xs
xsm
sm
md
lg

สปท.ถกนัดแรก “สมเกียรติ” นั่ง ปธ.หวังสร้างอำนาจชาวบ้านต่อรองรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สมเกียรติ” นำทีมเปิดตัว สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย 2556 ร่วม 65 องค์กร ประชุมครั้งแรก หวังให้ชาวบ้านชงปัญหาท้องถิ่น ทั้งอำนาจหน่วยงานรัฐ และความเหลื่อมล้ำทางทรัพยากร “คมสัน” ชี้ต้องสร้างความเป็นธรรมในสังคม “พิชาย” หวังสร้างอำนาจประชาชนต่อรองรัฐให้ร่วมตัดสินใจ “พิเชษฐ” จวกรัฐหลับตาข้างเดียว ปล่อยแดงข่มขู่ เมิน “ภราดร” โยงพวกเดียวกับสวนลุมฯ

วันนี้ (13 ต.ค.) ที่มหาวิทยาลัยรังสิต จ.ปทุมธานี สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย 2556 (สปท.) และ 65 องค์กรเครือข่าย อาทิ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ กลุ่มกรีน กลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ได้ร่วมจัดงาน “40 ปี 14 ตุลา 16 สมัชชาสภาปฏิรูปประเทศไทย” พร้อมทั้งมีการจัดประชุมสมัชชาประชาชนขึ้นเป็นครั้งที่ 1 โดยมีประชาชนจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมประมาณ 500 คน

นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ประธาน สปท.และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้กล่าวเปิดงานระบุ เปิดโอกาสให้ประชาชนซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัดออกมานำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น โดยส่วนใหญ่ต่างสะท้อนว่ามีปัญหาเรื่องการใช้อำนาจของหน่วยงานท้องถิ่น และหน่วยงานราชการ รวมทั้งความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ที่มีความไม่เท่าเทียมกัน

ด้าน นายคมสันต์ โพธิ์คง กรรมการ สปท.กล่าวถึงหลักในการปฏิรูปประเทศว่า ปัญหาใหญ่ในประเทศไทยคือเรากำลังมีการเมืองระบบที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคม แม้ปัจจุบันมีแนวคิดในการปฏิรูปการเมืองที่ดำเนินการโดยรัฐบาล แต่การปฏิรูปการเมืองที่ผ่านมาทั้ง 2 ครั้งก็พิสูจน์แล้วว่าการปฏิรูปการเมืองยิ่งสร้างความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งควรเป็นบทเรียนที่สำคัญของการปฏิรูปในครั้งนี้ ดังนั้นการปฏิรูปประเทศจึงเป็นทางออกทางเดียวจึงมีการจัดตั้งสภาประชาชนปฏิรูปประเทศขึ้น โดยเรามีขอบเขตการปฏิรูปคือสร้างความเป็นธรรมในระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งการปรับสมดุลระหว่างอำนาจรัฐและสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ขณะที่ นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กรรมการ สปท.กล่าวว่า เป้าหมายของ สปท.คือการจัดตั้งอำนาจประชาชนขึ้นมาในทุกจังหวัด เพื่อถ่วงดุลกับอำนาจรัฐและอำนาจทุนได้ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรร่วมกับอำนาจตามกฎหมาย ดังนั้นวันนี้การประชุมสมัชชาประชาชนจึงถือเป็นการสถาปนาอำนาจของประชาชน

จากนั้นนายสมเกียรติ ได้เปิดโอกาสให้ประชาชน ที่เป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัดออกมานำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น โดยส่วนใหญ่ต่างสะท้อนว่า มีปัญหาเรื่องการใช้อำนาจของหน่วยงานท้องถิ่น และหน่วยงานราชการ ตลอดจนความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ที่มีความไม่เท่าเทียมกัน

ต่อมาเวลา 14.00 น. นายสุริยะใส กตะศิลา กรรมการ สปท. พร้อมด้วย 67 องค์กรเครือข่าย และตัวแทนประชาชน 77 จังหวัด ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายสุริยะใส กล่าวว่า การประชุมสปท. ครั้งต่อไป จะขยับลึกลงไปถึงระดับจังหวัด โดย การประชุมสปท.ครั้งที่ 2 จะมีขึ้นภายในสิ้นปีนี้ ส่วนงานเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นที่ประชุมเห็นว่า สปท.ควรจะเป็นองค์กรแนวระนาบทำงานในลักษณะประสานงาน มีคณะกรรมการสปท. 16 คน แต่จะไม่มีแกนนำสูงสุด โดยจะมีการประสานเครือข่ายทั้งหมด และเป็นองค์กรที่ทำงานถาวรต่อเนื่อง ไม่ผูกอยู่กับวาระรัฐบาล หรือสถานการณ์ทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของงานร้อน ทาง 67 เครือข่ายที่เข้าร่วมสปท. มีอิสระในการตัดสินใจที่จะเข้าร่วมต่อสู้เคลื่อนไหวกับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ที่สวนลุมพินี และการชุมนุมของเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูประเทศไทย (คปท.)ที่สี่แยกอุรุพงษ์เอง

