ปชป.สั่งลูกพรรคทำพื้นที่เตรียมลุยเลือกตั้ง จับตา 36 เวทีรับฟังเห็นโครงการ 3.5 แสนล้าน เข้าข่ายผิดกฎหมายเลี่ยงทำประชาพิจารณ์ ตำหนิรัฐยัดข้อมูลเท็จหลอกชาวบ้านดันโครงการ อีกด้านเตรียมร่างข้อบังคับใหม่ เฉ่ง “อลงกรณ์” ทวีตลากพรรคเสียหาย ด้าน “เฉลิมชัย” ยอมรับโครงสร้างใหม่เชื่อพาพรรคเข้มแข็งขึ้น
วันนี้ (8 ต.ค.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุม ส.ส.ว่า ที่ประชุมมีการวิเคาระห์ว่า รัฐบาลล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินทุกประเด็น จึงได้มีการกำชับ ส.ส.ทุกคนให้ทำงานอย่างหนัก ทั้งในสภาต่อการตั้งกระทู้เสนอญัตติเพื่อให้รัฐบาลตื่นตัวทำงานมากขึ้น รวมถึงนอกสภาให้เร่งทำงานในระดับพื้นที่อย่างเข้มข้น เพื่อให้ประชาชนได้ข่าวสารที่เป็นจริงไม่ผ่านการบิดเบือน เพราะพรรคถูกปิดกั้นจากรัฐบาลในการให้ข้อมูลสาธารณะผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงเรื่องที่รัฐบาลทำขัดต่อรัฐธรรมนูญกรณีโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
โดยได้มีการออกเอกสารประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อออกแบบก่อสร้างการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยประกาศสำนักนายกฯ ประกาศจัดเวทีทั้งหมด 36 แห่ง ตั้งแต่ 15 ต.ค.ถึง 15 ธ.ค.เป็นเวลา 2 เดือน โดยไม่ใช้ชื่อว่าเป็นประชาพิจารณ์ แต่ใช้ว่า เป็นการรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น ซึ่งมีความแตกต่างกัน เพราะการรับฟังความคิดเห็นลักษณะนี้จะเป็นการหลีกเลี่ยงการกระทำตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการทำประชาพิจารณ์ เพราะต้องมีขั้นตอนแบบแผนที่ชัดเจน เช่น ต้องมีการให้ข้อมูลกับสาธารณะ ตามกำหนดวัน ล่วงหน้า และเปิดเวทีให้ผู้มีส่วนได้เสียมาแสดงความคิดเห็น โดยรัฐต้องเอาความเห็นดังกล่าวมาสังเคราะห์เพื่อประกอบการดำเนินโครงการต่อไป แต่คราวนี้รัฐบาลจงใจหลีกเลี่ยง เพราะไม่ต้องการนำความเห็นที่ได้รับมาประกอบการพิจารณาในการเดินหน้าโครงการ แต่ต้องการจัดเวทีนี้ให้ผ่านไปเร็วๆ เพื่อเป็นข้ออ้างต่อศาลปกครองว่าได้ทำตามรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งทางพรรคจะจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะเรื่องนี้รัฐบาลจ้องลักไก่ หวังตบตาศาลปกครองเพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไปได้
ส่วนการเดินสายจัดนิทรรศการโรดโชว์ 2 ล้านล้านบาท สร้างอนาคตไทย 2020 รัฐบาลพยายามตบตาประชาชนตามหัวเมืองใหญ่ โดยเฉพาะทางภาคอีสาน เช่น ล่าสุดที่ จ.หนองคาย โดยในแผ่นพับที่นำไปเผยแพร่ในงาน มีการเขียนแผนที่รถไฟความเร็วสูงจะไปถึงหนองคาย แต่ข้อเท็จจริงในแผนของรัฐบาลนั้นไปถึงเพียงนครราชสีมา ดังนั้นถือเป็นการโกหกทั้งในสาระ และเนื้อหารวมถึงบริบทการนำเสนอก็บิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างร้ายแรง ซึ่งทางพรรคจะปรึกษาทางฝ่ายกฎหมายว่า การที่รัฐบาลจงใจให้ข้อมูลเท็จกับประชาชน จะเข้าข่ายผิดกฎหมาย และผิดจริยธรรมการบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่อย่างไร
“ที่เห็นชัดคือตอนนี้รัฐบาลจนแต้มถึงขนาดเอาข้อมูลเท็จมาหลอกลวงประชาชน ส่วนการเลือกตั้งจะมาเร็วหรือช้าทางพรรคได้กำชับให้ ส.ส.เตรียมความพร้อม เพราะการเลือกตั้งจะเกิดได้ทุกเมื่อ แม้เพื่อไทยจะออกมาปฏิเสธ แต่ก็เห็นว่าไม่มีแกนนำคนไหนจะรู้ว่าอายุของรัฐบาลชุดนี้จะจบลงเมื่อไหร่ เพราะคนที่รู้คนเดียว และกดปุ่มยุบสภา ก็คือคนที่อยู่แดนไกล ดังนั้นพรรคจะไม่อยู่ในความประมาท จะเตรียมพร้อมทั้งด้านบุคลากร และยุทธศาสตร์ เพื่อเตรียมพร้อมการต่อสู้เลือกตังครั้งต่อไป” นายชวนนท์ กล่าว
