xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” ชี้ “ปู” ไม่ใช่ ปธน. ทูลเกล้าฯ มีปัญหาต้องรับผิดชอบ จี้ดึงกลับมาตรวจสอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปธ.วิปค้านตอก “ค้อนปลอม” ไร้อำนาจวินิจฉัยเรื่องค้านแก้ที่มา ส.ว.ส่งศาล ทำเฉยถือว่าละเว้นหน้าที่ อุบไต๋ยืนถอดรอบ 3 หรือไม่ ย้อนของพวกตัวเองส่งอย่างไว เตรียมยื่นหนังสือนายกฯ ทบทวนทูลเกล้าฯ ที่มา ส.ว. ขอให้ดึงกลับสอบความถูกต้อง ฉะ “ปู” ไทยไม่ได้ใช้ ปธน. ลอยตัวหนีความรับผิดชอบไม่พ้น เชื่อศาลตีร่างฯ ตกไม่เดดล็อกทางการเมือง ปัดตอบ รัฐสภาใช้มติวีโต้ หาก “ในหลวง” ไม่พระราชทานคืน ยันไม่เห็นด้วยแก้ รธน.ไม่ผิด กม. ดักกุ๊ยแดงอย่าขู่ศาล



วันนี้ (2 ต.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน เรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทบทวนการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาและคุณสมบัติ ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการตรากฎหมายว่าอาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และฝ่ายค้านได้ยื่นให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 154 แล้ว โดยนายสมศักดิ์ไม่มีหน้าที่ใช้ดุลพินิจว่าจะไม่ส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยกรณีที่เคยยกคำร้องพรรคเพื่อไทยที่ขอให้ตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ โดยระบุว่า มาตรา 154 จะใช้บังคับเฉพาะการตรากฎหมายที่ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเป็นบรรทัดฐานในกรณีนี้ได้ เพราะประเด็นข้อเท็จจริงแตกต่างกัน ผู้ที่มีอำนาจวินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ประธานรัฐสภา เนื่องจากศาลอาจวินิจฉัยแตกต่างจากเดิมก็ได้

นายจุรินทร์กล่าวว่า เนื่องจากกระบวนการพิจารณาชัดเจนว่าเนื้อหาไม่ชอบ มีการกดบัตรแทนกัน และปลอมร่างตั้งแต่ที่เสนอเข้าสู่สภา และร่างที่เข้าสภาในตอนรับหลักการเป็นคนละร่างกัน อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขภายหลังที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนตามกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงแตกต่างจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ ดังนั้นต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย ไม่ใช่ประธานรัฐสภาวินิจฉัยเองว่าจะไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยอ้างคำวินิจฉัยเดิม ทั้งนี้หากมีการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบด้วยการไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ถือว่าประธานรัฐสภาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่ขอพูดล่วงหน้าว่าจะยื่นถอดถอนซ้ำเป็นครั้งที่สามหรือไม่

“ขณะนี้หนังสือที่ยื่นไปประธานรัฐสภาก็ยังไม่ทำอะไร ถือว่าช้าแล้วเพราะเป็นสองมาตรฐาน ขณะที่ร่างแก้รัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 ส่งภายใน 3 นาที แต่ญัตติของฝ่ายค้านที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 154 ผ่านมา 5 วันแล้วก็ยังไม่มีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ และนายกฯ รับทราบถึงปัญหาดังกล่าว จะอ้างคำวินิจฉัยเดิมไม่ได้ เพราะศาลอาจจะรับคำร้องก็ได้ จะวินิจฉัยแทนศาลไม่ได้ ไม่ใช่ประธานรัฐสภาใช้ดุลพินิจเอง ถ้าทำอย่างนั้นก็ต้องเผชิญกับการทำผิดรัฐธรรมนูญอีกวาระหนึ่ง เพราะผู้วินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าประธานฯก็ทราบดีว่าถ้าทำอย่างนั้นก็เข้าข่ายทำผิดรัฐธรรมนูญ” นายจุรินทร์กล่าว

ประธานวิปฝ่ายค้านยังเตรียมที่จะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้ขอทบทวนเรื่องที่มีการทูลเกล้าฯ แล้วโดยสามารถขอเรื่องกลับมาได้ เพราะเพิ่งส่งเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 56 หรือแม้แต่ในวันพรุ่งนี้ 3 ต.ค. 56 ก็ยังอยู่ในวิสัยที่จะถอนเรื่องกลับมาได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากการนับกรอบเวลา 20 วันที่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามรัฐธรรมนูญนั้นเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.56 วันครบกำหนด 20 วันคือ วันที่ 17 ต.ค. 56 แต่ขณะนี้เพิ่งเข้าวันที่ 1 ต.ค.นายกฯ ก็ทูลเกล้าฯ แล้ว ทั้งที่ยังมีเวลา จึงแสดงให้เห็นว่านายกฯ มีเจตนาเร่งรัดทูลเกล้าฯ โดยไม่สำเหนียก ไม่สนใจต่อคำทักท้วงของฝ่ายต่างๆ และไม่สนใจศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังวินิจฉัยอยู่ว่าคดีมีมูลโดยรับคำฟ้องตามมาตรา 68 ไปแล้ว