นายสุริยะใส กล่าวว่า ตนได้หารือกับแกนนำเครือข่ายต่างจังหวัดที่เข้าร่วมสปท. เห็นความสำคัญของงานร้อน จึงคิดว่าเครือข่ายที่เข้าร่วมกับสปท. จะมีการประสานเฉพาะกับกลุ่มองค์กรที่เคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้ เพื่อที่จะเข้าร่วมกันก่อรูปและสร้างเครือข่ายขึ้นมาใหม่เพิ่มเติมจากกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ เบื้องต้นตนได้พูดคุยกับกปท. และคปท. รวมถึงหลายกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้ คิดว่าภายใน 1 – 2 สัปดาห์น่าจะมีกลุ่มเคลื่อนไหวใหม่ออกมา โดยจะทำหน้าที่ประสานกับทุกกลุ่มที่ต่อสู้และเผชิญหน้ากับระบอบทักษิณ โดยจะเป็นหน่วยนำภาคประชาชนที่จะจัดแถวจัดขบวนกันใหม่ แต่ไม่ใช่สปท.ในวันนี้ เพราะสปท.จะเน้นงานเย็นคือ ให้การศึกษา เผยแพร่ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเครือข่ายภาคประชาชนและภาคประชาสังคมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นในลักษณะคู่ขนานกันไป แต่งานร้อนจะเป็นอีกงานหนึ่งต่างหาก

นายสุริยะใส กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จับตามองการประชุมของสปท.ว่าอาจเชื่อมโยงกับการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนั้น ตนคิดว่าพล.ท.ภราดร กำลังเขียนเสือให้วัวกลัว หาข้ออ้างที่จะประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไปจนถึงวันที่ 18 ต.ค. และเชื่อว่าอาจจะขยายไปถึงสิ้นปี ทั้งที่สปท.ยังไม่ได้เป่านกหวีดไล่รัฐบาล อย่างไรก็ตาม เราจะทำงานเย็นและงานยาว แต่ใครจะร่วมเคลื่อนไหวถือว่าเป็นสิทธิ เรามีจุดยืนชัดเจนว่า แม้เราจะไม่ได้อยู่ในฐานะหน่วยนำแต่เราสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชนที่กำลังต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมในรัฐบาลชุดนี้ และการเข้าร่วมก็เป็นสิทธิของแต่ละองค์กร

“สปท.จะทำหน้าที่วางบทบาทการรับฟัง โดยให้ประชาชนเป็นคนกำหนดพิมพ์เขียวโดยผ่านการแสดงความเห็น และการทำแบบสอบถาม ซึ่งการประชุมสปท.ในครั้งนี้ถือเป็นกระบวนการในการทำพิมพ์เขียว หลังจากนั้นฝ่ายวิชาการจะไปสังเคราะห์ออกมาเป็นกรอบ ก่อนจะทำไปรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะคล้ายกับการแปรญัตติ คาดว่าไม่เกินปลายปีนี้จะมีพิมพ์เขียวออกมา และจะเป็นพิมพ์เขียวที่เกิดจากประชาชนอย่างแท้จริง”นายสุริยะใส กล่าว

นายชัยพันธุ์ ประภาสะวัต กรรมการสปท. กล่าวว่า สปท.จะไม่เป็นองค์กรที่ไปปะทะหรือตอบโต้กับรัฐ แต่เป็นหน่วยงานที่เป็นร่มใหญ่ องค์กรนี้จะไม่ยุบตัว เราจะสู้อย่างต่อเนื่อง จะใช้ข้อมูล ความรู้ เพราะมีนักวิชาการจำนวนมากที่มาร่วมจะคอยวิเคราะห์ว่าประเด็นไหนที่สังคมสนใจ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านเพื่อจัดเวทีให้ความรู้ต่อประชาชนเป็นครั้งคราวไป แต่ไม่ต้องห่วงว่าสปท.จะไปโค่นล้มรัฐบาล เพราะหากจะมีการเคลื่อนไหวจะเคลื่อนไหวในนามส่วนตัว ไม่ได้ใช้ในนามสปท.

