ส.ว.เปิดอภิปรายตาม รธน.ม.161 “ยุทธนา” ยันผลตรวจสอบพบรัฐบาลเจ๊งจำนำข้าว 2 แสนล้าน หากยังเดินหน้าจะเพิ่มเป็น 1 ล้านล้าน แฉบริษัทที่รัฐบาลมอบให้ขายข้าวมี กก.บริหารเป็นเลขาฯ รมว.พาณิชย์ แถมไม่มีประสบการณ์ เป็นบริษัทส่งออกไม้ และก่อสร้าง ทำให้ กขช.ไม่กล้าแตะ “คำนูณ” ชี้โครงการจำนำข้าวสร้างบาปยกกำลัง 3 ให้ประเทศ จี้ทบทวนประชานิยม เกิดปัญหาเรื้อรังไม่รู้จบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมวุฒิสภา วันนี้ (28 ต.ค.) ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ได้มีวาระพิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม. )แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้นำ ครม.มารับฟังการอภิปราย
ทั้งนี้ นายนิคมแจ้งต่อที่ประชุมถึงกรอบเวลาในการอภิปรายว่า การอภิปรายในครั้งนี้จะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. เรื่องการรับจำนำข้าว 2. ปัญหาราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน 3. ปัญหาประมง และ 4. ผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ โดยกำหนดให้ ส.ว.มีสิทธิ์อภิปรายได้เพียง 10 นาที
ต่อมา พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี สว.สรรหา ในฐานะผู้เสนอญัตติได้อภิปรายเป็นคนแรกว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้เงินในการรับจำนำข้าวไปแล้วโดยไม่รวมค่าบริหารจัดการประมาณ 4.6 แสนล้านบาท แต่ขายข้าวได้เพียง 1.1 แสนล้านบาท ทั้งที่รัฐบาลลงทุนไปกับโครงการนี้ประมาณ 6 แสนล้านบาท ส่งผลให้ขาดทุนประมาณ 5 แสนล้านบาท
พล.ต.ท.ยุทธนากล่าวว่า ในกรณีของการจำหน่ายข้าวถุงนั้นคณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบเรื่องการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลจากโครงการรับจำนำข้าว วุฒิสภา ได้ตรวจสอบพบว่าคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวได้ดำเนินการผลิตข้าวถุงในราคาประมาณ 1.3 หมื่นบาทต่อตัน ซึ่งบริษัท เจียเม้ง จำกัด เป็นผู้รับปรับปรุงข้าวและขนส่งข้าวให้กับตามร้านค้าทั่วไป ปราฎว่าข้าวขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ไม่ได้รับความนิยม ต่อมาคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2555 ที่ผ่านมาให้ลดราคาเหลือประมาณ 7 พันบาทต่อตัน
พล.ต.ท.ยุทธนากล่าวว่า ขณะเดียวกันยังตรวจพบอีกว่าบริษัทที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดจำหน่ายข้าวถุงมีจำนวน 3 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท สยามรักษ์ จำกัด 2. บริษัทคอนไซน์ เทรดดิ้ง จำกัด และ 3. บริษัท ร่มทอง จำกัด ซึ่งทั้ง 3 บริษัททั้งหมดนี้ไม่เคยมีความรู้เรื่องการค้าขายข้าวมาก่อน โดยบริษัทสยามรักษ์ เป็นบริษัททำไม้กระดาษส่งออกต่างประเทศ บริษัท ร่มทอง ตั้งอยู่ที่เชียงใหม่เป็นบริษัทรับปลูกสร้างอาคารและบ้านจัดสรร เช่นเดียวกับบริษัท คอไซน์ ก็เป็นบริษัทที่รับก่อสร้างอยู่ใน กทม.
“ทำไม กขช.ถึงไม่ได้กำกับดูแลในเรื่องนี้ เพราะบริษัท สยามรักษ์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งเมื่อปี 2533 แต่ต่อมาปี 2553 เลขานุการของ รมว.พาณิชย์ เข้ามาเป็นกรรมการบริหารของบริษัท ซึ่งเลขานุการคนนี้ก็ยังเป็นคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการระบายข้าวของรัฐบาลเกือบทุกคณะด้วย” พล.ต.ท.ยุทธนากล่าว
พล.ต.ท.ยุทธนากล่าวว่า ปัญหาเหล่านี้ถ้าไม่ปรับปรุงจะทำความเสียหายให้กับโครงการรับจำนำข้าวอย่างมาก โดยในปีหน้าจะมีหนี้จากโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท และอาจจะถึง 8 แสนล้านบาท และ 1 ล้านล้านบาทในปีต่อๆ ไปตราบใดรัฐบาลยังไม่ทบวนโครงการนี้ ซึ่งระบบเศรษฐกิจไทยจะพังทั้งระบบ
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา กล่าวว่า นโยบายจำนำข้าวสร้างภาระหนี้สาธารณะให้กับประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นบาป 3 ประการ หรือ บาปยกกำลัง 3 บาปที่ 1 คือ การเกิดการทุจริตในทุกขั้นตอนของการดำเนินการ บาปที่ 2 การทุจริตในการทำลายข้าวไทยทั้งด้านคุณภาพและกลไกการตลาด และบาปที่ 3 เป็นการทุจริตที่อ้างทฤษฎีปฏิวัติสังคมมากล่าวอย่างน่าละอายด้วยการอ้างว่าชาวนาได้ประโยชน์
“อยากให้รัฐบาลเดินหน้าด้วยความกล้าหาญ ว่าจะปรับลดปริมาณการรับจำนำข้าว ไม่มีใครปฏิเสธนโยบายประชานิยม แต่ควรใช้ภายใต้ระยะเวลาจำกัดเพื่อเยียวยาอาการเบื้องต้นเท่านั้น ในทางกลับกัน หากยังใช้นโยบายประชานิยมต่อไปเรื่อยๆ จะมีผลให้ปัญหาเรื้อรังต่อไป”
นายคำนูณกล่าวว่า ทำไมรัฐบาลไม่เอาเงินที่บอกว่าขาดทุนปีละ 1 แสนล้านบาทมาพัฒนาเพิ่มมูลค่าการผลิต หรือการส่งเสริมการวิจัยข้าวทั้งระบบเพื่อให้กลับเข้ามาสู่กลไกตลาดได้เร็ว รวมไปถึงการสร้างโครงสร้างป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน