หัวหน้าประชาธิปัตย์ จับตา “สมศักดิ์” แจ้งรัฐระงับทูลเกล้าฯ แก้ รธน.หรือไม่ งงทำทำไมทั้งๆ ที่มีปัญหา แนะรอดูท่าทีศาล รธน. จวกส่อกดดันศาล แสดงเจตนาชัดไม่เคารพตุลาการ “ถาวร” ชี้มิบังควร ยันไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน สับเดินหน้าชนสถาบัน
วันนี้ (30 ก.ย.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.ว่า ขั้นตอนแรกคือนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ต้องตัดสินใจว่าเมื่อมีคำร้องให้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ จะแจ้งรัฐบาลให้ระงับการทูลเกล้าฯ หรือไม่ การอ้างว่าศาลคงไม่รับเป็นความเห็นนายสมศักดิ์ และเมื่อส่งเรื่องไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ก็มีเวลาตามกรอบของรัฐธรรมนูญ และทราบอยู่แล้วว่าศาลรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา จึงไม่ทราบว่าเหตุใดรัฐบาลต้องประกาศว่าวันที่ 1 ต.ค. จะทูลเกล้าฯ และไม่รอแล้ว ทั้งที่ยังมีปัญหาอยู่ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทำไม ควรเก็บไว้เพื่อดูท่าทีว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีแนวโน้มพิจารณาอย่างไร และไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างการทูลเกล้าฯ ตนค่อนข้างเชื่อว่าถ้าศาลพิจารณาไม่ทันอาจจะมีคำสั่งออกมา ทุกคนก็ทำหน้าที่ตัวเองสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ แต่หากทูลเกล้าฯ แล้วเกิดปัญหาขั้นตอนที่จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ต้องมีปัญหาอีกว่าศาลตัดสินมาแล้วจะปฏิบัติอย่างไร หากชัดว่าศาลพิจารณาไม่ทัน ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างนั้นมีเหตุผล ไม่มีใครว่าอยู่แล้ว
ต่อข้อถามว่าหากวันที่ 1 ต.ค.นี้ นายกฯ จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลแล้ว มองอย่างไร นายอภิสิทธิ์ตอบว่ามองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเป็นการกดดันว่าถ้าใช้วิธีนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วจะทำให้ศาลมีแรงกดดันมากขึ้น ถ้าตัดสินว่าไม่ชอบก็จะยุ่ง เพราะเรื่องทูลเกล้าฯ แล้วและคงเป็นความพยายามสร้างกระแสกดดัน ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะเรื่องที่ยังมีข้อโต้แย้งและอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ นำความขึ้นกราบบังคมทูล เรื่องนี้นายกฯ ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้มีปัญหาในขั้นตอนที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ทั้งนี้เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการแสดงเจตนารมณ์อยู่แล้วว่าไม่เคารพศาลรัฐธรรมนูญ เห็นได้จากการพูดหลายครั้งมีลักษณะข่มขู่ศาล
ด้านนายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเตือนว่า เป็นเรื่องที่มิบังควร เพราะจะกระทบต่อเบื้องพระยุคลบาท เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่เร่งด่วนที่เป็นวิกฤตของประเทศชาติ รัฐบาลควรรอตามที่กฏหมายกำหนด คือ 20 วัน เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน ที่จะนำขึ้นการทูลเกล้าฯ แม้ร่าง พ.ร.บ.นี้จะผ่านการโหวตวาระ 3 แล้ว เพราะขั้นตอนจากนี้ถือเป็นปมร้อนที่จะเกิดความขัดแย้ง หากนายกฯเร่งนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วยังไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ที่กำหนดว่าร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและ พระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องนำร่าง พ.ร.บ.นั้นมาปรึกษากันใหม่ หากยังมีมติยืนยันตามเดิมด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา ให้นายกฯ นำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ อีกครั้ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยใน 30 วัน ให้นายกฯ ประกาศในพระราชกิจจาบังคับใช้เป็นกฎหมายได้
“กรณีนี้ถือว่าเป็นการเดินหน้าชนสถาบันอย่างแน่นอน ทั้งที่การตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา เพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่มีปัญหาความเห็นต่างในข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญโดยตรง จึงควรรอคำวินิจฉัยของศาลก่อน เพราะเป็นการออกแบบให้มีการถ่วงดุลการใช้อำนาจกันและกัน” นายถาวรกล่าว