xs
xsm
sm
md
lg

จี้ “รัฐบาล” ตอบโต้ บีอาร์เอ็น “พท.-สมช.”ยัน"สะเดา"ปลอดภัยไม่เสียเปรียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(21 ก.ค.56) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ กลุ่มบีอาร์เอ็น ประนามว่ารัฐไทยก่อเหตุรุนแรงก่อน ในช่วงที่มีการตกลงลดความรุนแรง ระหว่างเดือนรอมฎอน ว่า พรรคประชาธิปัตย์หวังเห็นสันติสุขในพื้นที่ภาคใต้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความน่าสะพรึงกลัว เพราะนอกจากรัฐบาลเปิดโอกาสให้บีอาร์เอ็น ออกแถลงการณ์กล่าวอ้าง อ.สะเดา เป็นพื้นที่รุนแรงเพิ่มเติม และยังมีการออกแถลงการณ์ประนามรัฐบาลไทย ว่าใช้ความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะรัฐบาลตกเป็นฝ่ายตั้งรับ บีอาร์เอ็น จะทำอะไรก็ได้ แต่รัฐบาลไทยไม่มีการประท้วงอย่างเป็นทางการ ในขณะที่บีอาร์เอ็นทำอย่างเป็นทางการทุกอย่าง เพื่อให้ปรากฏต่อสังคมโลก จึงเห็นว่ารัฐบาลจะปล่อยให้บีอาร์เอ็น ที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้มีตัวตนขึ้นมาทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้รับการยอมรับจากประเทศไทย กระทำการตามอำเภอใจไม่ได้ เพราะในช่วงที่มีข้อตกลงลดความรุนแรงนี้ มีเหตุเกิดไม่น้อยกว่า 20 ครั้งแล้ว
ดังนั้นรัฐบาลต้องประนามบีอาร์เอ็น ไม่ใช่ปล่อยให้บีอาร์เอ็น ประนามไทยรายวัน และหาก บีอาร์เอ็นไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า จะควบคุมสถานการณ์ได้ รัฐบาลต้องหยุดการเจรจาในทันที ไม่ใช่ต่อรองโดยที่ไม่รู้ว่าบีอาร์เอ็น ทำอะไรได้บ้าง ประชาชนตายรายวัน หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ผิดหลักการเมืองระหว่างประเทศอย่างยิ่ง เพราะหากบานปลายออกไป จนมีประเทศอื่นยื่นมือเข้ามา จะทำให้ไทยเสียเปรียบในเรื่องการจรจามากขึ้น หากสมช.ไม่ทำ กระทรวงการต่างประเทศ ก็ต้องเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อยืนยันว่ารัฐไทย เป็นเจ้าของแผ่นดินในประเทศไทย ทุกตารางนิ้ว
ด้านร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าได้ตรวจสอบกับพล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้ว ขอยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ ไม่มีเอกสารเกี่ยวกับเรื่องบันทึกความเข้าใจร่วมของบีอาร์เอ็น ตามที่นายชวนนท์ อิินทรโกมาลสุตย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอ้าง ส่งมาถึงฝ่ายไทยแต่อย่างใด และฝ่ายไทย ไม่ได้มีการลงนามในเอกสารใดๆ ทั้งสิ้น จึงขอให้นายชวนนท์ หยุดพูดจาบิดเบือนว่าฝ่ายไทยรับทราบ หรือลงนามในเอกสารใดๆ กับบีอาร์เอ็น ที่จะทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ได้แล้ว เพราะขณะนี้ไทยและบีอาร์เอ็น อยู่ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างความไว้วางใจต่อกันเท่านั้น ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการเจรจาอย่างเป็นทางการ ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่มีการเจรจา แต่กระบวนการพูดคุย ก็อยู่ในสายตาของกระทรวงการต่างประเทศอยู่แล้ว เพราะเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ เป็นคณะทำงานในกลุ่มงานสร้างความเข้าใจ โดยมีหน้าที่สื่อสารให้องค์การโอไอซี (OIC )รับทราบเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุยชนในพื้นที่
ดังนั้นการที่นายชวนนท์ อ้างว่าไม่มีเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศมีส่วนร่วมในการทำงาน จึงเป็นการให้ข้อมูลเท็จ นอกจากนี้ ขอให้นายชวนนท์ หยุดกล่าวหาว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ลงมาดูแลปัญหาภาคใต้ด้วยตัวเองได้แล้ว เพราะความจริงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้กำกับนโยบายสูงสุดทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแแก้ปัญหาความไม่สงบภาคใต้อยู่แล้ว ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นอกจากนี้ท่านนายกฯ ก็ยังเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) ด้วยตัวเอง และได้มอบนโยบายอย่างชัดเจนว่า ให้แก้ปัญหาโดยยึดหลักสันติวิธี และยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม รวมทั้งต้องเปิดโกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และร่วมสร้างความเจริญและการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ ส่วนเรื่องทางยุทธวิธีซึ่งเป็นภาคปฏิบัติ ก็เป็นหน้าที่ของ กองอำนวยการรักษามั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ( กอ.รมน. ภาค 4 สน. ) ซึ่งนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงในฐานะ ผอ.รมน. อยู่แล้ว
