“ชูชาติ ศรีแสง” ถอดปม “เพื่อแม้ว” ไม่รับอำนาจศาล ระบุไม่เถียงสภาฯ ใช้อำนาจแก้ รธน. แต่การแก้ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติ กม. มีการลงคะแนนเสียบบัตรแทนกัน เมื่อมีผู้ร้อง 312ผู้ทรงเกียรติก็มิได้ติดใจแก้ข้อกล่าวหา แสดงว่ายอมรับทำผิดจริง ถือเป็นการทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยขัดวิถีทางที่บัญญัติไว้ ศาล รธน.ย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 19 พ.ย. เมื่อเวลาประมาณ 23.00 น. นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Chuchart Srisaeng ถึงกรณีบรรดา ส.ส.-ส.ว.ที่ลงชื่อแก้ที่มา ส.ว. แถลงไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญว่า
“...รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 บัญญัติว่า อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
รัฐสภา มีหน้าที่หลักคือ การตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และการตราพระราชญัญญัติ หรือพูดกันประสาชาวบ้านก็คือ มีหน้าที่ออกกฎหมายมาใช้บังคับแก่ประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวด 6 รัฐสภา ส่วนที่ 6 และส่วนที่ 7 มาตรา 138 ถึงมาตรา 153
คณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวด 9 คณะรัฐมนตรี มาตรา 171 ถึงมาตรา 196 โดยมาตรา 171 วรรคแรก บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอื่นอีก ไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
ศาล มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดี ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวด 10 ศาล มาตรา 197 ถึงมาตรา 228 โดยมาตรา 197 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอํานาจของศาลซึ่งต้องดําเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
นี่คือหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดอำนาจหน้าของอำนาจแต่ละฝ่าย คือ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ไว้ชัดเจน เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน
รัฐสภา ต้องยอมรับอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีและการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล
คณะรัฐมนตรี ต้องยอมรับการตรากฎหมายออกมาใช้บังคับของรัฐสภาและการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล
ศาล ต้องยอมรับการตรากฎหมายออกมาใช้บังคับของรัฐสภาและการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี
วันนี้ที่ 19 พฤศจิกายน 2556 ที่รัฐสภา เวลา 10.50 นาฬิกา นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย และนายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร ได้นำตัวแทน ส.ส.และ ส.ว.ที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในฐานะตัวแทน ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 312 คน แถลงข่าวว่าจะไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ขอให้พิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาของ ส.ว.นั้นเป็นไปตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน เวลา 11.00 นาฬิกา
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 พรรคเพื่อไทย ก็แถลงว่า ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต่างก็พูดว่า รัฐสภามีอำนาจที่จะแก้รัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจเข้ามาก้าวก่ายการทำหน้าที่ของรัฐสภา
อย่างไรก็ดี รัฐสภามีอำนาจที่จะแก้รัฐธรรมนูญ ไม่มีผู้ใดเถียง แต่ที่ ส.ส.และ ส.ว.กลุ่มหนึ่งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การแก้รัฐธรรมนูญของรัฐสภาดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีการลงคะแนนโดยการเสียบบัตรแทนกัน ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภาและทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมรัฐสภา ไม่ได้ดำเนินประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา และส่งคำร้องให้บรรดา ส.ส.และ ส.ว.ทั้ง 312 คน ส.ส. และ ส.ว.ดังกล่าวต่างก็ไม่ให้การแก้ข้อกล่าวหา แสดงว่ายอมรับว่ามีการกระทำผิดตามคำร้องที่ ส.ส.และ ส.ว.ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญจริง
เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ก็เป็นการเพื่อให้ได้อำนาจมาในการปกครองประเทศโดยวิธีซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้
ดังนั้น การที่พรรคเพื่อไทย ส.ส.และ ส.ว.ออกมาแถลงว่าไม่ยอมรับคำวินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ก็คือการไม่ยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระทำในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ มาตรา 197
ถ้าวันนี้สมาชิกรัฐสภาไม่ยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อไปตุลาการไม่ยอมรับกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นมา ฝ่ายบริหารดำเนินคดีแก่ผู้กระผิดกฎหมายที่รัฐสภาบัญญัติขึ้นมา เมื่อนำมาฟ้องต่อศาล ศาลปฏิเสธที่จะพิจารณาพิพากษาคดี โดยอ้างว่าไม่ยอมรับกฎหมายดังกล่าว บ้านนี้ เมืองนี้จะดำรงอยู่ได้อย่างไร”