xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ว.รสนา” ยก 6 เหตุสับ “แม้ว-ปู” แนะ 5 ข้อคลี่ขัดแย้งทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ (แฟ้มภาพ)
“รสนา” เชื่อเลือกตั้งก่อนการปฏิรูปบ้านเมืองยิ่งขัดแย้ง หนีไม่พ้นคอร์รัปชัน รัฐประหาร ฉะ “แม้ว-ปู” ดีแต่พูดมุ่งประโยชน์ส่วนตัว แก้ รธน.หวังฮุบอำนาจ ปฏิเสธอำนาจศาลชนวนมวลชนไม่ไว้ใจ แนะถอนตัวการเมืองทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง เลิกซื้อเสียง ประชานิยม ลดแลกแจกแถม เพื่อคลี่คลายสถานการณ์เผชิญหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 14 ธ.ค. เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ โพสต์จดหมายเปิดผนึก (ฉบับที่ 5) ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการ และประชาชน ความว่า “ตามที่ท่านได้ตัดสินใจยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยกล่าวอ้างว่าเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นั้น ได้เกิดข้อถกเถียงรอบใหม่ในสังคมไทยอย่างกว้างขวางเป็น 2 แนวทาง ว่า จะเลือกตั้งก่อนการปฏิรูปประเทศไทย หรือเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยก่อนเลือกตั้ง

แนวทางแรกเป็นของรัฐบาลที่เดินตามพระราชกฤษฎีกาการยุบสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 (2) ที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งในระบอบรัฐธรรมนูญที่ปฏิบัติในสภาวการณ์ปกติ แต่ในสภาพการณ์ทางการเมืองที่คุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ การดำเนินตามแนวทางของรัฐบาลนอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังจะก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่

แนวทางที่ 2 ที่เป็นเจตจำนงของมวลมหาประชาชนผ่าน กปปส. คือ ขอคืนอำนาจประชาธิปไตยทางตรงให้แก่ประชาชนเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่ก่อนการเข้าสู่การเลือกตั้งตัวแทนตามปกติ โดยมีเหตุผลที่ว่า การคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อไปกาบัตรเลือกตั้งเพียง 4 นาทีแต่สูญเสียอำนาจไปตลอด 4 ปี ซึ่งประชาชนไม่มั่นใจว่าจะเกิดฝันร้ายทางการเมืองซ้ำซากอีกหรือไม่

แม้รัฐบาลจะกล่าวหาว่า การเรียกร้องของ กปปส. ที่จะไม่เอาการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีข้อโต้แย้งอย่างหนักแน่นว่า การเลื่อนการเลือกตั้งออกไป สามารถกระทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนหนึ่งของปวงชนชาวไทยที่ออกมาแสดงตนในนามมวลมหาประชาชนในวันที่ 24 พฤศจิกายน และวันที่ 9 ธันวาคม 2556 มีเจตจำนงอันแน่วแน่ในการใช้อำนาจทางตรงในการพัฒนา และสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบอบประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสองนครา ที่เป็นภาคสังคมเมือง และสังคมชนบท อันเป็นต้นเหตุความขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมืองมาหลายทศวรรษจนกระทั่งปรากฏชัดในปัจจุบัน

ในทางกลับกัน ประชาชนเห็นว่าการที่รัฐบาลเร่งรัดการเข้าสู่การเลือกตั้งตามการตีความอย่างแคบในรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงกลอุบายในการคืนอำนาจทางการเมืองให้แก่ผู้แทนซึ่งพิสูจน์มาครั้งแล้วครั้งเล่าว่าสร้างความล้มเหลวให้แก่ระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด เป็นวงจรสลับกันไปมาระหว่างการคอร์รัปชันของนักการเมือง และการรัฐประหาร

ประชาชนจึงมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตยควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และเศรษฐกิจ

ปัญหาใจกลางที่ทำให้ประชาชนจำนวนมหาศาลลุกขึ้นมาทวงอำนาจทางตรงคือ ความไม่พอใจสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ซึ่งหมายถึงการผูกขาดกินรวบประเทศไทยโดยใช้การคอร์รัปชันเชิงระบบผ่านนโยบายประชานิยมที่สร้างฐานการตลาดทางการเมืองของตน โดยไม่คำนึงถึงการพังทลายของระบบเศรษฐกิจ และความล้มเหลวทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองอันใหญ่โตมโหฬารที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค แต่เป็นเรื่องของความขัดแย้งของประชาชน กับระบบคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมการเมืองไทย และถูกขยายให้ใหญ่โตขึ้นด้วยการเมืองเครือญาติของ “ระบอบทักษิณ”

