xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.ไต่ส่วนแก้ที่มา ส.ว.เรียบร้อย นัดฟังวินิจฉัย 20 พ.ย. ติง “สุวิจักขณ์” ตีมึน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาล รธน.ไต่สวนแก้ที่มา ส.ว.ขัด ม.68 เสร็จสิ้น นัดฟังคำวินิจฉัย 20 พ.ย. เลขาฯ สภาจอมฉาวเลี่ยงตอบคำถาม ทั้งแก้มาตราเพิ่ม-ตอกบัตรแทน เจอตุลาการติงเป็นผู้บริหารดูแลกลับไม่รู้เรื่อง

วันนี้ ( 8 พ.ย.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนายจรูญ อินทจาร เป็นประธานฯ ได้ออกนั่งบัลลังก์เริ่มไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. เข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ต้องยุบ 6 พรรคร่วมรัฐบาลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคหรือไม่แล้ว โดยนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ที่เข้าถวายสัตย์เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ก็ได้ออกนั่งบัลลังก์ด้วย ซึ่งพยานที่ศาลฯกำหนดให้เข้าไต่สวนรวม 10 ปาก แต่ปรากฏว่ามีพยานเข้าไต่สวนเพียง 8 ปาก ประกอบด้วย 1. พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา 2. นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ 3. น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร 4. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ 5. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา 6. น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ 7. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ และ 8. นายปฏิพล อากาศ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายสุรเดช จิรัฐติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี ผู้ถูกร้องที่ 293 ส่วนผู้ถูกร้องคนอื่น คือนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภารวม 311คน ไม่ได้เข้าไต่สวน

นอกจากนี้ ศาลยังได้เรียก นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนางอัจฉรา จูยืนยง ผู้อำนวยการกลุ่มงานโสตทัศนูปกรณ์ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มาเป็นพยานของศาลเข้าไต่สวนด้วย ทั้งนี้ พยานฝ่ายผู้ร้องทั้ง 7 ปากต่างให้ถ้อยคำสอดคล้องกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ดังกล่าว ทั้งเนื้อหาและกระบวนการแก้ไขขัดต่อรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา อาทิ การเสนอญัติติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำมาให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 1 ก็เป็นคนละฉบับกับกับที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ผู้เสนอร่างและคณะยื่นต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลอม ส.ว. ผู้ที่ลงชื่อเสนอร่างแก้ไขเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับเนื้อหาสาระที่มีการแก้ไข เนื้อหาที่แก้ไขเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้องค์กรวุฒิสภาเป็นองค์กรตรวจสอบ กลั่นกรอง การใช้อำนาจรัฐ กระบวนการพิจารณาของรัฐสภามีการตัดสิทธิการอภิปรายของผู้สงวนคำแปรญัตติ การพิจารณาไม่ได้เรียงเป็นรายมาตรา มีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน เป็นการลิดรอนอำนาจการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยังมีพฤติกรรมบ่งชี้ว่ามีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันในการเสนอและลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่าง ส.ส. และ ส.ว.