นายชวนนท์ ยังกล่าวถึงการปรับโครงสร้างพรรคประชาธิปัตย์ว่าในวันนี้ ไม่ได้มีการนำเข้าที่ประชุม ส.ส.พรรค ซึ่งขณะนี้ได้ส่งโครงสร้างล่าสุดไปยังคณะที่ปรึกษากฎหมายของพรรค เพื่อทำการร่างข้อบังคับใหม่ให้สอดคล้องกับองค์ประกอบที่เปลี่ยนไป เมื่อตรวจสอบเสร็จก็จะส่งกลับมาที่คณะกรรมการบริหารอีกครั้งในสัปดาห์หน้าเพื่อตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง จากนั้นจะมีการเรียกประชุมร่วมกับ ส.ส.ก่อนที่จะนำไปสู่การเรียกประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อดำเนินการตามข้อบังคับใหม่ต่อไป
นายชวนนท์ เปิดเผยว่า ได้สอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงความเป็นไปได้ที่จะให้มีการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ควบคู่ไปกับการรับรองข้อบังคับพรรคได้เลยหรือไม่ เบื้องต้นได้รับการยืนยันจาก กกต.ว่าสามารถทำได้ เพราะไม่มีกฎหมายข้อใดบัญญัติไว้ว่า ข้อบังคับพรรคต้องได้รับการรับรองจาก กกต.ก่อน แต่จะประสานไปยัง กกต.เพื่อขอเอกสารยืนยันอีกครั้ง
นอกจากนี้ นายชวนนท์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในที่ประชุม ส.ส.บางคนได้ให้ความเห็นว่าการแสดงความเห็นต่อสาธารณะว่า เป็นเรื่องอิสระ และสิทธิ์ของบุคคลจริง แต่ต้องระมัดระวังในการทำให้การสื่อสารกลับมาทำให้พรรคเสียหาย หรือเกิดความเข้าใจผิดได้ โดยได้ย้ำให้ทุกคนระมัดระวังในการใช้ช่องทางการสื่อสารต่างๆ เพราะแม้จะเป็นสิทธิ์ส่วนตัว แต่เมื่อยังอยู่ในนามสมาชิกพรรค รวมถึงหากเป็นข้อความดังกล่าวมีการพาดพิงมาถึงพรรค พรรคก็จะถูกนำไปเชื่อมโยงจนเกิดเสียงวิจารณ์ทางไม่ดีในอนาคตได้
นายชวนนท์ ยืนยันด้วยว่า ท่าทีของนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคภาคกลาง ทั้งในที่ประชุม กก.บห.และในที่ประชุม ส.ส.พรรควันนี้ (8 ต.ค.) ไม่ได้แสดงท่าทีเป็นลบ หรือสร้างความขัดแย้ง และยังเห็นด้วยในทุกกรณี ต่อมติที่เป็นเอกฉันท์ แต่การจะแสดงออกอย่างไรถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เห็นชอบพร้อมกันทั้งพรรค ส่วนกรณีที่ระบุถึงปัญหาความขัดแย้งถึงขั้นนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค จะลาออก ทาง นายเฉลิมชัย เองไม่ได้แสดงความเห็นนี้ในที่ประชุม เพียงแต่พูดว่า ไม่ทราบว่านายอลงกรณ์ไปทวีตเรื่องนี้ ไม่ได้ให้ความเห็นในรายละเอียดที่นายอลงกรณ์ ระบุ เพียงแต่เห็นว่า การปฏิรูปครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาพรรคให้มีความเข้มแข็งที่สุดในการต่อสู้ต่อไป และยังเห็นด้วยกับแนวทางนี้ทุกประการ และพร้อมที่จะยอมรับต่อการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้น
ส่วนที่มีการมองว่าโครงสร้างใหม่มีการมอบอำนาจให้กับหัวหน้าพรรคมากขึ้น หากในอนาคตมีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคที่ไม่อยู่ในหลักจะทำให้พรรคเดินต่อไปได้หรือไม่ โฆษกพรรคกล่าวว่า เท่าที่ดูในรายละเอียด ถือเป็นการให้อำนาจที่พอสมควรกับผู้บริหารพรรค เพราะยังมีคณะกรรมการบริหารพรรคถึง 7 คน จากเดิมมี 3 คนที่ได้รับการโหวตจากที่ประชุมใหญ่ ดังนั้น การคานอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับที่ประชุมใหญ่ และสภาที่ปรึกษา ถือว่ามีการวางระบบที่รัดกุมพอสมควร แต่การมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับหัวหน้าพรรค ถือเป็นจุดหนึ่งที่จะสร้างความเข้มแข็งต่อการบริหารงานในอนาคตได้ ซึ่งเมื่อข้อบังคับผ่านมติที่ประชุม คณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบันจะพ้นตำแหน่งโดยปริยาย เพื่อให้มีการเลือกตั้งตามข้อบังคับพรรคใหม่ และมั่นใจว่า หากได้โครงสร้างใหม่ที่ดีขึ้น จะสามารถสู้การเลือกตั้งกับพรรคเพื่อไทยได้