แนวทางของรัฐบาลที่จะให้มีการเลือกตั้งก่อนการปฏิรูปจะไม่ได้รับการตอบสนองจากประชาชน หากตัวแทนของ “ระบอบทักษิณ” ยังคงอยู่ทั้งเบื้องหน้า (เครือญาติของตระกูลชินวัตร) และเบื้องหลัง (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร)

เหตุผลที่ประชาชนไม่ไว้วางใจให้รัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการจัดการเลือกตั้ง และเป็นเจ้าภาพจัดเวทีปฏิรูปประเทศไทย คือ

1) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ให้ความเคารพต่อระบบตุลาการของไทย เห็นได้จากการหนีคดีที่ตัดสินโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และความพยายามที่จะผลักดันให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมคดีของตนเอง (ทั้งที่ตัดสินเป็นที่สุดแล้ว และที่อยู่ในระหว่างการพักคดีเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หนีคดี) พฤติกรรมเช่นนี้ไม่ใช่วิสัยของนักการเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบุรุษ และวีรสตรีอย่าง รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์, ประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา และท่านอองซาน ซูจี ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มักยกตนเทียบชั้นกับปูชนียบุคคลทางการเมืองเหล่านี้

2) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ทำตามสัญญาประชาคมในนโยบายสำคัญที่เคยหาเสียง เช่น เคยสัญญาว่าถ้าได้เป็นรัฐบาล จะฉีกกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ อันเป็นกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาล ก็เตรียมการแปรรูป “ปตท.” ทันทีภายใน 3 เดือนแรกที่เข้ามาเป็นรัฐบาล และขายหุ้น ปตท. หมดภายใน 1 นาที 17 วินาที และมีความพยายามจะแปรรูป กฟผ.ต่อไปอีก ทั้งที่เคยทำสัญญา 3 ฝ่าย (รัฐบาล บอร์ดกฟผ. และ สหภาพแรงงานกฟผ.) ว่าจะไม่แปรรูป กฟผ.อย่างเด็ดขาด โชคดีที่ประชาชนนำคดีฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลสั่งเพิกถอนการแปรรูป และเดชะบุญที่รัฐบาลทักษิณหมดอำนาจไปก่อน

3) รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เช่นกันที่ หาเสียงว่าถ้าได้เป็นรัฐบาล จะกระชากค่าครองชีพลงมา และยกเลิกกองทุนน้ำมันเพื่อให้น้ำมันมีราคาถูก เพราะเป็นต้นทุนของสินค้าทุกอย่าง แต่เมื่อมาเป็นรัฐบาลก็มีการชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันอยู่ไม่เกิน 3 เดือน จากนั้นก็มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น และขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นอีก เป็นเหตุให้ข้าวของแพง และค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนถ้วนหน้า โดยเฉพาะพี่น้องคนยากจนยิ่งเดือดร้อนหนักที่สุด

4) รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรหาเสียงว่าจะสร้างความปรองดอง แก้ไขไม่แก้แค้น คืนความสุขให้ประชาชน แต่เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลก็มุ่งเน้นการทำเพื่อประโยชน์ของครอบครัวตัวเองเป็นหลัก ด้วยการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยในสภาผู้แทนราษฎรในยามวิกาล ซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมความผิดทั้งปวงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่มกราคม 2547-8 สิงหาคม 2556 นอกจากการนิรโทษกรรมความผิดทั้งปวงของ พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว ยังจะได้เงินที่ถูกยึด จำนวน 46,000 ล้านบาท คืนพร้อมดอกเบี้ย 7.50% ต่อปี

ประชาชนได้ให้โอกาสรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรมาเป็นเวลากว่า 2 ปี ในการบริหารบ้านเมืองและอดทนต่อการดำเนินนโยบายประชานิยมที่มีการทุจริตอย่างมโหฬาร และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศจนแทบย่อยยับ และฟางเส้นสุดท้ายของความอดทนของมวลมหาประชาชนก็คือ กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยที่ขัดทั้งหลักนิติรัฐ และนิติธรรม ตลอดจนศีลธรรมอันดีของประชาชน

