xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองในอุ้งเท้าทุนสามานย์ : เหตุหายนะประเทศ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

สภาพปัญหาสังคมไทยในปัจจุบัน

ทุกวันนี้ เดินไปทางไหน และสนทนากับใครเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม ทุกคนจะบ่นและแสดงความเบื่อหน่าย บางรายพูดแรงถึงขั้นบอกว่า ถ้าลาออกจากการเป็นพลเมืองไทย แล้วไปอยู่ที่อื่นซึ่งดีกว่านี้ ไม่ลังเลที่จะทำเช่นนั้น

อะไรทำให้คนเบื่อ และอยากบอกเลิกความเป็นคนไทย?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตอบได้ง่ายมาก เพียงแต่มองดูปัญหาโดยรวมที่คนไทยทุกคนได้รับ และยังมองไม่เห็นว่าใครจะมาแก้ไข และแก้ไขอย่างไร ปัญหาที่ว่านี้อาจสรุปเป็นด้าน โดยสังเขปดังต่อไปนี้

1. ทางด้านสังคม อันเป็นปัญหาพื้นฐานและเรื้อรังมานาน อนุมานได้ดังนี้

1.1 สถานศึกษาในระดับประถมและมัธยม ซึ่งมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในด้านจัดการศึกษา ทั้งในด้านสถานที่ และในด้านการเรียนการสอนมีไม่เพียงพอแก่ความต้องการ จะเห็นได้จากการที่พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กต้องวิ่งเต้นหาที่เรียนให้บุตรหลานในแต่ละปีการศึกษา บางรายถึงกับต้องจ่ายเงินกินเปล่าให้แก่ผู้ที่สามารถนำบุตรหลานเข้าเรียนในสถานศึกษาที่ตนเองต้องการได้เป็นเงินนับหมื่นนับแสนก็ยอม และนี่เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ประเทศชาติขาดแคลนสถานศึกษาที่มีคุณภาพ

1.2 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและรุนแรงขึ้น จะเห็นได้จากข่าวที่เผยแพร่ทางสื่อเกี่ยวกับการปล้นจี้ชิงทรัพย์ และฆ่าข่มขืนมีแทบทุกวัน

1.3 ความไม่เป็นธรรมในสังคม เนื่องจากกลไกของรัฐอันเป็นเบื้องต้นของกระบวนการยุติธรรม คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และดีเอสไอซึ่งมีความรับผิดชอบในการบังคับใช้กฎหมาย ทำงานไม่มีมาตรฐาน ควรแก่การยอมรับและเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ โดยเสมอภาคเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกสีและเลือกฝ่าย อันเนื่องมาจากการรับใช้ฝ่ายการเมืองในฟากรัฐบาล จะเห็นได้จากการที่ประชาชนซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเป็นผู้เสียหายไปแจ้งความคดีไม่คืบหน้า แต่ถ้าเป็นฝ่ายรัฐบาลสองหน่วยงานนี้จะเร่งรีบดำเนินการ ทั้งๆ ที่บางครั้งเป็นคดีเล็กน้อยก็รีบดำเนินการ

2. ในด้านเศรษฐกิจมีหลากหลายมากมาย แต่จะนำมาเพียงในส่วนที่มองเห็นเป็นรูปธรรม และมีผลกระทบถึงประชาชนโดยตรง และรุนแรงซึ่งพออนุมานได้ดังนี้

2.1 ราคาสินค้าแพง แต่รายได้ต่ำทำให้ประชาชนเดือดร้อนต้องเป็นหนี้สิน และหากินทั้งวันไม่พอใช้หนี้ จึงไม่ต้องพูดถึงว่าจะมีเงินเหลือเก็บไว้ใช้ยามจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน

2.2 ราคาพืชผลทางด้านเกษตรตกต่ำ และการเข้าไปช่วยเหลือของภาครัฐไม่ทั่วถึง และในบางประเภทของผลผลิตเช่นข้าว เป็นต้น นอกจากไม่ทั่วถึงแล้ว ยังเป็นการทำลายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ โครงการแทรกแซงราคาพืชผลยังเป็นบ่อเกิดแห่งการแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ โดยอาศัยความทุกข์ของเกษตรกรหาเงินเข้ากระเป๋าคนบางคนบางกลุ่ม โดยไม่คำนึงว่าการกระทำในลักษณะนี้จะเป็นการทำลายเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เมื่อข้าวไทยราคาแพงกว่าประเทศคู่แข่ง แถมการแทรกแซงราคาโดยการรับจำนำในราคาแพง ทำให้ขายในราคาที่คู่แข่งขายอยู่ไม่ได้ เพราะจะทำให้ขาดทุนจึงเท่ากับจำใจต้องเก็บไว้ แต่ยิ่งเก็บก็ยิ่งเข้าเนื้อ เมื่อคุณภาพข้าวเสื่อมจากการเก็บ และปนเปื้อนสารเคมีซึ่งจะต้องใช้เพื่อป้องกันมดและมอด

จึงสรุปได้ว่า การเข้าไปช่วยเกษตรกรที่ปลายเหตุคือ พยุงราคาแต่ไม่ช่วยที่ต้นเหตุคือลดต้นทุนการผลิตยิ่งช่วยก็ยิ่งจนลงไป ทั้งรัฐบาลและเกษตรกร นี่แค่เพียงข้าวตัวอย่างเดียว ไม่ต้องพูดถึงพืชไร่อื่นๆ เช่น หอมแดง และกระเทียม เป็นต้น ก็จะเข้าทำนองเดียวกันนี้ ถ้าใช้วิธีเดียวกันคือช่วยที่ปลายเหตุด้วยการรับซื้อราคาแพง และขายในราคาถูกก็ขาดทุน และถ้าไม่ขายก็เน่าเสียขาดทุนหนักขึ้นไปอีก ดังที่เกิดขึ้นในกรณีหอมแดงที่ผ่านมา

2.3 ปัญหาหนี้สินทั้งในส่วนของหนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะที่รัฐบาลต้องจ่ายคืนด้วยเงินภาษีในอนาคต

จากรายงานที่ปรากฏทางสื่อเปิดเผยว่าในวันนี้ ทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ในขั้นที่เรียกได้ว่าอันตรายแล้ว ถ้ายังไม่หยุดก่อหนี้สักวันหนึ่งประเทศไทย ก็จะเป็นเหมือนหลายๆ ประเทศที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว และต้องไปขอพึ่งกองทุนระหว่างประเทศ และถูกตั้งเงื่อนไขให้ลดรายจ่ายด้วยวิธีการต่างๆ มีตั้งแต่ลดเงินเดือนข้าราชการไปจนถึงปลดออก และประเทศเองก็หนีไม่พ้น ถ้ายังใช้นโยบายผลาญงบประมาณแก้ปัญหาด้วยการใช้เงินเพียงอย่างเดียว ดังที่ผ่านมาของรัฐบาลที่ใช้นโยบายประชานิยมแบบสุดโต่ง ด้วยการลด แลก แจก แถม เพื่อหวังแลกกับความนิยมทางการเมือง

3. ปัญหาทุจริตในแวดวงการเมือง และส่วนราชการ

ปัญหานี้ถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด และเป็นรากเหง้าของปัญหาอื่นๆ เกือบทุกปัญหา แม้กระทั่งปัญหาการศึกษาไม่ได้มาตรฐาน ที่เป็นเช่นนี้อนุมานโดยอาศัยปัจจัยในเชิงตรรกะได้ดังนี้

3.1 การทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาในลักษณะตามน้ำหรือทวนน้ำ เงินส่วนที่สูญเสียไปไม่ว่าจะมากหรือน้อยมันคือต้นทุนที่ผู้จ่ายให้แก่ผู้เรียกรับ เพื่อแลกกับการได้งานหรือได้เงินจากรัฐ ผู้จ่ายจะต้องนำไปบวกเป็นราคาทุนของสินค้าหรือบริการนั้น และผู้ที่จะต้องแบกรับก็คือประชาชนผู้บริโภคสินค้า และบริการนั้นในราคาแพงกว่าความเป็นจริง

3.2 ผู้ที่จะทุจริตและเรียกรับผลประโยชน์ได้ จะต้องเป็นผู้มีอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของส่วนราชการในตำแหน่งประจำ หรือในส่วนของการเมือง ที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายเพื่อปูทางไปสู่การจัดซื้อจัดจ้าง โดยมีส่วนข้าราชการสนองนโยบายรองรับอยู่ในระดับล่าง

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การทุจริตของประเทศจะต้องเกิดขึ้นจากสองส่วนร่วมมือกันคือ ข้าราชการการเมือง และข้าราชการประจำ โดยมีพ่อค้าเป็นตัวกำหนดทิศทางให้ทั้งสองฝ่ายเดินตาม และที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยคนจ่ายเงินก็คือผู้กำหนดแนวทางนั่นเอง และนี่คือที่มาหรือรากเหง้าของการโกงกิน โดยมีนักการเมืองในระบบทุนสามานย์เป็นผู้กำหนด

ดังนั้น ถ้าประเทศไทยจะหลุดพ้นจากปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาทุจริตได้ก็มีทางเดียวคือ หยุดการเมืองภายใต้อุ้งเท้าทุนสามานย์ลงให้ได้เท่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น