ประธานเครือข่ายพ่อแม่เยาวชนฯ ยื่นหรังสือต่อคณะกรรมการ กสม. สอบรัฐบริหารงานละเมิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็กและว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน ทั้งการปล่อย อสส.เป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ยันระบบแอดมิชชัน
วันนี้ (16 ต.ค.) พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานเครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา นายวิวัฒน์ชัย กุลมาตย์ หัวหน้าพรรคพลังงานไทย เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผ่านนางวิสา เบญจะมโน กรรมการสิทธิฯ เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการควบคุมดูแลให้รัฐบาลให้ปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็ก และว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน โดย พ.ท.พญ.กมลพรรณ ระบุว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยบริหารประเทศโดยขัดต่ออนุสนธิสัญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิกหลายฉบับ ทั้งการมีกฎหมายเอื้อต่อการคอรัปชั่น มีผลประโยชน์ทับซ้อน และละเมิดสิทธิเด็กด้านการศึกษา เช่น การคงกฎหมาย พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ฉบับที่ 5 และ ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจนั้นสามารถ ไปดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการหรือบอร์ดในรัฐวิสาหกิจอื่นๆ รวมทั้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 วรรคหก ที่กำหนดให้พนักงานอัยการ สามารถไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจได้ ทำให้คนเหล่านี้ใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือจัดการให้กลุ่มธุรกิจสามารถหลบเลี่ยงการถูกตรวจสอบโดยแลกกับผลประโยชน์ตอบแทนในรูปของเบี้ยประชุมกรรมการ โบนัส
การที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 มาตรา 102 งดเว้นไม่ให้ตรวจสอบกรณีการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา มาใช้บังคับกับการดำเนินกิจการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ ที่มีอำนาจ กำกับ ดูแลควบคุม หรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนที่หน่วยงานของรัฐถือหุ้นหรือเข้าร่วมทุน ขณะที่ในส่วนการละเมิดสิทธิเด็กพบว่า การจัดการศึกษาของรัฐ ที่ยึดระบบแอดมิชชั่น และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ได้เป็นไปตามมาตรา 6 มาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 22 ของพ.ร.บ.การศึกษา 2545 ที่กำหนดว่าการจัดการศึกษาต้องยึดผู้เรียนสำคัญที่สุด สามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ เพราะระบบการศึกษาปัจจุบันมีการบังคับเรียน และสอบแปดหมวดสาระ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาให้เต็มตามศักยภาพ ตามความถนัด ความสนใจของผู้เรียนได้ ทำให้เด็กไทยเรียนหนักที่สุดเป็นที่สองของโลก แต่ไอคิวเด็กไทยต่ำ คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ ขณะเดียวกันก็มีการเก็บเงินจากผู้ปกครอง แสวงหาประโยชน์จากเด็กในรูปของโรงเรียนกวดวิชา อีกทั้งหลักสูตรการศึกษาที่จัดให้เด็กเรียนทุกวิชา ทั้งที่บางวิชาเรียนมาแล้ว หรือไม่ถนัดก็เพื่อให้โรงพิมพ์ต่างๆ มีรายได้จากการขายหนังสือ ภาระครูสอนหนักแต่ไม่เกินประโยชน์ต่อนักเรียน ส่งผลให้อัตราการออกจากโรงเรียนกลางคันเพิ่มขึ้น
“การที่นายกฯ ชี้แจงต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในเรื่องของสิทธิสตรี แต่สิทธิเด็กไทยกลับถูกละเมิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยต่างๆ ในการกำหนดหลักสูตรการเรียน การสอบ และระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย การแก้ไขปัญหาการศึกษาขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้จัดการศึกษาล้วนเป็นคนเดิม ความคิดเดิม ทำให้การศึกษาไทยไม่พัฒนาและละเมิดศักยภาพเด็กมานาน จึงขอให้กรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบการละเมิดสิทธิประชาชนและการไม่ทำตามพันธกรณีระหว่างประเทศของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีด้วย” พ.ท.พญ.กมลพรรณกล่าว