xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถังแตก!รีด ธ.ก.ส.1.4แสนล้านโปะจำนำข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อดีตปลัดกระทรวงการคลัง
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-คำอำลาสุดท้ายของนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ก่อนถูกย้ายจากปลัดกระทรวงการคลัง ไปเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาข้าราชกาพลเรือน (ก.พ.ร.) ที่ขอให้ข้าราชการยึดมั่นต่อการรักษาวินัยการคลัง รักษาความน่าเชื่อถือของกระทรวงการคลัง และอยากเห็นปลัดคลังคนใหม่ดูแลจัดสรรงบเพื่อดำเนินนโยบายของรัฐบาลด้วยความ เหมาะสมและโปร่งใสโดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวที่อาจมีผลต่อวินัยทางการคลัง สะท้อนว่าประเทศชาติเดินหน้าเข้าสู่โหมดหายนะทุกนาที
 
ก่อนลุกจากเก้าอี้ นายอารีพงศ์ ยังทิ้งทวนลงนามปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว 2 ปี 3 รอบฤดูกาลผลิตปี 54/55 และ 55/56 ตามที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ที่มีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานฯ เสนอขึ้นมา และหลังจากนั้นจะรายงานต่อคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบ
 
ตัวเลขปิดบัญชีจำนำข้าวที่ทำเอาทั้งเจ้านาย คือ นายอารีพงศ์ ต้องพ้นจากเก้าอี้ และลูกน้อง คือ นางสาวสุภา ต้องหลุดจากตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีจำนำข้าว เพราะแสลงใจรัฐบาลอย่างแรงนั้น ก็คือ ตัวเลขที่นางสาวสุภา ยืนยันว่า โครงการรับจำนำข้าวมีผลขาดทุนเฉลี่ยปีการผลิตละ 200,000 ล้านบาท ซึ่ง 2 ฤดูกาล 3 รอบ ตัวเลขขาดทุนออกมาใกล้เคียงกับที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาแฉว่า โครงการรับจำนำข้าว ขาดทุนไปแล้ว 4.25 แสนล้านบาท และหากคิดอย่างละเอียดจะขาดทุนกว่า 4.7 แสนล้านบาท
 
ขาดทุนมหาศาลขนาดนี้ ถ้าตกถึงมือชาวนาล้วนๆ ก็ไม่มีใครว่า แต่จริงๆ แล้ว ชาวนาได้รับประโยชน์แค่ 2.1 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกกว่าแสนล้านตกไปอยู่ในมือกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ชาวนามาทุจริตคอร์รัปชั่นเข้ากระเป๋ากันไป นี่ยังไม่นับข้าวหายอีกล้านกว่าตันที่จับมือใครดมยังไม่ได้
 
เจอตัวเลขเป็นหลักฐานที่แฉกันจะจะเช่นนี้ รัฐบาลที่บ้าอำนาจจึงจัดการเนรเทศคนทั้งสองที่ห่วงใยบ้านเมืองจะล่มจมเพราะโครงการนี้ออกพ้นวงโคจร และเมื่อนายอารีพงศ์ พ้นตำแหน่งไปแล้ว นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง คนใหม่ ก็ดึงเรื่องปิดบัญชีจำนำข้าวไปดูเอง โดยแก้เกี้ยวว่า ไม่ได้ปลดนางสาวสุภา ออกจากตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชี เพราะตำแหน่งนี้ปลัดกระทรวงการคลัง จะต้องเป็นผู้ดูแลเอง เพียงแต่ที่ผ่านมา นายอารีพงศ์ มอบหมายให้นางสาวสุภา เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ และยืนยันว่าไม่ได้มีใบสั่งการเมืองแต่อย่างใด
 
นายรังสรรค์ นั้นอวดว่า เคยเป็นบอร์ดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตั้งแต่ปี 2548 และตนเองเป็นนักบัญชี จึงเข้าใจเรื่องนี้ดี เมื่อหลายฝ่ายพูดกัน เข้าใจแตกต่างกัน ตัวเลขไม่ตรงกัน จึงอยากดูแลเรื่องนี้เอง
 
งานนี้ “นักบัญชี” แพลมออกมาด้วยแล้วว่า การปิดบัญชีนั้นไม่จำเป็นต้องขายข้าวให้หมดสต๊อกก่อน เพราะข้าวสามารถลงบัญชีไว้ได้และปิดบัญชีได้ในทุกปี อย่าตีขาดทุนทันที ส่วนการตีมูลค่าสินค้าคงเหลือนั้นหากไม่เชื่อกันก็เอาคนกลางมาประเมินตามราคาตลาดและค่าเสื่อมสภาพ
 
