xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.จี้ “ปู” เลิกไร้เดียงสา หยุดดัน กม.นิรโทษฯ เฉ่งขึ้นค่าแก๊สซ้ำเติมคนจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต (แฟ้มภาพ)
“ชวนนท์” เรียกร้อง “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” เลิกทำตัวไร้เดียงสา หยุด กม.ล้างผิดเพื่อยับยั้งความสูญเสียก่อนนองเลือด เตือนดันร่าง กม.นิรโทษกรรมฉบับ “วรชัย” พาบ้านเมืองวิกฤต ขณะเดียวกัน เฉ่งรัฐบาลซ้ำเติมคนจน ขึ้นค่าแก๊สทำราคาพุ่งถังละ 370 บาท งงให้คนจนไม่มีไฟฟ้าใช้ เอามือถือโทร.ลงทะเบียน ขอใช้สิทธิ์ชดเชยราคาแก๊ง ทำระบบยุ่งยาก เปิดช่องสวมสิทธิงุบงิบเงินเข้ากระเป๋าเดือนละหลายร้อยล้าน พร้อมโต้ “ปลอดประสพ” แจงทำประชาพิจารณ์เขื่อนยมบน-ยมล่างแบบมวยวัด พอจับได้ก็กลับลำอ้างแค่ทำความเข้าใจ ปชช. ตั้ง 6 คำถามแจงเงินกู้ 3.5 แสนล้าน





นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันที่รัฐบาลกำลังจะผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เข้าสู่การพิจารณาของสภาว่าอาจเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงจนนำไปสู่การนองเลือด และความสูญเสียได้ จึงขอกราบเรียกร้องไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีว่า ขอให้เลิกไร้เดียงสาสักเรื่อง เพราะเมื่อวานมีคนไปถามนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ แต่มีการบอกว่าตนเองเป็นเพียงแค่เสียงเดียวในสภา ทั้งๆ ที่ใครก็รู้ว่าพรรคเพื่อไทยขับเคลื่อนโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายนายกรัฐมนตรี และตระกูลชินวัตร ซึ่งนายกรัฐมนตรีสามารถสังซ้ายหันขวาหันได้ แต่เรื่องที่จะเป็นปัญหาจนอาจนำไปสู่การนองเลือด น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับบอกว่ามีเพียงแค่เสียงเดียว ทั้งที่อยู่ในสถานะที่สามารถหยุดยั้งความเสียหายได้แต่กลับไม่ทำ

“ผมขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หยุดยั้งความสูญเสียเพื่อบ้านเมือง เพราะไม่มีเหตุผลที่จะหักดิบ หรือหักด้ามพร้าด้วยเข่า เนื่องจากถ้าประเทศเสียหาย วุ่นวาย มีประชาชนบาดเจ็บล้มตาย ก็จะเป็นการซ้ำเติมบาดแผลในประเทศให้ลึกลงไปอีก ผมจึงเรียกร้องว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องเลิกประพฤติตนไร้เดียงสา และรับผิดชอบต่อประเทศไทย แต่ถ้าไม่ทำแล้วเกิดเหตุการณ์ใดก็ตาม นายกฯ และพรรคเพื่อไทยต้องรับผิดชอบกับผลที่จะตามมาด้วย”

นายชวนนท์กล่าวด้วยว่า ขอให้รัฐบาลหยุดกฎหมาย 6 ฉบับที่ค้างอยู่ในสภา แล้วหันมามองกฎหมายที่ภาคประชาชนเสนอ และแนวทางที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาได้เสนอทางออกไว้ แต่ดูเหมือนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไม่ให้ความสนใจกับข้อเสนอของประชาชน เมื่อนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด ไปหาก็ให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี มารับหน้าแทน แล้วก็พูดเรื่อยเปื่อยว่าจะให้นายพงศ์เทพไปศึกษาดู ทั้งๆ ที่มีเป้าหมายอยู่แล้วว่าจะผลักดันกฎหมายของนายวรชัยต่อ แต่ที่ให้สัมภาษณ์ว่าจะศึกษาร่างของประชาชนก็เพียงแค่ซื้อเวลา แต่สุดท้ายก็ละทิ้งวัตถุประสงค์ของประชาชนเอาแต่เป้าหมายของตัวเอง ทั้งนี้ตนจะจับตาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมีปฏิกิริยามากกว่านี้หรือไม่

