xs
xsm
sm
md
lg

ลูกจ้าง สพฐ.เฮ ครม.อนุมัติเพิ่มเงินเดือน 1.5 หมื่นบาท เห็นชอบ มศว.ออกนอกระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต (แฟ้มภาพ)
ครม.เห็นชอบเพิ่มเงินลูกจ้างรายเดือน ภารโรง สพฐ. ปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท อนุปริญญา 9 พันบาท ให้ย้อนหลังตั้งแต่ 1 ต.ค.55-30 ก.ย.56 พร้อมปรับเงิน กก.ปฎิรูปกฎหมาย ขณะเดียวกัน รับทราบผลการดำเนินการแก้ปัญหายางพารา มาตรการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตย์ โครงการรับจำนำข้าว และอนุมัติเปลี่ยนจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติเป็น 2 ปีครั้ง เห็นชอบ มศว.ออกนอกระบบ อนุมัติยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ปัญหาเอดส์ ปี 57-59

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. อนุมัติหลักการให้ปรับอัตรา ค่าจ้างสำหรับลูกจ้างรายเดือน นักการภารโรง และบุคลากรอื่น ๆ ที่ได้รับค่าจ้างรายวันหรือรายเดือน ในลักษณะจ้างเหมา ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดย 1. ผู้มีวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพเพิ่มขึ้น รวมเป็นค่าจ้าง เดือนละ 15,000 บาท ( รวมเงินสมทบกองทุนประกันสังคม รวมเป็นค่าจ้างเดือนละ 15,750 บาท) จากเดิม ได้รับ 9,140 บาท

2. ผู้มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพเพิ่มขึ้น รวมเป็นค่าจ้าง เดือนละ 9,000 บาท ( รวมเงินสมทบกองทุนประกันสังคม รวมเป็นค่าจ้างเดือนละ 9,450 บาท) จากเดิม วุฒิอนุปริญญา ได้รับ 6,410 บาท และ ปวช. ม.3 และ ม.6. ได้รับ 5,700 บาท โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ต.ค 2555-30 ก.ย 2556 ซึ่งปัจจุบันเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ มี 65,172 คน ต้องใช้งบประมาณ 3,300.82 ล้านบาท ในจำนวนนี้ มีบุคลากรที่ต้องลงไปปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายสร้างสันติสุขภาคใต้ของรัฐบาล จำนวน 2,040 อัตรา ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย เงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำ 15,000 บาท ต่ำกว่าปริญญาตรี ขั้นต่ำ 9,000 บาท ของรัฐบาล

นอกจากนี้ ขอให้ หน่วยงานต่างๆ ที่มีเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง ที่ได้รับค่าจ้าง ในลักษณะจ้างเหมา พิจารณาความจำเป็นหากต้องปรับค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เสนอความต้องการผ่านคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อขอความเห็นชอบจาก ค.ร.ม ต่อไป

ร.ท.หญิง สุณิสา แถลงอีกว่า ครม.ยังอนุมัติหลักการร่าง พระราชกฤษฎีกา ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ฉบับที่..) พ.ศ... ให้เพิ่มอัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินค่าตอบแทนรายเดือนของกรรมการปฏิรูปกฏหมาย ดังนี้ คือ ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้รับเงินเดือนเพิ่ม เป็น เดือนละ 74,420 บาท เงินประจำตำแหน่ง 45,500 บาท รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้รับ เงินเดือน ๆ ละ 73,240 บาท เงินประจำตำแหน่ง 45,500 บาท กรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา ได้รับเงินเดือน 73,240 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท จากเดิม ทั้งสามตำแหน่ง ได้รับเงินเดือน 62,000 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 45,500 บาท

ส่วนกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลา ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทนรายเดือน 50,200 บาท จากเดิม ได้รับ 42,500 บาท โดยให้มีผลย้อนหลัง ตั้งแต่ วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับค่าตอบแทนของคณะกรรมการด้านกฎหมายอื่น ๆ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และ ป.ป.ช. เป็นต้น

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการให้เปลี่ยนแปลงการจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ จากเดิมแข่งขันเป็นประจำทุกปี เป็นแข่งขัน ทุกสองปี ต่อครั้ง โดยให้มีผลตั้งแต่การแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งหน้าเป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อให้นักกีฬามีเวลาฝึกซ้อมเพื่อร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติมากขึ้น ซึ่ง นาย กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ฝากให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดูแลการพัฒนากีฬาสำหรับคนพิการด้วย ในขณะที่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เห็นว่าควรยกระดับวงการกีฬาไทยให้เชื่อมกับวงการกีฬาสากล

ร.ท. หญิง สุณิสา แถลงอีกว่า ครม. รับทราบความคืบหน้าในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา ผู้ปลูกไร่ข้าวโพด และ ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โดย นายวราเทพ รัตนากร ในฐานะ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ณ.วันที่ 7 ต.ค. 2556 มีเกษตรกรชาวสวนยางพารา แจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว 1,116,853 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 94.96 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมดที่คาดว่าจะมาขึ้นทะเบียน คือ 1,176,145 คน ซึ่ง นายวราเทพ เชื่อว่า ภายใน วันที่ 15 ต.ค 2556 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่รัฐบาล ยืดระยะเวลาให้ชาวสวนยางมาขึ้นทะเบียนเพื่อรับความช่วยเหลือ น่าจะมีชาวสวนยางมาขึ้นทะเบียนเพื่อรับสิทธิได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยขณะนี้ มีการโอนเงินให้ชาวสวนยางทั่วประเทศ ไปแล้ว 79,895,340 บาท