จากนั้นนางสำเนียง สุวรรณภพ ในฐานะตัวแทนเครือข่าย 77 จังหวัด ได้อ่านคำประกาศสปท.ครั้งที่ 1 ว่า สถานการณ์ประเทศไทยขณะนี้มีปัญหามากมาย และบางกรณีได้ยกระดับเป็นวิกฤติชาติไปแล้ว คือ 1.ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารุแก้ปัญหาได้ ถึงแม้จะมีการเจรจาสันติภาพ แต่กลับสร้างความเลวร้ายกว่าเดิม จึงเกิดคำถามว่ารัฐบาลสมคบคิดกับผู้ก่อความไม่สงบ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองมากกว่ามีเจตนาให้เกิดความสงบสุข 2.ปัญหาความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติ ทั้งที่รัฐบาลประกาศนโยบายว่าแก้ไขไม่แก้แค้นแต่กลับมีการสมคบคิดรักษาประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง ด้วยการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อล้างผิดให้คนกระทำผิดในเหตุการณ์ชุมนุมปี 2553รวมทั้งล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

3.เมื่อเกิดการชุมนุมประท้วงของคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ก็มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในพระราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งที่การชุมนุมไม่เข้าเงื่อนไขของกฎหมายหรือสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสีย ซึ่งเป็นการตอกย้ำความขัดแย้ง 4.การแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ที่จะทำลายการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ รวมทั้งเข้าข่ายเปลี่ยนแปลงการปกครอง และ 5.รัฐบาลละเลยต่อการแก้ปัญหาพื้นฐานคุณภาพชีวิต อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ปัญหาราคาพืชผลการเกษตร และเพิ่มภาระทางการเงินการคลังด้วยการออกกฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท และการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยไม่มีกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจในโครงการ

“แม้รัฐบาลจะพยายามเดินหน้าปฏิรูปการเมือง แต่การอาศัยกลไกลนักการเมืองที่มีส่วนได้เสียมาเข้าร่วมการปฏิรูปฯ ทำให้เต็มไปด้วยผู้มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของชาติและประชาชน สะท้อนให้เห็นว่าการปฏิรูปการเมืองเพื่อประโยชน์ของชนชั้นนำทั้งสิ้น ดังนั้น สภาปฏิรูปประเทศไทยต้องเริ่มจากประชาชนเจ้าของประเทศ โดยต้องมีส่วนร่วมและมีบทบาทโดยตรงในสภาปฏิรูปประเทศ” นางสำเนียง ระบุ

ทางด้าน นายพิเชษฐ์ พัฒนโชติ แกนนำ กปท.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จับตามองการประชุมสมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) เชื่อมโยงกับการชุมนุมของกลุ่ม กปท.ว่า เลขาฯสมช.มองไม่ผิด เพราะเวลานี้ความรับรู้ของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาลแผ่กว้างไปยังประชาชนทุกกลุ่ม ขณะเดียวกัน การบริหารประเทศทั้งหมดมีปัญหามากมาย ปัญหาคอรัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ในบ้านเมือง โครงการต่างๆ แฝงไปด้วยการทุจริต วันนี้เกือบทุกโครงการสร้างปัญหาให้กับบ้านเมือง แต่รัฐบาลกลับหลับตาข้างเดียวทุกครั้ง เมื่อมีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลมาชุมนุมก็ออกกฎหมายควบคุม แต่เวลาฝ่ายเดียวกับรัฐบาลกลับปล่อยเฉย หลิ่วตา ปล่อยให้จะทำอะไรก็ทำไป อย่างเช่น การข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายพิเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า สปท.รวมตัวกันในกลุ่มสมัชชาปฏิรูปที่มีนักวิชาการ และนักกิจกรรมมาร่วมกันเสนอปัญหาแต่ละพื้นที่เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาในอนาคตข้างหน้า เขารอว่าเมื่อไรบ้านเมืองจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี และอำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ฉะนั้น ทุกฝ่ายต่างคนต่างขับเคลื่อนโดยมีวัตถุประสงค์เดียวกัน ดังนั้นเลขาฯ สมช.จะว่าอย่างไรก็ว่าไป เพราะคนเหล่านี้เห็นความล้มเหลวด้วยตาของเขาเอง























กำลังโหลดความคิดเห็น