xs
xsm
sm
md
lg

อดีตผู้พิพากษาชี้ “ดีเอสไอ-อสส.” ไร้อำนาจสอบสวนฟ้อง “มาร์ค-เทือก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา
“ชูชาติ ศรีแสง” ยกตัวบท กม. ชี้ “มาร์ค-เทือก” สั่งสลายม็อบแดงไม่เข้าข่ายเจตนาเล็งเห็นผล ระบุสั่งในฐานะนายกฯ และรองนายกฯ ต้องฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น และ ป.ป.ช.เท่านั้นที่มีอำนาจไต่สวน เมื่อการสอบสวนก็ไม่ชอบ อัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 28 ต.ค. เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Chuchart Srisaeng ถึงกรณีอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฐานก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล จากเหตุที่ออกคำสั่งตั้ง ศอฉ. และให้เจ้าหน้าที่ทหารทำการกระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 ดังนี้

ขณะเกิดเหตุเมื่อปี 2553 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งตั้ง ศอฉ.นั้น เป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ใช่เป็นคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะส่วนตัว หรือเป็นการส่วนตัว คำสั่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ.ไม่ได้มีคำสั่งตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะส่วนตัว หรือเป็นการส่วนตัว คำสั่งของผู้อำนวยการ ศอฉ.ก็เป็นคำสั่งของรองนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่่ใช่คำสั่งของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะส่วนตัว หรือเป็นการส่วนตัว

ดังนั้น ทั้งคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคำสั่งของรองนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ.ที่ชื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จึงเป็นการกระทำของนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี เป็นการกระทำของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4

เมื่อมีการกล่าวหาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ต้องทำการไต่สวน และส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 19 (2)

พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ เมื่อพนักงานสอบสวนคดีนี้ไม่มีอำนาจสอบสวน การสอบสวนก็ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อการสอบสวนไม่ชอบ พนักงานอัยการก็ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 8 บัญญัติว่า ให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา และมาตรา 9 บัญญัติว่า ศาลมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี ดังต่อไปนี้ (1) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ฯลฯ กระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ ฯลฯ

เป็นการย้ำให้เห็นว่า ถ้านายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา การดำเนินคดีต้องฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น จะฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา เช่น ศาลอาญา ไม่ได้

จะอ้างว่าการกระทำของนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เป็นการฆ่าผู้อื่น ไม่ได้กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ เพราะเป็นการกระทำในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่หน้าที่ราชการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี

คดีที่จะนำไปฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องเป็นคดีที่ผ่านการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เท่านั้น

สรุปแล้วกรณีนี้ไม่ว่าจะพิจารณาตามกฎหมายฉบับใด พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ และพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นของศาลยุติธรรม

ที่กล่าวมาเป็นเรื่องของอำนาจฟ้อง ส่วนการพิจารณาในเนื้อหาของคดีนั้น

การกระทำความผิดโดยเจตนาเล็งเห็นผลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสองนั้น เป็นที่เข้าใจกันในบรรดานักกฎหมายตามที่อาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายอาญา ภาค หนึ่ง สอนกันมา ตำราของอาจารย์ต่างๆ รวมทั้งมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานว่า การเล็งเห็นผลหมายความว่า การคาดหมายได้ล่วงหน้านั่นเอง

ถนนที่กำหนดให้รถยนต์ และรถอื่นๆ แล่นไปทิศทางเดียว ผู้ที่ขับรถยนต์แล่นสวนทางมาบนถนนดังกล่าวย่อมคาดหมายได้หรือย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า จะต้องเกิดการเฉี่ยวชนกับรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่แล่นมาตามที่กำหนดไว้ เช่นนี้ ถ้าเกิดการเฉี่ยวชนกับจักรยานยนต์ที่แล่นมาเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์เสียหาย ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ตาย ผู้ที่ขับรถยนต์ที่แล่นสวนทางมาย่อมมีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นถึงตวามตาย และทำให้เสียทรัพย์โดยเจตนาเล็งเห็นผล

แต่ถ้ามีผู้ใช้ให้คนขับรถยนต์คันดังกล่าวไปซื้อของโดยที่ผู้ใช้ไม่อาจคาดหมายได้ว่า ผู้ขับรถยนต์จะขับขี่รถยนต์แล่นฝ่าฝืนกฎหมายจราจรสวนทางในถนนที่กำหนดให้รถแล่นไปในทิศทางเดียว เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น ผู้ใช้คนขับรถยนต์ย่อมไม่มีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และทำให้เสียทรัพย์โดยเจตนาเล็งเห็นผล เพราะเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดหมายได้เลย

การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีคำสั่งตั้ง ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการเพื่อให้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนั้น นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ จะคาดหมายได้อย่างไรว่า ผู้บัญชาการทหารบกจะส่งทหารหน่วยใดมีใครเป็นผู้บังคับบัญชาไปปฏิบัติหน้าที่ และการส่งเจ้าหน้าที่ทหารออกไปรักษาความสงบเจ้าหน้าที่ทหารคนใดจะถูกกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มผู้ชุมนุมจะใช้อาวุธปืนยิงเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารต้องใช้อาวุธปืนยิงเพื่อป้องกันตัวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ซึ่งสามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความผิด

เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารผู้ใช้อาวุธปืนยิงป้องกันตนเองยังไม่มีความผิด นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ก็ย่อมไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล

ที่กล่าวมาเป็นการกล่าวตามกฎหมายที่เขียนไว้ชัดเจน และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเมื่อปี 2553

แน่นอน อัยการสูงสุดย่อมจะสั่งคดีอย่างไรก็ได้ เพราะมีอำนาจที่จะสั่ง ส่วนจะผิดถูกหรือไม่อย่างไร จิตใต้สำนึกของผู้สั่งน่าจะรู้ดีกว่าบุคคลอื่น แต่ที่อดีตอัยการสูงสุดอ้างว่า มีอิสระที่จะสั่งเช่นเดียวกับศาลนั้น

รัฐธรรมนูญ มาตรา 197 วรรคสอง บัญญัติว่า ผู้พิพากษา และตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย

ความอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาต้องเป็นการอิสระที่เป็นธรรม เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย เป็นการอิสระที่ไม่มีใครสามารถสั่งให้ผู้พิพากษาพิจารณาพิพากษาคดีตามที่บุคคลนั้นต้องการได้ ไม่่ใช่อิสระที่พิพากษาอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจของตนเอง

ศาลมี 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เพื่อตรวจสอบการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต่ำกว่า แม้ศาลฎีกา ก็มีองค์คณะที่ร่วมกันพิจารณาพิพากษาคดี 3 คน และมีผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาช่วยตรวจข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายของร่างคำพิพากษาว่าถูกต้องหรือไม่ ทั้งยังมีรองประธานศาลฎีกา และประธานศาลฎีกา ตรวจอีกชั้นหนึ่งว่า ถูกต้องหรือไม่ เมื่อเห็นว่าถูกต้องจึงสั่งออกเป็นคำพิพากษาศาลฎีกา

ส่วนการสั่งคดีของอัยการสูงสุดจะอิสระอย่างไรไม่อาจทราบได้ แต่น่าจะไม่เหมือนกับความอิสระของผู้พิพากษาอย่างแน่นอน เพราะเป็นการสั่งโดยอำนาจของคนคนเดียว ผิดถูกอย่างไรไม่มีใครก้าวล่วงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น