“จุรินทร์” เผยวิปค้านหนุน พ.ร.บ.วิชาชีพ สธ.ชุมชน พรุ่งนี้ ยื่นญัตติแก้น้ำท่วมเหลว 3 ต.ค. ชงกระทู้นายกฯ คืบหน้าสร้างฟลัดเวย์-แก้มลิงแก้น้ำท่วม ฉะ สนง.เลขาฯ สภา ดองเรื่องค้านแก้ที่มา ส.ว. แต่ร่างเห็นชอบกลับถึงนายกฯ แล้ว เตือนส่อละเว้นหน้าที่ กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ ชี้ทูลเกล้าฯ ไม่เหมาะ ควรรอศาลวินิจฉัย อย่าผลักภาระไปให้สถาบัน ยันแก้ รธน.ต้องตรวจแบบ พ.ร.บ. ด้าน “ยะใส” ฝาก 5 คำถาม “ปู” ฝืนทูลเกล้าฯ ส่อวิกฤตการเมือง
วันนี้ (1 ต.ค.) ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปค้าน) แถลงภายหลังการประชุมว่า การประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 2 ต.ค.วิปฝ่ายค้านจะเสนอญัตติขอเลื่อนร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขชุมชนขึ้นมาพิจารณาก่อน ตามที่วุฒิสภาเห็นชอบแล้ว และจะขอให้ที่ประชุมงดใช้ข้อบังคับเพื่อให้สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ทันที โดยฝ่ายค้านมีมติความเห็นสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ขณะที่การประชุมสภาฯ วันที่ 3 ต.ค. พรรคประชาธิปัตย์ก็จะได้เสนอญัตติด่วนเรื่องความล้มเหลวการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้น้ำท่วมแล้วกว่า 24 จังหวัด กระทบต่อประชาชน 2 ล้านกว่าคน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 33 ราย นอกจากนี้ยังจะได้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีถึงความคืบหน้าโครงการสร้างฟลัดเวย์ (flood way) และโครงการแก้มลิงว่าไปถึงไหนแล้ว และปัญหาน้ำท่วมจะกระทบต่อข้าวหรือไม่อย่างไร รัฐบาลมีแนวป้องกันไว้อย่างไรบ้าง ไม่ใช่ฉวยโอกาสอ้างความผิดให้กับน้ำ
นายจุรินทร์ยังกล่าวถึงกรณีภายหลังจากที่รัฐสภามีมติเห็นชอบผ่านวาระ 3 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่มา ส.ว.ว่า หลังจากการลงมติวาระ 3 เพียงไม่กี่นาที ฝ่ายค้านก็ได้มีการยื่นเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 (1) และขอให้ประธานรัฐสภาเสนอความเห็นไปยังนายกฯ ในเรื่องความชอบธรรมของการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว แต่เท่าที่ทราบเรื่องร้องศาลรัฐธรรมนูญของพวกตนที่ส่งผ่านไปยังประธานรัฐสภา ยังค้างอยู่ที่สำนักประธานรัฐสภา และก็ยังไม่มีการส่งเรื่องแจ้งนายกฯ ให้ทราบ ขณะที่เรื่องความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ กลับส่งเรื่องไปยังนายกฯ แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานในการดำเนินการที่แตกต่างกัน และแสดงให้เห็นถึงการพยายามเปิดช่องเร่งให้นายกฯ นำร่างที่มีมลทินขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ซึ่งหากประธานรัฐสภายังชักช้าในการส่งเรื่องของสมาชิกรัฐสภาอีก ก็อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย มาตรา 157 จนอาจถูกยื่นถอดถอนได้เช่นกัน
ด้าน พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา พร้อมด้วยกรรมาธิการร่วมกันแถลงว่า สืบเนื่องจากกรณีที่รัฐสภาได้ผ่านวาระ 3 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. และได้ส่งเรื่องให้นายกฯ เพื่อทูลเกล้าฯตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่านายกฯ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ กรรมาธิการเห็นว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ การนำขึ้นทูลเกล้าฯ น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นการผลักภาระให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ตัดสินพระทัยที่จะทรงพระปรมาภิไธยหรือไม่ ดังนั้น นายกฯ ควรต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีให้เสร็จสิ้นก่อนแม้จะเกิน 20 วันก็ตาม