การขึ้นมาเป็นใหญ่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงคลัง ของผู้ที่เป็นบอร์ด ธ.ก.ส.มายาวนาน จึงทำให้รัฐบาลได้โอกาสทั้งล้วง ทั้งควัก เอาเงินจาก ธ.ก.ส. มาโปะโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิต 56/57 ที่ครม.อนุมัติกรอบวงเงินไว้ 2.7 แสนล้านบาท ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นายบุญไทย แก้วขันตี รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.นั่งยันนอนยันว่า ธ.ก.ส.ตั้งใจจะไม่ใช้เงินของ ธ.ก.ส. เพราะการจำนำข้าวฤดูกาลผลิตปี 55/56 ธ.ก.ส.ได้สำรองจ่ายไปก่อน 1.6 แสนล้าน ซึ่งต้องได้รับการชำระหนี้จากเงินขายข้าวของกระทรวงพาณิชย์เสียก่อน
 
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ผู้บริหาร ธ.ก.ส.ก็เปลี่ยนท่าทีจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส.ได้ออกมาพินอบพิเทารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ราวกับว่าเป็นนายบุญไทย กับนายลักษณ์ อยู่กันคนละแบงก์
 
ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เชลียร์รัฐบาลอย่างออกนอกหน้าว่า ขณะที่กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ กำลังหารือกันถึงแผนการเงินที่แน่นอนในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลใหม่ทั้งแหล่งที่มาของเงินและวงเงินที่จะใช้ดำเนินการ ทาง ธ.ก.ส. ได้เตรียมเงินสภาพคล่องในการดำเนินโครงการนี้จำนำข้าวในปี 2556/57 วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีการใช้สภาพคล่องของ ธ.ก.ส. 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งธ.ก.ส.พิจารณาแล้วว่าไม่กระทบกับความมั่นคงของธนาคาร โดยปัจจุบันธนาคารมีเงินฝากทั้งสิ้นประมาณ 1 ล้านล้านบาท และมีการสำรองเงินฝากสูงกว่า 6 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเกณฑ์ของแบงก์ชาติที่กำหนดการสำรองเงินฝากไว้ไม่ต่ำกว่า 6% ของเงินฝากทั้งหมด
 
เรียกว่าเป็นการสนองนโยบายเพื่อความเหนียวแน่นมั่นคงในตำแหน่ง ส่วนผลที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติจะฉิบหายวายวอดเพราะโครงการรับจำนำข้าวที่เจ๊งไปแล้ว 4 แสนกว่าล้านนั้น เป็นเรื่องที่ดูเหมือน ผู้จัดการ ธ.ก.ส. คนนี้ไม่ได้สนใจ
 
วิวาทหายนะจำนำข้าวยังมีประเด็นต่อเนื่อง หลังจาก “หม่อมอุ๋ย” ออกมาแฉตัวเลขขาดทุนป่นปี้ จนทำเอา “โต้ง ไวต์ไล” นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เต้นเป็นเจ้าเข้า ออกมาเตือนหม่อมอุ๋ยให้ระวังปาก เรื่องนี้นายนิพนธ์ พัวพงศกร และ นายกำพล ปั้นตะกั่ว จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เผยแพร่บทความ “การขาดทุนทางบัญชีจากการจำนำข้าว”  เพื่อตอบคำถาม 3ข้อ หนึ่ง คือ ทำไมตัวเลขการขาดทุนของรัฐบาลจึงแตกต่างจากตัวเลขการขาดทุนของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร สอง วิธีการคำนวณการขาดทุนทางบัญชีของโครงการจำนำข้าวควรยึดหลักการคำนวณอะไร และสาม การขาดทุนจริงของโครงการจำนำข้าว "จะ" เป็นเท่าไหร่กันแน่
 
โดยสรุปก็คือ คำถามแรก เรื่องมูลค่าการขาดทุนที่ทั้งสองฝ่ายนำเสนอนั้น ต่างเป็นตัวเลขผลขาดทุน "ทางบัญชี" ทั้งสิ้น แต่สาเหตุที่ตัวเลขผลขาดทุนทางบัญชีของทั้ง 2 ฝ่ายแตกต่างกัน เป็นเพราะฝ่ายรัฐบาลตีมูลค่าของข้าวในสต๊อกด้วยต้นทุนข้าวที่ซื้อมา ในราคาข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาทหรือคิดเป็นข้าวสารตันละ 24,000 บาท ส่วน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ซึ่งอ้างอิงข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวใช้วิธีตีมูลค่าข้าวในสต๊อกด้วยราคาตลาด
 
คำถามที่สอง คือ โครงการจำนำข้าวควรยึดหลักการคำนวณวิธีใดหากย้อนกลับไปดูตำราวิชาการบัญชีว่าด้วยการตีมูลค่าสินค้าคงคลัง จะมีหลักการตีราคา 2 รูปแบบ คือ (1) คำนวณด้วยต้นทุนของสินค้า หรือ (2) คำนวณด้วยราคาตลาดในการจัดหาสินค้านั้นมาทดแทน ทั้ง 2 วิธีต่างก็เป็นวิธีการที่ได้ยอมรับให้ใช้และมีสอนกันในวิชาการบัญชีทั่วไป
 
