xs
xsm
sm
md
lg

“อุรุพงษ์” สุดยอดชัยภูมิ ฐานที่มั่นโค่นรัฐบาลขี้ฉ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สะเก็ดไฟ

หลังจาก “แกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ หรือ กปท.” ตัดสินใจนำผู้ชุมนุมกลับถิ่นฐานเดิมที่ “สวนลุมพินี” อันเป็นที่พำนักมายาวนานกว่า 2 เดือนทั้งๆ ที่ในขณะนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมสามารถฝ่าด่านเจ้าหน้าที่ตำรวจมาแบบงงๆ โดยใช้จังหวะที่รัฐบาลเผอเรอ เข้ามายึดพื้นที่บริเวณประตู 3 ของทำเนียบรัฐบาลได้จนกลุ่มเครือข่ายและมวลชนบางส่วนเกิดความเห็นต่างรับไม่ได้กับการตัดสินใจของคณะเสนาธิการ่วม

มวลชนที่แตกตัวออกมาจาก กปท.ได้ยึด “แยกอุรุพงษ์” เป็นทางเลือกที่ต้องการปักหลักสู้กับระบอบทักษิณอย่างไม่ยอมถอย

ตามตำราพิชัยสงครามกล่าวไว้ว่า “จังหวะและเวลาที่ดี มิสู้ชัยภูมิพื้นที่ที่ดี” ซึ่งพื้นที่บริเวณแยก “อุรุพงษ์” น่าจะเหมาะที่จะเป็นชัยภูมิในการรบครั้งนี้ของ “กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท.”

โดยหลักของการทำสงคราม การเลือกพื้นที่ตั้งมั่นไม่ใช่ว่าจะชอบตรงไหนและอยู่ตรงนั้นได้ กรณีของกลุ่ม คปท.ที่เลือกชัยภูมิตรงนี้เหตุผลข้อแรกน่าจะมาจาก พื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเขตประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ระหว่างวันที่ 9-18 ต.ค. เป็นเวลา 10 วัน คุม 3 ในเขตพระนครเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและเขตดุสิต

การเคลื่อนมวลชนออกจากทำเนียบรัฐบาลในเวลานั้นแยกอุรุพงษ์จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ทั้งแนวป้องกันเรื่องความปลอดภัย และการเติมเข้ามาของมวลชนในแต่ละวันด้วยที่เป้นทางแยกที่คนมาสะดวก

บริเวณแยก “อุรุพงษ์” มีพื้นที่รอบข้างประกอบด้วยอาคารบ้านเรือนของประชาชนอีกด้านเป็นทางรถไฟ เพราะฉะนั้น คปท.จะมีเกราะกำบังชั้นเยี่ยมนั่นก็คือบ้านเรือนของประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง การตั้งที่มั่นบริเวณรอบสถานที่ราชการ อย่างทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา หรือกระทรวงต่างๆ ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก หากจำนวนของมวลชนไม่ได้มีมากพอ อย่างช่วงกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้ายึดพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล และอยู่ยาวนานเกือบ 200 วันได้เช่นนั้น เป็นเพราะจำนวนมวลชนจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นไม่กล้าที่จะตัดสินใจทำอะไรแบบผลีผลาม แต่สถานการณ์ในวันนี้อารมณ์ร่วมของมวลชนอาจจะไม่ได้สุกงอมมากเท่าอดีต

ในสถานการณ์ที่ไม่มีอะไรแน่นอน รัฐบาลเดาใจลำบากอย่างตอนการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม ที่นำโดย “พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์” หรือ “เสธ.อ้าย” ที่ดูเหมือนน่าจะไม่มีอะไรรุนแรงแต่อยู่ดีๆ รัฐบาลกลับยางแก๊สน้ำตาสลายม็อบเสียแบบนั้น ทำให้ คปท.ต้องคิดให้รอบคอบ

แต่การที่รัฐบาลจะประกาศให้แยกอุรุพงษ์เป็นพื้นที่ใน พ.ร.บ.ความมั่นคงนั้น เป็นไปได้ยาก เพราะถือเป็นสถานที่ใจกลางเมืองมีประชาชนสัญจรไปมาตลอดทั้งวัน แถมยังเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจอีกด้วย