โดย พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวทำสำเร็จจะทำให้องค์กรวุฒิสภากลายเป็นองค์กรที่มีที่มาลักษณะเดียวกับองค์กรสภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นพวกเดียวกับ ส.ส. และฝ่ายบริหาร ทำให้การเป็นองค์กรตรวจสอบถูกทำลาย อีกทั้งการที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวกำหนดว่าภายใน 120 วันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้รัฐสภาดำเนินการพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ที่ กกต. เสนอให้แล้วเสร็จ หากพ้นระยะเวลาดังกล่าว หรือมีเหตุอื่นใด ทำให้รัฐสภาไม่สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ให้แล้วเสร็จ ได้ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบเสนอต่อนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถือว่าเป็นการลิดรอนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีหน้าที่ต้องวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับ รวมทั้งยังเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ด้วย จึงถือว่าการกระทำเหล่านี้ของฝ่ายผู้ถูกร้องเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ด้านนายวิรัตน์ กล่าวว่า การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวภาษาสภาฯ เขาเรียกว่า “ผลัดกันเกาหลัง” คือมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันระหว่าง ส.ส. ส.ว. โดยให้ ส.ว. เสียงข้างมากเป็นผู้เสนอและให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เกี่ยวกับการกระทำใดที่เข้าข่ายเป็นสนธิสัญญาไม่ต้องเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากรัฐบาลต้องการที่จะไปทำสัญญากับกัมพูชาในเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ทางทะเล ขณะเดียวกันเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ก็เสนอกับการแก้ไขที่มาของ ส.ว. และมีการสอดใส่เพิ่มมาตราที่เป็นปลดล็อคให้ ส.ว. ที่กำลังจะหมดวาระในเดือน มี.ค. 2557 สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. ได้ทันทีไม่ต้องเว้นวรรค รวมทั้งมีหลักฐานชัดเจนเป็นทั้งภาพและเสียงของการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวในวันที่ 10 ก.ย. ที่พบว่ามีการเสียบบัตรลงมติแทนกันของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย

“ผมคิดว่าประเทศไทยรัฐสภาไม่ใช่องค์กรสูงสุด แต่เป็นศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นการเมืองไทยก็ใช้อำนาจเสียงข้างมากลากไปได้ เวลาเชื่อว่าคนไทยทุกคนรู้ว่าบ้านเมืองกำลังจะกลายเป็นอะไร จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพราะผมเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ผิดทั้งวิธีสารบัญญัติและสบัญญัติ และมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญชัดเจน” นายวิรัตน์ กล่าว

ด้านนายไพบูลย์ กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะร่างแก้ไขฯ ที่เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจาณณาวาระ 1 เป็นคนละร่างกันกับนายอุดมเดช เสนอสำนักเลขาธิการสภาฯ จึงถือว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นร่างปลอม เพราะอนุกรรมาธิการตรวจสอบการทุจริตของวุฒิสภาที่ตนเองเป็นประธานก็ได้เรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาสอบถามก็ยืนยันว่ามีเจ้าหน้าที่มายื่นขอให้แก้ไขร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว กับสำนักเลขาธิการวุฒิสภาในวันเสาร์ที่ 23 มี.ค. และเป็นการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นสาระสำคัญเพราะเป็นการเพิ่มขึ้นมาอีก 1 มาตราเลย โดยเป็นประเด็นเกี่ยวกับให้ผู้ที่เป็น ส.ว. อยู่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. ได้เลยไม่ต้องเว้นวรรค ซึ่งตามหลักแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำเป็นญัตติและเสนอโดยสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด ดังนั้นถ้าจะแก้ไขก็ต้องทำเป็นญัญติขอแก้ไขใหม่ ไม่ใช่มายื่นแก้ไขในลักษณะนี้

“เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภาที่ไปสอบก็ยืนยันว่า มีเจ้าหน้าที่ของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมาขอยื่นแก้ไขร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และบอกว่าจำไม่ได้ว่าเป็นใคร แต่ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผมเชื่อว่าเลขาสภา ประธานรัฐสภา และนายอุดมเดช รัตนเสถียร ผู้ที่เสนอร่างแก้ไข น่าจะสมคบกับปลอมญัตติ และใช้ญัตติปลอม ซึ่งถือการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” นายไพบูลย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม การไต่สวนคณะตุลาการให้ความสนใจในประเด็น ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสียบบัตรแทนกัน และประเด็นที่มีการกล่าวหาว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ส่งให้วุฒิสภาพิจารณาเป็นคนละฉบับกับที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบเป็นอย่างมากเมื่อไต่สวนพยานถึงปาก น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ พยานที่ผู้ร้องนำมาเบิกความในฐานะเป็นเจ้าของคลิปคลิปวีดีโอการประชุมรัฐสภาในวันที่ 10 ก.ย. และผู้อยู่ในเหตุการณ์ประชุมรัฐสภา รวมทั้งนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ศาลก็ได้มีการซักถามอย่างละเอียดพร้อมกับให้ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเปิดคลิปวีดีโอการประชุมดังกล่าวประกอบการซักถามด้วย ซึ่ง น.ส.รังสิมา กล่าวว่า ตนเองเป็น ส.ส. มา 4 สมัย ต่อสู้เรื่องการเสียบบัตรแทนกันมาตลอด เห็นเหตุการณ์เสียบบัตรแทนกันในการลงมติเรื่องอื่นๆ หลายครั้ง เคยร้องคณะกรรมาธิการจริยธรรมสภาก็ไม่ได้เคยทำอะไรได้ ร้องต่อหน้าประธานที่ประชุมสภาขณะเกิดเหตุ ประธานก็จะตัดบทปิดประชุม จึงพยายามให้เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพเพื่อให้เป็นหลักฐานเอาผิด

