เลขาฯ สมช.เผยเฝ้ารับมือครบรอบเหตุตากใบ รอผ่านก่อนถึงส่งสัญญาณคุยบีอาร์เอ็น ชี้ฝ่ายต้านรัฐฯ ประมวลปมล้ม รบ. ยันไร้ชุมนุมใหญ่หน้าทำเนียบฯ ไม่เข้มเหมือนไล่ “นช.แม้ว” มั่นใจกล่อม ปชช.อยู่ อ้างเหมาะ กมธ.ไทย-เขมรพบกันก่อนตัดสิน โวปลุกระดมไร้ผล รับใช้ล้างผิดร่าง “วรชัย” สถานการณ์อาจเบาลง ไม่ขวาง คปท.สักการะ ร.5 ผิดปกติพร้อมใช้ กม.มั่นคง
วันนี้ (22 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงใกล้วันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ ในวันที่ 25 ต.ค.ว่า สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้เตรียมแผนปฏิบัติการไว้อย่างเข้มงวด และจากสถิติเมื่อใกล้ถึงวันครบรอบเหตุการณ์ดังกล่าวมักจะมีเหตุใหญ่ทุกครั้ง จึงต้องเฝ้าระวัง ส่วนจะมีการก่อเหตุเหมือนตอนครบรอบวันสถาปนากลุ่มเบอร์ซาตูที่ผ่านมาหรือไม่นั้น ขณะนี้มีสัญญาณแต่ก็ไม่ชัดเจน แต่เราก็ไม่ประมาทอยู่แล้ว
เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ส่วนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นครั้งต่อไปนั้น ขณะนี้มีการประสานงานมาจากผู้อำนวยความสะดวกฝ่ายมาเลเซียเพื่อกำหนดห้วงเวลาพูดคุย ซึ่งเราขอว่าให้ผ่านวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบไปก่อน แล้วค่อยส่งสัญญาณซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม เราได้ขอความร่วมมือลดการก่อเหตุในช่วงนี้ แต่ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ยังไม่มีการส่งสัญญาณกลับมา
พล.ท.ภราดรกล่าวถึงการชุมนุมทางการเมืองของฝั่งตรงข้ามรัฐบาลว่า สถานการณ์การชุมนุมยังทรงตัวอยู่ เพราะเป็นช่วงการบ่มเพาะ เนื่องจากมีเหตุการณ์เกี่ยวกับเขาพระวิหาร และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้ามา โดยทางกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ระหว่างการประมวลเรื่องเพื่อชักจูงมวลชน ส่วนกระแสข่าวที่จะมีการนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 26-27 ต.ค.นั้น ขณะนี้ยังไม่มีการบอกสถานที่ แต่หากเป็นทำเนียบรัฐบาลคิดว่าคงไม่เป็นปัญหา เพราะจากการตรวจสอบและพูดคุยกับผู้ชุมนุมเป็นการสร้างขวัญซึ่งกันและกัน ยังไม่ถึงขึ้นการชุมนุมที่จะมาทำเนียบรัฐบาล ส่วนการนำมวลชนมาจากภาคใต้ขณะนี้ก็มีการเฝ้าระวังอยู่ แต่ยังไม่มีการเคลื่อนขึ้นมาแต่อย่างใด
พล.ท.ภราดรกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การชุมนุมดังกล่าวยังไม่เหมือนเมื่อครั้งชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐบาลได้ทำความเจ้าใจกับประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่องทันต่อสถานการณ์ เชื่อว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นจะไปปิดสนามบิน หรือปิดสถานที่ราชการเราได้ประเมินสถานการณ์วันละ 3 เวลา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นอะไรที่ล่อแหลมต่อรัฐบาลมากที่สุด พล.ท.ภราดรกล่าวว่า คงเป็นการจูงใจมวลชนเกี่ยวกับการเสนอกฎหมาย และกรณีเขาพระวิหารที่จะทำให้สถานการณ์ยกระดับขึ้น แต่ขณะนี้ก็เชื่อว่ารัฐบาลยังทำความเข้าใจได้ ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการที่คณะกรรมาธิการร่วม ไทย-กัมพูชาจะพบกันก่อนแทนที่จะเป็นช่วงหลังจากที่ศาลโลกมีคำตัดสินนั้น ตรงนี้ถือเป็นกลไกที่มีร่วมกัน หากใช้กลไกนี้น่าจะมีความเหมาะสม แต่จะดำเนินการอย่างไรต้องพูดคุยกันก่อน และท่าทีของผู้นำกัมพูชาก็ยืนยันว่าต้องแก้ปัญหาอย่างสันติสุข คำพิพากษาเป็นเรื่องของคำพิพากษา แต่เราต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ส่วนที่มีการปลุกระดมเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อรัฐบาล เพราะเรามีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดี และการชี้แจงต่อศาลโลกครั้งที่ผ่านมาประชาชนก็เข้าใจสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่า หากพรรคเพื่อไทยกลับไปใช้ร่าง พ.ร.บ.เดิมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ที่จะไม่นิรโทษกรรมให้แกนนำ จะทำให้สถานการณ์เบาลงหรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า เป็นกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่หากเป็นเช่นนั้นสถานการณ์ก็อาจจะเบาลงได้ ฝ่ายบริหารก็เพียงแต่ระมัดระวังหากเกิดสถานการณ์
เลขาฯ สมช.กล่าวถึงกรณีเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เตรียมเดินทางมาวางพวงมาลาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เนื่องในวันปิยมหาราช วันที่ 23 ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงว่า เราไม่ได้มีการบังคับไม่ให้เข้าพื้นที่ แต่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ อยู่แล้ว เราพร้อมที่จะใช้มาตรการ แต่ตอนนี้ถือว่าเป็นการมาสักการะรัชกาลที่ 5 เราจึงจะเปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามา แต่เจ้าหน้าที่ได้ทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว รวมถึงมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังที่ลานพระบรมรูปทรงม้าอยู่ หากมีเหตุการณ์ผิดปกติก็จะประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมได้ทันที