การที่โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ จะมาอ้างว่า นายกฯยิ่งลักษณ์ ไม่เข้ามาดูแลสั่งการเรื่องดับไฟใต้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่สิ่งที่รัฐบาลกังวลก็คือ การที่โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม เรียกกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า กลุ่มโจร เนื่องจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นห่วงว่าอาจเป็นการสร้างเงื่อนไขความรุนแรงอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน จากคำพูดของนายชวนนท์ ในขณะที่นายชวนนท์ อาจไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะนั่งให้สัมภาษณ์อยู่ในห้องแอร์ใจกลางเมืองหลวง จึงขอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำกับดูแลลูกพรรคประชาธิปัตย์ให้ระมัดระวังการใช้คำพูด ที่จะสร้างเงื่อนไขความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ด้วย เพราะจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทั้งยังจะเป็นอุปสรรคในการทำงานของเจ้าหน้าที่
ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.)พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้(ผอ.ศปก.กปต.) พร้อมด้วยพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เสนาธิการทหารบก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ซึ่งถือเป็นการลงพื้นที่ครั้งแรกของ พล.ต.อ.ประชา หลังรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง โดยจะเดินทางไปรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ และการดำเนินการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเยี่ยมหน่วยปฏิบัติงานที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร จ.ปัตตานี พร้อมร่วมเปิดปอซอ กับหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำศาสนา และประชาชน ที่มัสยิดกลาง จ.ปัตตานี ด้วย โดยพล.ต.อ.ประชา กล่าวก่อนลงพื้นที่ว่า ในฐานะที่ได้รับงานจากนายกรัฐมนตรีจึงจำเป็นต้องลงไปพบกับหน่วยที่ปฏิบัติในพื้นที่ เป็นการพูดคุยกัน และไปดูความพร้อม รวมถึงให้คำแนะนำบางประการ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ส่วนนโยบายการปฏิบัตินั้นชัดเจนอยู่แล้ว
ทั้งของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งทุกหน่วยมีนโยบายชัดเจนในการปฏิบัติ ส่วนการดูแลประชาชนชาวไทยพุทธ และไทยมุสลิม ยืนยันว่า เท่าเทียมกันไม่ได้มีการละเลยใด ๆ เราให้ความสำคัญเท่ากันหมด
ด้านพล.ท.ภราดร กล่าวถึงกรณีที่ นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ในฐานะตัวแทนในการพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลไทย ยื่นหนังสือต่อ นายดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย เพื่อประท้วงว่าฝ่ายไทย ได้ละเมิดข้อตกลงในการลดความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนว่า เราได้มีการชี้แจงผ่านผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซียว่า ข้อเท็จจริงไม่ใช่อย่างนั้น การปฎิบัติของเรายังเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ ไม่ได้มีการละเมิดการปฏิบัติแต่ประการใดทั้งนี้ยืนยันว่า ฝ่ายไทยไม่ได้ตกเป็นรองฝ่ายบีอาร์เอ็น เพราะแนวทางในการดำเนินการของเรายึดภาคประชาชนเป็นหลัก โดยตอบสนองความปลอดภัยของประชาชน และแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี
ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เราจะต้องไปตอบโต้ผ่านทางกระทรวงต่่างประเทศ หลักของเราคือ มาตรการเชิงรับ คือ การดูแลความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนทั้งเป้าหมายที่อ่อนแอ และสถานที่สำคัญต่างๆ ส่วนพื้นที่อ.สะเดา จ.สงขลาเรายืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ก่อความไม่สงบ พื้นที่หลักในการก่อความไม่สงบยังเป็นพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บวกกับ 4 อำเภอในจ.สงขลาอยู่ ทั้งนี้อ.สะเดาเป็นช่องทางที่ประชาชนชาวไทยมุสลิมที่ไปทำงานที่มาเลเซียแล้วต้องเดินทางกลับมายังประเทศไทยช่วงเดือนรอมฎอนจำนวนมาก ซึ่งผู้อำนวยความสะดวกสื่อสารตรงนี้มาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยให้ประชาชนชาวไทยมุสลิมเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมว่า เป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัยแต่อย่างใด ทั้งนี้เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เราต้องยอมรับว่า ไม่ได้เกิดจากขบวนการก่อความไม่สงบเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยจากภัยแทรกซ้อนอย่่างอื่นอีก เหตุความรุนแรงคงจะต้องมีบ้าง แต่จากสถิติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ยังน้อยกว่า 4 ปีที่ผ่านมาอยู่มาก
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกล่าวถึงกรณีที่ กลุ่มบีอาร์เอ็น ได้ออกแถลงการณ์ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ละเมิดข้อตกลงในช่วงเดือนรอมฎอนก่อนนั้น ได้ปฏิเสธว่า ทางรัฐบาลไม่เคยละเมิดข้อตกลงตามที่ถูกกล่าวอ้าง และยืนยันว่า ได้ปฏิบัติตามข้อตกลง และยึดแนวทางนโยบายตั้งรับ ที่จะเน้นดูแลความสะดวกของประชาชนในการเดินทางประกอบศาสนกิจ ซึ่งทางรัฐบาลก็ได้ชี้แจงทางวาจา ต่อผู้ประสานงานกับประเทศมาเลเซียแล้ว จึงยังไม่จำเป็นต้องออกแถลงการณ์ตอบโต้อย่างเป็นทางการ เพราะยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ สำหรับ อ.สะเดา จ.สงขลา ก็ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการประกาศกฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่อย่างใด ซึ่งจะมีเพียงการดูแลความปลอดภัยในการคมนาคม เพราะ อ.สะเดา เป็นพื้นที่สำคัญของการเดินทางในช่วงเดือนรอมฎอน
ทั้งนี้ ในการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ ได้มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีสีหน้าสดใสขึ้น ตั้งแต่มีข่าวคลิปการสนทนากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแต่อย่างใด
พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 และหนึ่งในตัวแทนที่พูดคุยเพื่อสันติภาพ ระหว่างตัวแทนรัฐบาล กับ BRN กล่าวถึงกรณีที่ BRN ส่งสัญญาณว่า ไทยเป็นฝ่ายละเมิดสิทธิก่อน ว่า ไม่ควรไปสนใจ เพราะตอนนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อเหตการณ์ที่เกิดขึ้น และเบื้องต้น คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามผลเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ในช่วงเดือนรอมฎอน พบว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มาจากเรื่องอื่นมากกว่า โดยเฉพาะกรณีเหตุยิง มีทั้งเรื่องส่วนตัว ยาเสพติด และความขัดแย้ง
ทางด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายอดทนเพื่อความสงบสุขของพี่น้องประชาชน ตอนนี้ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ในช่วงเดือนรอมฎอนแล้ว ถือว่าอยู่ระหว่างการเร่งหาข้อเท็จจริง ขอเป็นกำลังใจกับทุกฝ่าย เพื่อสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้านบรรยากาศทั่วไปในพื้นที่จังหวัดยะลา เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครรักษาดินแดน ก็ยังคงคุมเข้มทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภายในเขตเทศบาลนครยะลา หวั่นคนร้ายจะก่อเหตุในช่วงนี้ หลังมีกระแสข่าว กลุ่ม BRN จะตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ หลังผู้นำศาสนา เสียชีวิตที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา และแกนนำถูกวิสามัญฯ ที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส
สำหรับวันนี้ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ได้รับคำสั่งให้ดูแลพื้นที่เป็นพิเศษ เนื่องจาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯและคณะ กำหนดที่จะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อประชุมรับทราบสถานการณ์ และจะร่วมรับประทานอาหาร หรือ "เปิดปอซอ" กับพี่น้องมุสลิมที่มัสยิดกลางปัตตานี ก่อนที่จะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในวันเดียวกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น