หัวหน้าประชาธิปัตย์ เชื่อชาวบ้านผิดหวังถูก นายกฯ ตำหนิ ปัดสนับสนุนรัฐประหาร ขอถอนร่างนิรโทษพ้นสภา ซัดเชิญทุกกลุ่มแค่สร้างภาพ ไปก็เสียดายโอกาส ลั่นค้านในสภาถึงที่สุด ด้านโฆษกพรรค จี้ปลดชนวนก่อน หยันแค่ซื้อเวลา แนะใช้ข้อเสนอ คอป.แทน "องอาจ" บอกใช้ พ.ร.บ.มั่นคงส่อไม่เป็นไปตามเจตนารมย์รธน.,ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ,ข่มขู่ประชาชน,คับแคบมองคนไทยเป็นศัตรู รับไม่มีส.ส.จ่อลาออกหลังผ่านวาระสาม
วันนี้ (3 ส.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการชุมนุมเพื่อคัดค้านการเดินหน้าออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของรัฐบาลในวันที่ 4 ส.ค.นี้ ว่า ตนมองว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และเห็นว่าประชาชนคงจะผิดหวังในสิ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ เพราะแทนที่นายกฯ จะเข้าใจประเด็น แต่กลับออกมาตำหนิคนบางกลุ่ม ขณะที่ทางฝ่ายค้านก็ให้โอกาสรัฐบาลได้พิสูจน์ถึง 2 ปี โดยไม่เคยขัดขวางการลงพื้นที่ของรัฐบาล และไม่สนับสนุนให้มีการรัฐประหาร เพียงขอเพียงอย่างเดียวคือ ให้รัฐบาลถอนร่างพ.ร.บ.ปรองดอง และร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้งหมดออกจากสภา แต่รัฐบาลก็ไม่ฟัง กลับยืนยันจะเดินหน้าในเรื่องนี้ ดังนั้น การที่รัฐบาลออกมาประกาศว่า จะมีการเชิญตัวแทนทุกกลุ่มไปพูดคุยเจรจาก็เป็นแค่การสร้างภาพเท่านั้น เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยจัดการกับผู้ที่ขัดขวางและข่มขู่พรรคประชาธิปัตย์ในการเปิดเวทีผ่าความจริง รวมไปถึงการข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ตนทราบมาว่า แนวทางปฏิรูปการเมืองที่นายกฯ พูดนั้น นายกฯ ก็ไม่ได้ดำเนินการด้วยตัวเอง แต่มอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 2 - 3 คน เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งตนก็รู้สึกเสียดายโอกาสใช้ในการพูดคุย ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีการประสานมายังพรรคเพื่อเชิญไปร่วมพูดคุย ตนก็ขอถามนายกฯ ว่า จะไปพูดคุยเรื่องอะไร เพราะหากจะมีการพูดคุย ตนก็จะขอคุยเพื่อให้ประเทศลดความขัดแย้ง แต่ขณะนี้ปมความขัดแย้งยังคงอยู่ และเป็นวาระล่วงหน้าที่ต้องการจะนิรโทษเพื่อพี่ชายและพวกพ้อง ซึ่งหากนายกฯ ประกาศว่าหยุดนิรโทษกรรม ตนก็พร้อมจะคุย อย่างที่นายกฯ พูดว่าคนจะปรองดองหรือไม่อยู่ที่ใจ แต่ใจนายกฯ ไม่ปรองดอง อย่างไรก็ตาม หากการประชุมสภาในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ยังมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม อยู่ ตนขอยืนยันจุดยืนของฝ่ายค้านคือ คัดค้านอย่างถึงที่สุด
ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แนวคิดนี้เป็นเรื่องดี และพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่า การพูดคุยหาทางออกร่วมกันเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะนำพาประเทศไปสู่ความปรองดองแท้จริง แต่การที่พรรคเห็นด้วยนั้นก็มีคำถามไปยังน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า เจตนารมณ์ที่เสนอเรื่องนี้ในวันที่ประเทศกำลังเดินเข้าสู่ความขัดแย้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความจริงใจแค่ไหนที่จะผลักดันกระบวนการดังกล่าวหากจริงใจและอยากให้บ้านเมืองสงบ ก็ต้องมีจุดเริ่มต้นจากการปลดชนวนโดยถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ที่อยู่ในสภาฯให้หมด แต่หากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังพูดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องส.ส.หรือสภาฯ สิ่งที่พูดไปก็ไม่มีความหมายอะไร
"การเสนอเรื่องนี้คงเป็นแผนการซื้อเวลาให้ผ่านวันที่ 7 ส.ค.นี้ ที่สภาผู้แทนราษฎรจะประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเท่านั้น สถานการณ์คงจะรุนแรงมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน นอกจากนี้นายกฯ ควรสนับสนุนข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ที่ตรวจสอบความจริงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วย พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน" โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
ทางด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ เพื่อควบคุมการชุมนุม ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 ส.ค.นี้ ว่า อาจไม่ถูกต้อง เพราะ 1.ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ระบุว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ 2.ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ เพราะขณะนี้คณะบุคคลที่จะชุมนุมยังไม่ส่งสัญญาณให้เห็นว่าการชุมนุมจะเกินเลยกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด 3.เป็นการข่มขู่ประชาชนล่วงหน้า เนื่องจากรัฐบาลส่งสัญญาณการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่จะนำกำลังมาปราบปรามผู้ชุมนุม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ระบุว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมไม่กี่พันคน แต่วันนี้กลับเตรียมความพร้อมใช้ความรุนแรง ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลทบทวนเรื่องนี้ เพราะจะเป็นผลเสียต่อรัฐบาล 4.กลุ่มผู้ชุมนุมที่จะออกมานั้นก็มีความชัดเจนว่าคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม รัฐบาลไม่ควรมีทัศนคติคับแคบมองผู้ชุมนุมเป็นศัตรู ควรมองเป็นประชาชนที่สิทธิแสดงความเห็นต่างจากรัฐบาลเท่านั้น
นายองอาจ กล่าวต่อว่า ตนขอเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ห้ามปรามคนในรัฐบาลไม่ให้ออกมาบิดเบือนความจริงว่า การชุมนุมมีการยั่วยุและเรียกร้องให้ทหารออกรัฐประหาร เพราะตนตรวจสอบแล้วก็ไม่พบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มใดเรียกร้องให้มีการดำเนินการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การที่นายกฯ เสนอให้มีการตั้งสภาพัฒนาการเมือง เป็นเพียงกลยุทธ์หนึ่งที่รัฐบาลจะใช้เดินหน้าออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้ นอกจากนี้ ยืนยันว่า หากร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านการพิจารณาของสภาฯ วาระ 3 ได้นั้น ก็ยังไม่มี ส.ส.ของพรรคคนใดแสดงความจำนงว่าจะลาออก ซึ่ง ส.ส.ของพรรคจะยังคงทำหน้าที่ในสภาฯ ต่อไป