5) ประชาชนไม่ไว้ใจแนวทางการปฏิรูปของรัฐบาลภายใต้ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ดังจะเห็นได้จากแนวทางการปฏิรูปที่พรรครัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้ว กล่าวคือ การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ รัฐบาลอ้างว่ารัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญของ คมช.ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่แนวทางการแก้ไขจริงกลับเป็นการเพิ่มอำนาจเบ็ดเสร็จให้นักการเมือง บั่นทอนอำนาจการตรวจสอบของประชาชน องค์กรศาล และองค์กรอิสระ รวมทั้งองค์กรวุฒิสภา เห็นได้จากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว. เป็นไปเพื่อควบรวมอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติให้อยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหารอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นอกจากนี้ การให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะยกเลิก และแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 67 มาตรา 68 และมาตรา 190 อันเป็นการสะท้อนทัศนะการรวมศูนย์อำนาจ ลดทอนสิทธิเสรีภาพ และอำนาจการตรวจสอบของประชาชน ซึ่งสวนทางกับแนวคิดการกระจายอำนาจในระบอบประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ การปฏิรูปประเทศไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ หมายถึงการแปรรูปสาธารณสมบัติของประชาชนให้เป็นสมบัติของกลุ่มธุรกิจการเมืองแบบผูกขาด

6) การปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว. ทำให้ประชาชนหมดความไว้วางใจในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถึงขั้นไม่ยอมให้ทำหน้าที่รักษาการเพื่อจัดการเลือกตั้ง หรือเป็นเจ้าภาพจัดเวทีปฏิรูป

เพื่อคลี่คลายสถานการณ์การเผชิญหน้าดังกล่าว ขอเสนอทางออกจากความรุนแรงดังนี้

1) เรียกร้องจิตสำนึกเสรีของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการตัดสินใจถอยออกจากการเข้ามามีอำนาจทางการเมืองของประเทศไทย ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลัง ซึ่งเป็นโอกาสที่จะมีการเจรจาทุกฝ่ายเพื่อให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 อย่างเรียบร้อยและไม่เกิดเหตุรุนแรง

2) ปฏิรูประบบพรรคการเมืองไทยให้เป็นพรรคของมหาชนอย่างแท้จริง ไม่เป็นพรรคของตระกูล หรือกลุ่มเครือญาติของนักการเมืองอีกต่อไป รวมทั้งต้องไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของนายทุนที่สนับสนุนพรรค เพื่อให้ประชาชนมีความศรัทธาต่อระบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

3) ถึงเวลาที่พรรคการเมืองต้องดำเนินนโยบายหาเสียงโดยใช้แนวทางการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่ประชาชนเรียกร้องต้องการ ซึ่งไปพ้นจากนโยบายประชานิยมแบบลดแลกแจกแถม และการซื้อเสียงเข้าสู่ระบบการเมือง

4) กปปส. ต้องไม่ผูกขาดอำนาจทางการเมืองในองค์กรที่เรียกว่า “สภาประชาชน” และ “สมัชชาปฏิรูปของมวลมหาประชาชน” และต้องเปิดโอกาสให้มวลชนทุกภาคส่วน ทุกค่ายความคิดเข้ามามีส่วนร่วมจนเกิดฉันทมติในการปฏิรูปร่วมกัน แกนนำของ กปปส. รวมทั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน ควรพิจารณาตัวเองเว้นวรรคตำแหน่งทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เพื่อไม่ถูกครหาว่าการเคลื่อนไหวการเมืองนอกสภาเพื่อมุ่งหวังความได้เปรียบทางการเมืองในระบบ

5) หลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองทุกพรรคควรถือเป็นวาระแห่งชาติในการปฏิรูปประเทศโดยเสนอพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง “สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” เพื่อนำเสนอการปฏิรูปเชิงประเด็น ระดับพื้นที่ และระดับประเทศที่ต้องนำไปสู่การนำเสนอกฎหมายใหม่เพื่อบังคับใช้ให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรมในระดับที่น่าพอใจ

ข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นจริงได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจอิสระในการตัดสินใจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการ

ขอฝากคำสั่งเสียของท่านประเสริฐ นาสกุล อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญที่เคยกล่าวไว้ว่า

“ปัญหาของบ้านเมืองบางอย่างอาจแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้เงินทองเลย เพียงแต่ผู้นำของประเทศต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี โดยการ คิด พูด และทำตรงกัน และชี้นำประชาชนในชาติว่า ปัญหาของชาตินั้นอยู่ที่ทุกคนจะต้องร่วมใจกันแก้ไข ด้วยการลด ละ และเลิก “ความเห็นแก่ตัว” เป็นอันดับแรก ยิ่งทำได้มาก และรวดเร็วเท่าใด จะสามารถนำพาชาติบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤต สู่ความเป็นปกติรวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น หากไม่แก้ไขความเห็นแก่ตัวก่อนแล้ว เห็นว่าหมดหวัง เพราะไม่มีทางอื่นใดที่จะแก้ไขปัญหาของชาติในเวลานี้ได้”

อย่างไรก็ตาม “ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกคนในฐานะประชาชนมีความฝันร่วมกันว่า จะต้องทำการเมืองไทย และทำสังคมไทยให้ดีกว่าวันนี้ให้จงได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น