“ก่อนหน้านี้นายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย มีการเสียบบัตรแทนสมาชิกคนอื่นในประชุมสภาที่พิจารณาเรื่องอื่นๆ หลายครั้ง ทั้งเสียบบัตรเพื่อให้องค์ประชุมครบ และเสียบบัตรลงมติ เขาจะรับผิดชอบเสียบบัตรแทนสมาชิกคนอื่นประมาณ 8 คน โดยตามหลักแล้ว ส.ส. แต่ละคนจะมีบัตร 2 ใบ คือบัตรจริง และบัตรสำรอง ถ้าหากมาประชุมก็จะไม่ฝากบัตรให้นายนริศรเสียบให้ แต่ถ้าไม่มา หรือไม่อยู่ก็จะฝากบัตรให้นายนิรศรดำเนินการ ซึ่งดิฉันก็จับเขามาตลอด พอเขาเริ่มรู้ตัวว่ามีคนคอยจับตา ก็จะเปลี่ยนที่นั่งไปเรื่อยๆ การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ดิฉันอยู่ในเหตุการณ์ พอจะลงมติก็จะโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ที่อยู่ข้างบนให้ทราบว่านายนริศรนั่งตรงไหน และให้ถ่ายภาพเก็บไว้ และได้หลักฐานมายื่นต่อศาล มีทั้งหมด 3 คลิปมีทั้งภาพด้านหน้า ด้านหลัง จะเห็นเลยว่าเขาเสียบบัตรแทนสมาชิกคนอื่น หรือแม้แต่พอปรากฏเป็นข่าว นายนริศรเองก็ยอมรับว่าภาพบุคคลที่ปรากฏในคลิปวีดีโอเป็นตัวเอง แต่บอกว่าไมได้เสียบบัตรแทนคนอื่น” น.ส.รังสิมา กล่าว

น.ส.รังสิมา กล่าวว่า การเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. มีเยอะ ส.ส. 1 คนจะรับผิดชอบเสียบบัตรแทน 4-5 บัตร ซึ่งการจับผิดก็ทำได้ยาก เพราะ ส.ส. ที่รับงานจะพยายามเลือกเสียบบัตรในมุมที่ยากจะบันทึกภาพได้ รวมทั้งระบบคอมพิวเตอร์ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าช่องเสียบบัตรแต่ละช่อง บัตรที่ถูกเสียบเป็นของใคร และมีบัตรถูกเสียบในช่องนี้กี่ครั้ง ระบบถูกตั้งให้ป้องกันแค่ไม่ให้สมาชิกคนหนึ่งลงคะแนน 2 ครั้งเท่านั้น

