงสำนักงาน กกต.พร้อมกับยืนยันว่าการเลือกตั้งต้องเกิดวันที่ 2 ก.พ. 57 ดังนั้น ความรับผิดชอบจึงอยู่ที่รัฐบาล ขณะเดียวกันขอฝากเจ้าหน้าที่ทุกระดับว่าต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วย ไม่เช่นนั้นจะสร้างปมขัดแย้งต่อไปในอนาคต เพราะหลังเปิดรับสมัครเป็นต้นมาก็มีความไม่ปกติหลายอย่าง เช่น การเปิดให้เข้าไปยื่นความจำนงรับสมัครนอกเวลาราชการ

“ภาพที่ภายนอกมีการยิงแก๊สน้ำตา กระสุนยาง หรือมีกระแสข่าวถึงขั้นว่ามีการยิงกระสุนจริงใส่ผู้ชุมนุม ในขณะที่ภายในอาคารมีการจับสลากเบอร์ผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อนั้น สะท้อนว่าคนในสังคมเหมือนอยู่คนละโลก นายกฯ มีหน้าที่บริหารประเทศว่าจะปล่อยให้คนในสังคมอยู่คนละโลกอีกนานเท่าไหร่ ทำไมไม่ให้คนกลับมาเป็นหนึ่งเดียวอยู่ในโลกเดียวกัน ด้วยการสละประโยชน์ตัวเองเสียบ้าง แต่ผมก็ค่อนข้างจะเหนื่อยกับการแนะนำนายกฯ แล้ว” นายอภิสิทธิ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น