รัฐบาลขณะนี้ถือว่าอยู่ในอาการ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” เพราะดูเหมือนว่า คปท.ไม่ใช่ม็อบข้างถนนหรือม็อบอารมณ์ค้าง เสียแล้ว และท่าทางแกนนำขาสั้นเหล่านี้ท่าจะได้ใจจากประชาชนอย่างน้อยการต่อสู้ของพวกเขาก็น่าจะมีผลประโยชน์ได้เสียน้อยกว่าบรรดาอดีตนักการเมืองก่อตั้งม็อบหรืออดีตข้าราชการ ที่อาจจะมีเหตุได้เสียกับการเมือง จนทำให้ คปท.สามารถจุดไฟในใจของกลุ่มผู้ชุมนุมได้ดีกว่า “คณะเสนาธิการร่วม” ที่ไม่มีแนวทางในการต่อสู้ที่ชัดเจนด้วยซ้ำไป

ประกอบกับข้อเรียกร้องในการชุมนุมที่ตรงกับปัญหาของคนไทยที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้นั่นก็คือ การบริหารงานของรัฐบาลที่ก่อให้เกิดปัญหากับประเทศไทย ทำให้ชีวิตของคนไทยตกต่ำลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่รัฐบาลมุ่งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายเพื่อพวกพ้องโดยไม่ได้ทำเพื่อส่วนรวม ขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรมแถมเมื่อประชาชนออกมาชุมนุมอย่างสงบ กลับประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาสกัดกั้น

ทำให้ช่วง 4-5 วันที่ผ่านมานี้มีมวลชนทยอยออกมาร่วมอุดมการณ์กับ คปท.อย่างต่อเนื่อง ในตอนแรกรัฐบาลคงจะหมดห่วงตั้งแต่ไล่ม็อบ กปท.กลับสวนลุมฯ ไปได้แต่กลับยังมีเสี้ยนหนามกลับมาทิ่มแทงใจให้อีกและครั้งนี้ความยาวของเสี้ยนเหมือนจะยาวกว่าไอ้การที่รัฐบาลจะเอาแก๊สน้ำตาไปยิงถล่มประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมแบบสันติคงจะเป็นการยากเมื่อมวลชนไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้ายตามที่รัฐบาลได้กล่าวอ้างมาแถมชาวบ้านแถบนั้นคงจะไม่ยอมให้มีเหตุรุนแรงจนเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพ ย์สินของพวกเขาแน่นอน

รัฐบาลจึงทำได้เพียงแค่ระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจเกือบทั้งประเทศมากองเอาไว้ที่ฐานทัพสำคัญอย่าง ทำเนียบรัฐบาล เพื่อข่มขู่มวลชนไม่ให้เคลื่อนไหวออกจากแยกอุรุพงษ์เท่านั้นจนดูเหมือนว่า ม็อบครั้งนี้ส่อจะยืดเยื้อเสียแล้วเพราะด้วยเหตุผลที่ตั้งอยู่ในใจการเมือง ทำให้มวลชนเดินทางสะดวก สบายและยังขยายพื้นที่ในการชุมนุมได้ตลอดเวลา หากมวลชนมีจำนวนมากขึ้น

แต่นายอุทัย ยอดมณี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงในฐานะแกนนำคนสำคัญในการรบครั้งนี้ ก็เล่นเกมปั่นประสาทได้เก่งเสียด้วยการออกมาประกาศไม่เคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคมเพื่อไปเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลักหมื่น คงจะเป็นความคิดที่ถูกต้อง

ไม่เช่นนั้นหากคิดแต่จะบุกอย่างเดียว ทุกอย่างคงเข้าทางโจรตีหัวกลุ่มผู้ชุมนุมจนล่าถอย และอ้าง พ.ร.บ.ความมั่นคง สร้างความชอบธรรมทุกอย่างจบแบบสมบูรณ์แบบ โดยไม่ต้องชี้แจงใดๆ ต่อคำด่าทอเมื่อรัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

การที่แกนนำเลือกแยกอุรุพงษ์เป็นชัยภูมิครั้งนี้ อาจจะมีเหตุผลจาก พ.ร.บ.ความมั่นคง แต่หารู้ไม่ว่า สถานที่แห่งนี้อาจจะนำพามาซึ่งชัยชนะก็เป็นได้แต่ทั้งนี้ คปท.ต้องไม่ลืมว่า “ชัยภูมิพื้นที่ที่ดียังไม่สู้ความกลมเกลียวของบุคคล”

สิ่งสำคัญที่สุดคือ หากรัฐบาลยังใจร้อนรีบปิดฉากม็อบด้วยความรุนแรงแบบกลวิธีเดิมๆ ครั้งนี้รัฐบาลจะไม่ใช่ต้องรับผิดชอบแค่มวลชนที่เข้าร่วมเท่านั้นแต่เกิดพลาดพลั้งไปโดนชาวบ้านแถบนั้นเข้า รัฐบาลจะต้องหากคำแก้ตัวเอาไว้ให้ดี

ไม่เช่นนั้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีเหตุต้องสั่นคลอนแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น