ฝั่งรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ เลือกที่จะใช้วิธีการแรกในการตีมูลค่าข้าวที่เหลืออยู่ในคลังด้วยราคาต้นทุนที่ซื้อข้าวมา ผลการขาดทุนทางบัญชีจึงมีประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ และม.ร.ว.ปรีดิยาธรเลือกที่จะใช้วิธีการที่เรียกว่า LCM หรือราคาตลาดเป็นตัวกำหนดมูลค่าของข้าวที่เหลืออยู่ในคลัง ผลขาดทุนจึงสูงกว่า
 
เหตุผลที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว ที่แต่งตั้งโดย กขช. เลือกใช้วิธีการ LCMโดยตีมูลค่าสต๊อกข้าวด้วยราคาตลาดเพื่อสะท้อนฐานะที่แท้จริงของโครงการจำนำข้าว แม้ในตอนต้นรัฐบาลจะไม่ยอมรับตัวเลขขาดทุนของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯจนกลายเป็นข่าวใหญ่โตมาแล้ว แต่ท้ายที่สุดก็ยอมรับว่าการจำนำข้าว2 ฤดูแรก (นาปี2554/55 และนาปรัง 2555) ขาดทุนถึง 136,896 ล้านบาท มาวันนี้ราคาข้าวในตลาดลดลงไปมากจากวันที่ปิดบัญชี การขาดทุนก็ย่อมมากขึ้นเพราะรัฐบาลขายข้าวได้น้อยมาก
 
การที่รัฐบาลเลือกใช้วิธีตีมูลค่าข้าวด้วยต้นทุนการซื้อข้าว จึงเป็นการหลอกลวงตนเองและประชาชน ว่าจะมีภาระทางการคลังในอนาคตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
 
คำถามที่สาม การจำนำจะขาดทุนจริงเท่าไหร่ ณ วันนี้ ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ชัดเจน เพราะรัฐบาลปิดบังข้อมูลการขายข้าว แม้รัฐบาลจะมีการเปิดเผยตัวเลขเงินรายได้จากการขายข้าว แต่ก็ไม่ยอมบอกว่าขายข้าวไปจำนวนเท่าไร เพราะขืนเปิดเผยประชาชนก็จะรู้ว่ารัฐบาลขายข้าวขาดทุนหนักกว่าที่รัฐบาลพูด และอาจหนักกว่าที่นักวิชาการประมาณการไว้ เพราะรัฐบาลขายข้าวต่ำกว่าราคาตลาด มาก ทำให้เกิดปัญหาการเมืองตามมา
 
หลักฐานที่บ่งชี้ว่ารัฐบาลจะขาดทุนหนักมากเพราะขายข้าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาดมาจาก รายงานการปิดบัญชีของกระทรวงพาณิชย์ที่ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่พบว่าราคาข้าวที่ขายต่ำกว่าราคาตลาด คือราคาข้าวนาปี 2554/55 ที่ขายเฉลี่ย 14,435.71 บาทต่อตัน ต่ำกว่าราคาขายส่งข้าวสารในตลาดกรุงเทพฯในเวลาเดียวกันที่เฉลี่ย 19,635 บาทต่อตัน เนื่องจากมีต้นทุนค่าซื้อข้าวและต้นทุนดำเนินการ 29,605.52 บาทต่อตันข้าวสาร จึงขาดทุนจริงตันละ 15,169.31 บาท
 
สำหรับข้าวนาปรังปี 2555 พาณิชย์ขายเฉลี่ยเพียง 12,839.45 บาทต่อตัน เทียบกับราคาตลาด17,266 บาทต่อตัน และขาดทุนตันละ 11,781.61 บาท ถ้าคิดเฉพาะข้าวที่ขายไปจริงจำนวน 3.62 ล้านตันข้าวสารในสองฤดู มูลค่าการขาดทุนจริงคือ 49,561.10 ล้านบาท (ณ 31 ม.ค. 56) 
 
นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ยังประมาณการว่าเฉพาะการขายข้าวราคาต่ำให้พ่อค้าบางรายที่เป็น พรรคพวกทำให้โครงการรับจำนำข้าวขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก 30% ของภาระขาดทุนทั้งหมด...นี่แหละคือเหตุผลแท้จริงที่รัฐบาลต้องปกปิดข้อมูลการขายข้าว ....และเชื่อว่าเมื่อความจริงถูกเปิดเผยเมื่อไร บรรดาข้าราชการที่มีส่วนในการขายข้าวและปกปิดข้อมูลเพื่อหวังลาภยศ มีหวังติดคุกกันหัวโต


างสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง
ลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส.
รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังคนปัจจุบัน

กำลังโหลดความคิดเห็น