สวนดุสิตโพลสำรวจความเห็น “พูดจาประสาปรองดอง” พบส่วนใหญ่ 29% ควรพูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ร่วมใจสามัคคีเพื่อแก้ปัญหา ส่วนสิ่งที่ไม่ควรพูด อันดับแรก 35% ไม่ควรรื้อฟื้นขุดคุ้ยเรื่องเก่าให้เป็นประเด็นโต้แย้ง สำหรับการสร้างความปรองดอง ส่วนใหญ่ 28% เห็นว่าควรมีรอยยิ้ม เอื้อเฟื้อช่วยเหลือผู้อื่น
จากกระแสข่าวการสร้างความปรองดองเพื่อยุติความขัดแย้งของคนไทยในยุคที่แตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ณ วันนี้ แต่มีหลายฝ่ายมองว่าการสร้างความปรองดองยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น เพื่อที่จะหาแนวทางขจัดความขัดแย้งสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ กรณีพูดจาประสาปรองดอง จำนวน 1,269 คน ระหว่างวันที่ 13-16 สิงหาคม 2556 สรุปผลดังนี้
สิ่งไหนหรือเรื่องใดที่ควรพูดจากันเพื่อทำให้เกิดการปรองดองของคนไทยในยุคที่แตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ณ วันนี้ คือ อันดับ 1 สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและประชาชน ความร่วมมือร่วมใจสมัครสมานสามัคคี เพื่อแก้ไขปัญหา ณ วันนี้ ให้ดีขึ้น 29.77% อันดับ 2 พูดถึงต้นเหตุหรือสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยยอมรับในความเห็นที่แตกต่างกัน ของแต่ละฝ่าย 28.16% อันดับ 3 กิจกรรม แนวทาง วิธีการที่จะช่วยสร้างสรรค์พัฒนาสังคมโดยเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วม 22.64% อันดับ 4 ข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จริงที่จะช่วยให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจน ตรงกัน 10.98% อันดับ 5 ความสำคัญของการปรองดองที่มาจากความตั้งใจและบริสุทธิ์ใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 8.45%
สิ่งไหนหรือเรื่องใดที่ไม่ควรพูดจากันเพราะยิ่งทำให้เกิดความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมากขึ้น อันดับ 1 หยิบยกเรื่องราว เหตุการณ์ที่ยังเป็นปัญหาอยู่มาพูด รื้อฟื้นขุดคุ้ยเรื่องเก่าให้เป็นประเด็นโต้แย้งกัน การพูดถึงบุคคลที่เป็นประเด็นทางสังคม 35.13% อันดับ 2 การกล่าวหาลอยๆ หรือใช้ข้อมูลเท็จเพื่อใส่ร้ายป้ายสี โจมตีหรือยั่วยุให้เกิดความวุ่นวาย 21.82% อันดับ 3 การแก้กฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องนิรโทษกรรมเพื่อช่วยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง การใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบทางกฎหมาย 19.27% อันดับ 4 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันหรือหมิ่นเบื้องสูง 12.74% อันดับ 5 การวิพากษ์วิจารณ์ พูดพาดพิงถึงบทบาท ท่าทีหรือแนวคิดของผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ 11.04%
ส่วนในฐานะคนไทยคนหนึ่งจะช่วยสร้างความปรองดองให้เกิดในสังคมไทยได้อย่างไร อันดับ 1 มีรอยยิ้ม มีน้ำใจต่อผู้อื่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 28.97% อันดับ 2 วางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด มีสติมีวิจารณญาณในการติดตามรับฟังข่าวสาร 25.53% อันดับ 3 เป็นพลเมืองดี เคารพกฎหมาย ไม่ออกมาเคลื่อนไหว ชุมนุมหรือเข้าร่วมกิจกรรมเสื้อสีต่างๆ 18.67% อันดับ 4 ปลูกฝังจิตสำนึก อบรมสั่งสอนลูกหลานให้เป็นคนดี มีน้ำใจ รักชาติบ้านเมือง 14.81% อันดับ 5 แสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ สร้างสรรค์และมีส่วนร่วมในสังคมมากขึ้น ไม่ใช้คำพูดรุนแรง หยาบคาย หรือยั่วยุ ไม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง 12.02%