ทั้งนี้ หากนายก ฯยังเดินหน้าต่อก็ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นด้วย จะอ้างว่าเป็นฝ่ายบริหารมีหน้าที่ส่งตามที่ฝ่ายนิติบัญญัติเสนอมาไม่ได้ เพราะนายกฯ เป็น ส.ส.และได้ร่วมลงมติเห็นชอบในวาระ 3 ด้วย จึงต้องเข้าใจว่าระบอบประชาธิปไตยของไทยไม่ใช่ระบบประธานาธิบดีที่ฝ่ายบริหารแยกออกจากฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้นจึงไม่พ้นความรับผิดชอบของนายกฯเพราะรู้ว่ามีปัญหาแต่รีบร้อนนำขึ้นทูลเกล้าฯในร่างที่มีข้อสงสัยและมีมลทิน เป็นสิ่งที่นายกต้องใช้ดุลพินิจได้ว่าบังควรหรือไม่ เพราะมีเวลาที่จะรอได้ ดังนั้นอะไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนายกต้องรับผิดชอบ เพราะอย่างน้อยก็ทำในสิ่งที่ไม่บังควรแล้ว จะอ้างกรอบ 20 วันไม่ได้ เพราะยังมีเวลาเหลืออยู่แต่นายกฯ เลือกที่จะไม่รอ แม้การยื่นหนังสือขอให้ทบทวนจะไม่ได้ผลแต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่านายกฯ ได้รับทราบปัญหาแล้วอีกครั้งหนึ่ง

“รัฐบาลต้องบริหารราชการแผ่นดินโดยความรับผิดชอบต่อสภา เพราะไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี นายกต้องเข้าใจระบบนี้เพราะไปจากสภาจะลอยตัวไปไม่ได้ เนื่องจากคุณสมบัติการเป็นนายกฯ ต้องเป็น ส.ส.ก่อน ยิ่งพูดว่าฝ่ายบริหารเป็นคนละส่วนกับนิติบัญญัติ ยิ่งสะท้อนความไม่เข้าใจหรือแกล้งไม่เข้าใจ ตอนนี้พวกเดียวกันก็ช่วยกันอุ้มที่บอกว่านายกฯ ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่ความจริงคือนายกฯ จะไม่รับผิดชอบได้อย่างไร” นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวด้วยว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญในระหว่างที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็จะไม่ทำให้เกิดเดดล็อกทางการเมือง แค่ร่างตกไปเท่านั้น แต่ถ้าศาลตัดสินหลังจากที่มีการบังคับใช้แล้วก็เคยมีตัวอย่างกฎหมาย 4 ฉบับว่า กระบวนการมิชอบเพราะองค์ประชุมไม่ครบกฎหมายก็ตกไป อย่างไรก็ตามยังไม่ขอให้ความเห็นกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอาจไม่พระราชทานกฎหมายกลับมา และรัฐสภาโดยเสียงข้างมากอาจลงมติยืนยัน (วีโต้) ร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะยังเป็นเรื่องที่ไกลออกไป แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วก็ผูกพันทุกองค์กร และถือเป็นที่สุด

ประธานวิปฝ่ายค้านยังไม่ให้ความสนใจกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะไปยื่นดำเนินคดีกับพรรคประชาธิปัตย์ว่าขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157 เพราะพวกตนไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิโดยชอบของ ส.ส.และประชาชน อีกทั้งการดำเนินการที่ผ่านมาก็ทำตามกฎหมายและกรอบของรัฐธรรมนูญ จะไปยื่นดำเนินคดี 157 ก็ยื่นได้เพราะสุดท้ายไม่มีความผิดอะไร ตรงกันข้ามกลับสะท้อนว่ารัฐบาลกำลังข่มขู่ คุกคาม การทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน เพราะพวกตนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ การไม่เห็นด้วยไม่ผิดกฎหมาย

ส่วนกรณีที่คนเสื้อแดงเริ่มขยับเพื่อกดดันศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอิสระในการดำเนินการและไม่ควรสร้างกระแสใดๆ เพื่อกดดัน เพราะต้องเคารพการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กร



กำลังโหลดความคิดเห็น