นายชวนนท์กล่าวอีกว่า ในการประชุม ครม.เงาพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีความเป็นห่วงกรณีที่รัฐบาลจะขึ้นราคาแก๊สหุงต้มในวันที่ 1 ก.ย. 56 โดยมีเป้าหมายที่จะปรับราคาเดือนละ 50 สตางค์จนครบ 6 บาท ซึ่งจะทำให้แก๊สถัง 15 กิโลกรัมที่ปัจจุบันราคา 300 บาท จะขยับขึ้นเป็น 370 บาทต่อถัง สวนทางกับสิ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยระบุว่าจะกระชากค่าครองชีพลงมา แต่ทำไมจึงขึ้นค่าแก๊สหุงต้มซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ประชาชน โดยกระทรวงพลังงานอ้างว่าต้นทุนแก๊สสูงและรัฐบาลต้องไปชดเชยให้ จึงขอตั้งคำถามถึงนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ว่า 1. กระทรวงพลังงานไม่เคยเปิดเผยการคำนวณต้นทุนแก๊สหุงต้มให้ประชาชนรับทราบ มีแต่ตัวเลขที่สมมติขึ้นมาเองทั้งสิ้น จึงขอเรียกร้องว่าก่อนมีการปรับราคาแก๊สหุงต้ม ต้องเปิดเผยต้นทุนตั้งแต่ปากหลุม ค่าขนส่ง การบรรจุ ไปจนถึงปลายทาง และต้องอธิบายว่าทำไมรัฐบาลต้องมาขูดรีดกับคนจน เพราะนอกจากขึ้นราคาแก๊สหุงต้ม 6 บาทแล้วยังมีแผนที่จะขึ้นราคาแก๊สเป็น 30 บาทต่อกิโลกรัมให้เท่ากับภาคอุตสาหกรรมด้วย

นายชวนนท์กล่าวว่า ตนมีความข้องใจเกี่ยวกับแนวทางที่รัฐบาลจะชดเชยให้กับคนจน โดยมีแผนงานที่จะช่วยประชาชน 3 กลุ่ม คือ ช่วยคนจนกลุ่มที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ 1.8 แสนครัวเรือน ใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 90 หน่วยต่อเดือนจำนวน 7.43 ล้านครัวเรือน และหาบเร่แผงลอยอีก 1.6 แสนราย รวมรัฐจะต้องจ่ายชดเชยให้ 3 กลุ่มนี้ใช้แก๊สในราคาเดิมคิดเป็นเงินนับพันล้านบาทต่อเดือน แต่รัฐบาลกลับสร้างระบบการชดเชยที่ยุ่งยากซับซ้อน จนคนจนไม่น่าจะเข้าถึงการชดเชยของภาครัฐได้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการสวมสิทธิตามมา หากมีการสวมสิทธิเพียงแค่ครึ่งเดียวจะมีคนได้กำไรจากการชดเชยราคาแก๊สหุงต้มเดือนละหลายร้อยล้านบาท ซึ่งพรรคจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดว่าจะเกิดปัญหาซ้ำรอยกับกรณีคูปองพลังงานที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือไม่

“ผมไม่เข้าใจวิธีการของกระทรวงพลังงานที่จะทำในวันที่ 1 กันยายน ซึ่งจะเริ่มขยับราคาแก๊สหุงต้ม เพราะมีการใช้วิธีประหลาด โดยให้คนที่อยู่ในกลุ่มได้รับการชดเชยจากรัฐต้องลงทะเบียนผ่านโทรศัพท์มือถือ ต้องระบุรหัสผู้ใช้สิทธิ์ รหัสแก๊ส ขนาดถัง รหัสร้านค้า และอื่น อีกหลายอย่าง จากนั้นจะได้รับเอสเอ็มเอสตอบกลับมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก จึงอยากถามว่าคนจนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้จะมีโทรศัพท์มือถือที่จะใช้สิทธิเพื่อขอรับการชดเชยราคาแก๊สหุงต้มจากรัฐบาลหรือไม่ และคนจนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้จะเอาโทรศัพท์มือถือไปชาร์จแบตเตอรี่ที่ไหน หรือว่าต้องไปชาร์จจากไฟของเพื่อนบ้าน นี่คือความผิดปกติของระบบที่กระทรวงพลังงานสร้างขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าจะเกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน”

