xs
xsm
sm
md
lg

เวที 7 องค์กรเอกชนปฏิรูปการเมืองนัดแรกยังไร้ข้อเสนอ หวัง “นปช.” เข้าหารือนัดต่อไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


7 องค์กรภาคเอกชนเปิดเวทีระดมความเห็นแนวทางปฏิรูปการเมืองไทยครั้งแรก เสียงส่วนใหญ่ไทยต้องปฏิรูปแล้วแต่ยังไม่ตกผลึกแนวทางใด เตรียมระดมความเห็นอีก 2-3 ครั้งก่อนสรุปภายใน ธ.ค.นี้ หวัง “นปช.” หารือหลัง กปปส.เข้าพบแล้ว เผยเวทีครั้งแรกหลายฝ่ายเห็นตรงกันปฏิรูปกติกาเลือกตั้งก่อน แล้วทำสัญญาประชาคม เมื่อเลือกตั้งเสร็จให้เดินตามข้อตกลง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 7 องค์กรภาคเอกชน ได้แก่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (สทท.), สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ได้จัดเวทีกลางครั้งแรกของภาคเอกชน โดยเปิดให้ทุกส่วนแสดงความเห็นเพื่อรับข้อมูลการปฏิรูปการเมือง

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะโฆษกคณะทำงาน 7 องค์กรภาคเอกชน กล่าวว่า การจัดเวทีครั้งนี้เห็นตรงกันว่าจำเป็นจะต้องปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะ 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. คอร์รัปชัน 2. เศรษฐกิจ 3. ความเป็นธรรม 4. กติกาเลือกตั้ง แต่ความเห็นในเวทีครั้งนี้เป็นการเสนอทางเลือกมากกว่าการสรุปหาทางออกของปัญหาการเมืองไทยและเป็นองค์กรกลางเพื่อเป็นศูนย์กลางลดความขัดแย้งด้วยการนำเสนอแนวทางโดยจะไม่ชี้นำเพื่อประโยชน์ประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งจะมีการเปิดเวทีดังกล่าว 2-3 ครั้งในการให้มีทางเลือกจากทุกด้านเพื่อสรุปภายในเดือนธันวาคมนี้

“เราคาดหวังว่าจะเป็นเวทีอีกแห่งหนึ่งในการเปิดเสนอความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ซึ่งเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทางนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ได้มาหารือแล้วและก็เข้าใจเจตนารมณ์มากขึ้น จึงหวังว่าโอกาสต่อไปจะมีเครือข่ายอื่นๆ เข้ามาหารือ เช่น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือนปช. และเครือข่ายอื่นๆ ที่สนใจ” นายวิชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับเวทีอื่นๆ ในช่วงเสาร์-อาทิตย์นี้ที่จะเปิดขึ้นทั้งผู้นำ 4 เหล่าทัพและเวทีของรัฐบาลเอง ทาง 7 องค์กรเอกชนจะมีตัวแทนเข้าไปร่วมด้วยเพราะไม่ได้ปิดกั้นว่าจะต้องมีเพียงเวทีเดียวจำเป็นจะต้องใช้หลายๆ เวทีเพื่อให้สามารถหาทางออกให้แก่ประเทศได้ และย้ำว่าเวทีเอกชนครั้งนี้เป็นเพียงเวทีกลางแต่ไม่ใช่ตัวกลางในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายแต่อย่างใด

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปการเมือง แต่ก็ยังมีความเห็นต่างกันตรงที่อีกฝ่ายเห็นว่าจะต้องปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้งและอีกฝ่ายเห็นว่าต้องเลือกตั้งก่อนปฏิรูปการเมือง ซึ่งบางฝ่ายเองก็เสนอว่าอาจปฏิรูปกติกาเลือกตั้งก่อนแล้วระหว่างนี้ก็ให้ทำสัญญาประชาคมที่จะให้นำไปสู่การปรองดอง การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เป็นต้น

นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า การปฏิรูปการเมืองจากการระดมความเห็นครั้งนี้เห็นว่าทางเลือกที่เป็นไปได้สุดคือการปฏิรูปกติกาในการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดการยอมรับ และระหว่างนี้ก็ต้องทำสัญญาประชาคมของทุกพรรคการเมืองว่าจะต้องมีนโยบายในการนำประเทศไปสู่ความปรองดองและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันและเลือกตั้งตามกำหนดที่วางไว้ เสร็จแล้วก็มาปฏิรูปในรายละเอียดต่างๆ แล้วจึงเสนอสภาฯ เพื่อเดินหน้าเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

ปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธาน สทท. กล่าวว่า ต้องการเห็นการทำสัญญาประชาคมเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศให้ชัดเจน โดยต้องกำหนดการลดความขัดแย้งของคู่กรณี หลังจากนั้นจึงทำให้เกิดการเลือกตั้งขึ้น โดยสามารถปฏิรูปส่วนหนึ่งก่อนแล้วทำสัญญาประชาคมไว้เมื่อเลือกตั้งเสร็จก็มาทำต่อ

นายสุรงค์ บูลกุล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า จำเป็นที่ไทยจะต้องปฏิรูปการเมือง เพราะอีกไม่นานก็จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ส่วนจะปฏิรูปอย่างไรนั้นก็ต้องมาหาข้อสรุปกัน เพราะหากปล่อยไว้นานความเชื่อมั่นของประเทศจะหายไป ประเทศจะเสียโอกาส ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาคนกลางและคนฟังที่สามารถสรุปเหตุผลได้โดยมีเป้าหมายลดความข้ดแย้งของคนในประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น