ด้านนายสุวิจักขณ์ ก็ได้ตอบคณะตุลาการฯ กรณีที่ถามว่า ได้ทราบ และตรวจสอบหรือไม่ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นายอุดมเดช เสนอกับร่างที่สมาชิกรัฐสภาเสนอเป็นคนละฉบับกัน ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีฉบับเดียว และฉบับที่เสนอเข้ามากับฉบับที่ให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาก็เป็นฉบับเดียวกัน แต่ในชั้นแรกตนเองก็ไมได้มีการตรวจสอบเปรียบเทียบร่างที่นายอุดมเดช กับร่างที่สภาส่งให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาว่ามีเนื้อสาระตรงกันหรือไม่ เพราะขณะนั้นไม่อยู่ และที่อ้างว่าเป็นคนละฉบับตนเองก็รู้เมื่อมีการนำเสนอข่าวออกไป ซึ่งในทางปฏิบัติหากประธานรัฐสภายังไม่สั่งบรรจุวาระการประชุมผู้ยื่นสามารถเสนอแก้ไขเพิ่มเติมได้อยู่แล้วในเวลาราชการ หรือวันเวลาที่มีการประชุมรัฐสภา อย่างไรก็ตามตนไม่ทราบว่าประเด็นดังกล่าวอนุกรรมาธิการของวุฒิสภามีการตรวจสอบและมีผลออกมาว่ามีเจ้าหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรไปยื่นขอแก้ไขร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นายอุดมเดชยื่นไว้ ในวันที่ 23 มี.ค.

ทั้งนี้ คำถามของนายสุวิจักขณ์ ทำให้คณะตุลาการซักถามในเชิงตำหนิว่าเป็นผู้บริหารโดยตรงไม่ทราบเลยหรือว่ามีการตรวจสอบของอนุกรรมาธิการฯ วุฒิสภา และมีผลออกมาเป็นอย่างไร รวมทั้งเมื่อมีการโต้แย้งเหตุใดจึงไม่มีการดำเนินการตรวจสอบ โดยคณะตุลาการได้ขอให้นายสุวิจักขณ์นำส่งต้นฉบับของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีเจ้าหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรไปยื่นขอแก้ในวันที่ 23 มี.ค. แล้วก่อนที่จะนำมาสู่การเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณา และเมื่อศาลได้ซักถามถึงกรณีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันของ ส.ส. โดยเปิดคลิปวีดีโอให้ดู นายสุวิจักขณ์ กล่าวว่า ภาพตามคลิปวีดีโอตนไม่แน่ใจว่าเป็นการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันหรือไม่ เพราะเห็นมีบัตร 2 ใบ ซึ่งอาจเป็นการเสียบบัตรบัตรแสดงตนและบัตรลงคะแนน ทำให้คณะตุลาการฯ ซักว่า ตามข้อบังคับการประชุมให้สมาชิกเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันได้หรือไม่ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก็กล่าวว่า ข้อบังคับเขียนไว้กว้างๆ ว่าการแสดงตนและการลงคะแนนให้สมาชิกใช้วิธีการเสียบบัตร

ทำให้นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ กล่าวซักนายสุวิจักขณ์ เชิงตำหนิว่า “ท่านเป็นเลขาท่านต้องรู้สิ ท่านเป็นเลขามากี่ปี ตอบไม่ได้ ผมว่าท่านต้องพิจารณาตัวเอง ท่านเป็นนักกฎหมาย ผมขอถามท่านในฐานะนักกฎหมาย ดูจากรูปในคลิปเนี่ย มันผิดไหม ท่านไม่ต้องเข้าข้างใครนะครับ เพราะท่านไม่ได้เป็นคนทำ ผมถามท่านเห็นอย่างนี้ท่านว่ามันผิดไหม” นายสุวิจักขณ์ จึงตอบว่า คิดว่าการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันตามข้อบังคับทำไม่ได้

อย่างไรก็ตามการไต่สวนครั้งนี้ใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง โดยหลังการไต่สวนศาลแจ้งว่าคู่กรณีทราบว่า การที่นายชวน หลีกภัย พยานผู้ร้อง และนายสุรเดช พยานผู้ถูกร้อง ขอเลื่อนการไต่สวน ศาลไม่อนุญาต และเห็นว่าจากการไต่สวนข้อมูลเพียงพอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยแล้ว จึงให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องยื่นคำแถลงปิดคดีภายใน 7 วันนับแต่วันนี้หากไม่ยื่นถือว่าไม่ติดใจ และนัดคู่กรณีฟังคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 20 พ.ย. เวลา 11.00 น.


กำลังโหลดความคิดเห็น