xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา”ชี้6ความเลว“แม้ว-ปู” แนะ5ข้อคลายขัดแย้งการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ โพสต์จดหมายเปิดผนึก (ฉบับที่ 5) ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล ถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการ และประชาชน ความว่า “ตามที่ท่านได้ตัดสินใจยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยกล่าวอ้างว่าเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 นั้น ได้เกิดข้อถกเถียงรอบใหม่ในสังคมไทยอย่างกว้างขวางเป็น 2 แนวทางว่า จะเลือกตั้งก่อนการปฏิรูปประเทศไทย หรือเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ก่อนเลือกตั้ง
แนวทางแรกเป็นของรัฐบาล ที่เดินตามพ.ร.ฎ.การยุบสภา ที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งในระบอบรัฐธรรมนูญ ที่ปฏิบัติในสภาวการณ์ปกติ แต่ในสภาพการณ์ทางการเมืองที่คุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ การดำเนินตามแนวทางของรัฐบาล นอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังจะก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่
แนวทางที่ 2 ที่เป็นเจตจำนงของมวลมหาประชาชน ผ่านกปปส. คือ ขอคืนอำนาจประชาธิปไตยทางตรงให้แก่ประชาชนเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่ ก่อนการเข้าสู่การเลือกตั้งตัวแทนตามปกติ โดยมีเหตุผลที่ว่า การคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อไปกาบัตรเลือกตั้งเพียง 4 วินาที แต่สูญเสียอำนาจไปตลอด 4 ปี ซึ่งประชาชนไม่มั่นใจว่า จะเกิดฝันร้ายทางการเมืองซ้ำซาก อีกหรือไม่
แม้รัฐบาลจะกล่าวหาว่า การเรียกร้องของ กปปส. ที่จะไม่เอาการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีข้อโต้แย้งอย่างหนักแน่นว่า การเลื่อนการเลือกตั้งออกไป สามารถกระทำได้ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนหนึ่งของปวงชนชาวไทยที่ออกมาแสดงตนในนามมวลมหาประชาชนในวันที่ 24 พ.ย. และวันที่ 9 ธ.ค.56 มีเจตจำนงอันแน่วแน่ ในการใช้อำนาจทางตรงในการพัฒนา และสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบอบประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสองนครา ที่เป็นภาคสังคมเมือง และสังคมชนบท อันเป็นต้นเหตุความขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมืองมาหลายทศวรรษ จนกระทั่งปรากฏชัดในปัจจุบัน
ในทางกลับกัน ประชาชนเห็นว่า การที่รัฐบาลเร่งรัดการเข้าสู่การเลือกตั้งตามการตีความอย่างแคบในรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงกลอุบายในการคืนอำนาจทางการเมืองให้แก่ผู้แทน ซึ่งพิสูจน์มาครั้งแล้วครั้งเล่าว่า สร้างความล้มเหลวให้แก่ระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด เป็นวงจรสลับกันไปมาระหว่างการคอร์รัปชัน ของนักการเมือง และการรัฐประหาร
ประชาชนจึงมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ แนวทางของรัฐบาลที่จะให้มีการเลือกตั้งก่อนการปฏิรูป จะไม่ได้รับการตอบสนองจากประชาชน หากตัวแทนของ “ระบอบทักษิณ” ยังคงอยู่ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลัง ซึ่งเหตุผลที่ประชาชนไม่ไว้วางใจให้รัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการจัดการเลือกตั้ง และเป็นเจ้าภาพจัดเวทีปฏิรูปประเทศไทย คือ
1. พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ให้ความเคารพต่อระบบตุลาการของไทย เห็นได้จากการหนีคดี ที่ตัดสินโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และความพยายามที่จะผลักดันให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมคดีของตนเอง
2. พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ทำตามสัญญาประชาคมในนโยบายสำคัญที่เคยหาเสียง เช่น เคยสัญญาว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาล จะฉีกกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ อันเป็นกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลก็เตรียมการแปรรูป “ปตท.” ทันทีภายใน 3 เดือนแรก ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลและมีความพยายามจะแปรรูป กฟผ. ต่อไปอีก
3. รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็เช่นกันที่หาเสียงว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาล จะกระชากค่าครองชีพลงมา และยกเลิกกองทุนน้ำมัน เพื่อให้น้ำมันมีราคาถูก เพราะเป็นต้นทุนของสินค้าทุกอย่าง แต่เมื่อมาเป็นรัฐบาลก็มีการชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันอยู่ไม่เกิน 3 เดือน จากนั้นก็มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น และขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นอีก เป็นเหตุให้ข้าวของแพง และค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
4. รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ หาเสียงว่า จะสร้างความปรองดอง แก้ไขไม่แก้แค้น คืนความสุขให้ประชาชน แต่เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลก็มุ่งเน้นการทำเพื่อประโยชน์ของครอบครัวตัวเองเป็นหลัก ด้วยการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ในสภาผู้แทนราษฎรในยามวิกาล ซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมความผิดทั้งปวงของ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว ยังจะได้เงินที่ถูกยึด จำนวน 46,000 ล้านบาท คืนพร้อมดอกเบี้ย 7.50% ต่อปี
5. ประชาชนไม่ไว้ใจแนวทางการปฏิรูปของรัฐบาลภายใต้ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ”ดังจะเห็นได้จากแนวทางการปฏิรูป ที่พรรครัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้ว กล่าวคือ การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ รัฐบาลอ้างว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญของ คมช. ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่แนวทางการแก้ไขจริงกลับเป็นการเพิ่มอำนาจเบ็ดเสร็จให้นักการเมือง บั่นทอนอำนาจการตรวจสอบของประชาชน องค์กรศาล และองค์กรอิสระ รวมทั้งองค์กรวุฒิสภา เห็นได้จากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว. เป็นไปเพื่อควบรวมอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติให้อยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหารอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
6. การปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยที่มาของ ส.ว. ทำให้ประชาชนหมดความไว้วางใจในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถึงขั้นไม่ยอมให้ทำหน้าที่รักษาการเพื่อจัดการเลือกตั้ง หรือเป็นเจ้าภาพจัดเวทีปฏิรูป
ดังนั้น เพื่อคลี่คลายสถานการณ์การเผชิญหน้าดังกล่าว ขอเสนอทางออกจากความรุนแรงดังนี้
1. เรียกร้องจิตสำนึกเสรีของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในการตัดสินใจถอยออกจากการเข้ามามีอำนาจทางการเมืองของประเทศไทย ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลัง ซึ่งเป็นโอกาสที่จะมีการเจรจาทุกฝ่ายเพื่อให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 อย่างเรียบร้อย และไม่เกิดเหตุรุนแรง
2. ปฏิรูประบบพรรคการเมืองไทยให้เป็นพรรคของมหาชนอย่างแท้จริง ไม่เป็นพรรคของตระกูล หรือกลุ่มเครือญาติของนักการเมืองอีกต่อไป รวมทั้งต้องไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของนายทุนที่สนับสนุนพรรค เพื่อให้ประชาชนมีความศรัทธาต่อระบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
3. ถึงเวลาที่พรรคการเมืองต้องดำเนินนโยบายหาเสียงโดยใช้แนวทางการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่ประชาชนเรียกร้องต้องการ ซึ่งไปพ้นจากนโยบายประชานิยมแบบลดแลกแจกแถม และการซื้อเสียงเข้าสู่ระบบการเมือง
4. กปปส. ต้องไม่ผูกขาดอำนาจทางการเมืองในองค์กรที่เรียกว่า “สภาประชาชน”และ “สมัชชาปฏิรูปของมวลมหาประชาชน” และต้องเปิดโอกาสให้มวลชนทุกภาคส่วน ทุกค่ายความคิดเข้ามามีส่วนร่วมจนเกิดฉันทมติในการปฏิรูปร่วมกัน แกนนำของ กปปส. รวมทั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน ควรพิจารณาตัวเองเว้นวรรคตำแหน่งทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เพื่อไม่ถูกครหาว่าการเคลื่อนไหวการเมืองนอกสภาเพื่อมุ่งหวังความได้เปรียบทางการเมืองในระบบ
5. หลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองทุกพรรคควรถือเป็นวาระแห่งชาติในการปฏิรูปประเทศโดยเสนอพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง “สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย”เพื่อนำเสนอการปฏิรูปเชิงประเด็น ระดับพื้นที่ และระดับประเทศที่ต้องนำไปสู่การนำเสนอกฎหมายใหม่เพื่อบังคับใช้ให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรมในระดับที่น่าพอใจ
ข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นจริงได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจอิสระ ในการตัดสินใจของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น