“ขอกราบเรียน ฯพณฯ นายกฯ ได้โปรดพิจารณาไตร่ตรอง เพื่อแสดงภาวะความเป็นผู้นำตัดสินใจเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเอง เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ มิให้มาเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งโดยที่ศาลยังไม่วินิจฉัย” พล.อ.เลิศฤทธิ์กล่าว
เมื่อถามการออกมาคัดค้านของ ส.ว.สรรหาอาจถูกมองว่าทำเพื่อตัวเอง พล.อ.เลิศฤทธิ์กล่าวว่า คนละเรื่องกัน แต่เราทำหน้าที่กรรมาธิการฯ และมองเห็นเรื่องที่จะทำให้ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท ยืนยันว่าไม่ได้พูดเพื่อให้ตัวเอง เพราะอย่างไรเราก็ต้องไปอยู่แล้ว แต่เราต้องการพูดถึงเรื่องการถ่วงดุลการตรวจสอบในสภา ไม่ใช่ต้องใช้เสียงข้างมากอย่างเดียว
ส่วน พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ก่อนที่จะนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ แม้เป็น พ.ร.บ. ซึ่งมีศักดิ์เป็นรองกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ยังตรวจสอบความถูกต้อง แต่ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายที่ใหญ่กว่า และมีความสำคัญ ก็ต้องได้รับการตรวจสอบเช่นเดียวกันว่ากระบวนการชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ไม่ใช่ประเด็นว่าขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะสมาชิกไม่มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งผ่านการประชามติของประชาชนถึง 14 ล้านคน
ขณะที่นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มา ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วต่อมาภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขฯ ขัดรัฐธรรมนูญ จะเกิดปัญหาตามมาจนอาจกลายเป็นวิกฤตการเมืองในที่สุด และนายกฯ ต้องตอบคำถามสังคมอย่างน้อย 5 คำถาม คือ 1. นายกฯ รู้ทั้งรู้ว่ากระบวนการพิจารณาโดยเฉพาะขั้นตอนลงมติในวาระที่ 2 ส.ส.พรรครัฐบาลเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันมีคลิปที่เป็นหลักฐานชัดเจนและคนในคลิปก็ออกมายอมรับ แต่นายกฯ กลับนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แปดเปื้อนมีมลทินขึ้นทูลเกล้าฯ ถือเป็นการกระทำที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทหรือไม่
2. นายกฯ และพรรคเพื่อไทยรู้ดีว่าร่างแก้ไขฯ รัฐธรรมนูญมีปัญหา ทั้งกระบวนการพิจารณา และเนื้อหาสาระที่ส่อว่าจะขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา และถูกจับได้ว่าเป็นร่างฯ ปลอม ผู้รู้หลายฝ่ายออกมาทักท้วงแต่นายกฯ และพรรคเพื่อไทยก็ดันทุรังจะทูลเกล้าฯ การกระทำดังกล่าวถือเป็นการจงใจกดดันและเผชิญหน้ากับศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
3. ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้ร่างฯ พ.ร.บ.ขัดรัฐธรรมนูญ จนตัองกลายเป็นโมฆะและตกไป เพราะมีปัญหาความชอบธรรมของกระบวนการพิจารณาทั้งเรื่ององค์ประชุมและการลงคะแนน การเสียบบัตรแทนกัน ถือเป็นปัญหาความชอบธรรมของกระบวนการพิจารณาหรือไม่
4. ในขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องคัดค้านการการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้แล้ว 5 คำร้อง และไม่ใช่รับไว้ในขั้นตอนธุรการเท่านั้น แต่รับไว้ในขั้นพิจารณาของที่ประชุมตุลาการ ซึ่งถือว่ามีมูลแล้ว หากนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถือเป็นการแทรกแซงอำนาจตุลาการหรือไม่ และ 5. ถ้าศาลวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขฯ ขัดรัฐธรรมนูญ แล้วนายกฯ จะรับผิดชอบอย่างใรเพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานความรับผิดชอบทางการเมือง เมื่ออ้างว่าการทูลเกล้าฯ เป็นหน้าที่ ก็ต้องมีความรับผิดชอบตามมา ถ้าหากการทำหน้าที่นั้นแล้วผิดหรือมิชอบ