นายชวนนท์ยังกล่าวถึงกรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ออกมาตอบโต้ตนเรื่องการใช้เงิน 3.5 แสนล้านบาทในโครงการบริหารจัดการน้ำ โดยกลับคำพูดจากเดิมที่เคยระบุว่าโครงการยมบน-ยมล่างมีการทำประชาพิจารณ์ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 55 ว่า ไม่เคยมีการทำประชาพิจารณ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 66 แล้ว หลังจากที่ตนตั้งคำถามว่าเอารายละเอียดอะไรไปทำประชาพิจารณ์ว่าเป็นคำพูดที่ขัดแย้งกันเอง เพราะก่อนหน้านี้นายปลอดประสพระบุชัดเจนว่าเป็นการทำประชาพิจารณ์ แต่เมื่อถูกจับผิดได้ก็อ้างว่าเป็นเพียงแค่การทำความเข้าใจกับประชาชนและเสนอโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบต่อ ครม.เท่านั้น ซึ่งตนเห็นว่าเป็นการตอบโต้แบบมวยวัด ใช้อารมณ์มากกว่าจะให้ข้อเท็จจริงต่อประชาชน แต่ตนไม่ถือสาเพราะเดี๋ยวนี้คนแก่ไม่ค่อยรักษาคำพูด แต่ขอให้นายปลอดประสพตอบคำถาม 6 ข้อ คือ 1. นายปลอดประสพเมื่อวาน กับนายปลอดประสพที่เคยบอกว่ามีการทำประชาพิจารณ์โครงการเขื่อนยมบน-ยมล่าง ปลอดประสพคนไหนที่โกหก

2. นายปลอดประสพ ยอมรับว่าต้นปี 2555 ไม่มีรายละเอียดโครงการใดๆ ทั้งสิ้นในมือ แต่พูดว่าผ่านมาปีครึ่งขณะนี้มีรายละเอียดแล้ว 9 โครงการ จึงขอถามว่ามีอะไรบ้าง ใครเป็นคนคิดโครงการ เค วอเตอร์ บริษัทร่วมทุนไทย-จีน หรือหน่วยราชการไทย 3. โครงการยมบน-ยมล่างที่จะก่อสร้างจังหวัดแพร่ ถามว่าใครเป็นต้นคิดสร้าง เป็นข้อเสนอของเค วอเตอร์ หรือเป็นแผนที่อยู่ในข้อเสนอของกรมชลประทานอยู่แล้ว 4. นายปลอดประสพบอกว่าตนไม่เข้าใจว่าเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทต้องใช้พื้นที่เป็นตัวกำหนด จึงไม่สามารถใช้งบปกติได้นั้น ขอให้ขยายความว่าทำไมต้องใช้เงินกู้ อะไรคือรายละเอียดของคำว่าพื้นที่เป็นตัวกำหนด

5. โครงการยมบน-ยมล่างที่จะมีการทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยใช้เวลาภายใน 3-4 เดือน ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะมีการศึกษาผลกระทบหลายครั้งแต่ไม่เคยผ่าน ทั้งที่ใช้เวลาศึกษามานานหลายปี มีอะไรทำให้มั่นใจว่าจะดำเนินการได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว และ 6. ใครจะเป็นผู้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทำความเข้าใจกับประชาชน การเวนคืนที่ดิน การชดเชยความเสียหายให้ประชาชน เป็นหน้าที่ของเอกชน แต่เควอเตอร์ไม่ได้ออกมาพูดอะไรเลย มีแต่นายปลอดประสพ ณ เค วอเตอร์ ที่ออกมาพูดคนเดียว จะกลายเป็นว่าคนไทยต้องเสียภาษีสองต่อจ่ายให้ เควอเตอร์และให้หน่วยงานรัฐต้องไปศึกษาในสิ่งที่กำหนดเป็นทีโออาร์ให้เอกชนต้องรับผิดชอบหรือไม่

นายชวนนท์ยังตอบโต้นายปลอดประสพที่กล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2554 ว่า เป็นการพูดเท็จซ้ำซาก ทั้งๆ ที่มีหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ กักเก็บน้ำในเขื่อนเพื่อใช้ในการหาเสียงกับชาวนาจากโครงการจำนำข้าว ไม่มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะโกงกิน ทุจริตจากโครงการจำนำข้าวที่ขาดทุนมหาศาลในปัจจุบัน เป็นบาปของรัฐบาลที่ทำไว้กับประเทศไทย จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดนายปลอดประสพยังมีหน้ากล่าวหาคนอื่นด้วยข้อมูลเท็จ และขอฝากไปยังนายปลอดประสพว่าไม่ต้องมาบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์โง่หรือฉลาด เพราะการโต้เถียงกับคนอย่างนายปลอดประสพไม่จำเป็นต้องใช้สมองมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น