ในส่วนของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนแล้ว 2,575,530 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูก 3,141,572 ไร่ มีเกษตรกรผ่านประชาคม 359,911ครัวเรือน และออกใบรับรองเกษตรกรให้ชาวนาไปแล้ว 265,197 ครัวเรือน และ ในกลุ่มของผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีการบันทึกการขึ้นทะเบียนเกษตรกรในระบบแล้ว 184,042 ครัวเรือน มีผู้ผ่านประชาคม 82,412 ครัวเรือน และออกใบรับรองเกษตรให้ชาวไร่ข้าวโพดไปแล้ว 65,803 ครัวเรือน

ส่วนปัญหาความไม่ชัดเจนเรื่องการตีความเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่จะใช้รับสิทธิต่าง ๆ นั้น ค.ร.ม เห็นชอบตาม แนวทางของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่กำหนดหลักเกณฑ์ว่า "เอกสารสิทธิ์" หมายถึงเอกสารแสดงสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามกฎหมายอื่น รวมทั้งเอกสารแสดงการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่หน่วยงานของรัฐออกให้เพื่อทำการเกษตร และเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในเรื่องการตีความ ให้คณะกรรมการระดับนโยบายเฉพาะพืชเกษตรนั้น ๆ มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณากำหนดแนวทางในการดำเนินการหรือคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ขึ้นทะเบียนให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของเกษตรกรแต่ละประเภท

ร.ท. หญิง สุณิสา แถลงว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ…. ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ ปรับเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จากมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นส่วนราชการ ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยจะส่งผลให้ข้าราชการเปลี่ยนสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยดำเนินการค้างไว้ตั้งแต่ ปี 2548 และหยุดชะงักไปหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการศึกษา ถูกตีกรอบโดยระบบราชการ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเป็นเลิศทางการศึกษาให้สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ ตามความต้องการของตลาดในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยหลังจากนี้ จะส่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาต่อไป

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม. เห็นชอบยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ. 2557-2559 ที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทย ในระยะเวลา 20 ปี โดยได้กำหนดเป้าหมายในปี 2559 เช่น 1.จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลง 2 ใน 3

2. จะทำให้อัตราการติดเชื้อ เมื่อแรกเกิดน้อยกว่าร้อยละ 2 3.ผู้ติดเชื้อจะได้รับความคุ้มครองทางสังคมและเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน และ 4. จำนวนผู้เสียชีวิตจากเอดส์ลดลงมากกว่าร้อยละ 50 โดยคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าว ในปี 2557 จำนวน 11,274.7 ล้านบาท ในปี 2558 จำนวน 11,867.2 ล้านบาท และ ในปี 2558 จำนวน 12,509.6 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องและช่วยรักษาสถานะที่ดีของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ ที่กำหนดเป้าหมายสู่ความเป็นศูนย์ของโรคเอดส์ (Getting to Zero) ด้วย

ร.ท. หญิง สุณิสา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ….เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม หรือ คุ้มครองการใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เช่น ภาษา การแสดง การดนตรี พิธีกรรประเพณี เทศกาล และงานช่างฝีมือ เป็นต้น โดยมีหลักการสำคัญ คือ กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม รวมทั้ง มีบทลงโทษ โดย มาตรา 40 ระบุว่า หากมีการนำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งขึ้นทะเบียนแล้ว ไปเผยแพร่ ในลักษณะหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนศาสนาและความมั่นคงของประเทศ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีสิทธิเชิญบุคคลมาให้ข้อเท็จจริง หรือ ความเห็นทางวิชาการได้เมื่อเห็นสมควร โดยหากผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รองโฆษกรัฐบาล แถลงว่า ครม.รับทราบรายงานประจำปี 2555 ของกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ซึ่งใช้จ่ายงบประมาณ รวม 3,531 ล้านบาท แบ่งเป็นการเบิกจ่ายทุนสนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาพ 2,133 โครงการ เป็นเงิน 3,337 ล้านบาท และ ค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงาน 194 ล้านบาท

ทั้งนี้ แผนงานที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนเช่น แผนควบคุมยาสูบ แผนควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติด แผนจัดการความปลอดภัยทางถนนและภัยพิบัติ เป็นต้น โดยผลงานดีเด่นประจำปี2555 เช่น การขยายต้นแบบสถานประกอบการปลอดบุหรี่ การขยายพื้นที่วัฒนธรรมปลอดเหล้า ความร่วมมือเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน การสร้างคุณค่าผู้พิการทางสายตาเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะด้านการนวดไทย และการจุดกระแสสวดมนต์ข้ามปี สร้างค่านิยมเริ่มต้นปีใหม่ของคนไทย เป็นต้น โดยงบแสดงฐานะการเงิน ณ. 30 ก.ย. 2555 มีสินทรัพย์ 4,545,767,468.31 บาท มีหนี้สิน 1,348,406,594.94 บาท รวมสินทรัพย์สุทธิ 3,197,360,873.37 บาท มีรายได้จากการดำเนินงาน 3,654,760,702.41 บาท และ มีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน 3,531,484,448.49 บาท

ร.ท.หญิง สุณิสา แถลงอีกว่า ครม. อนุมัติหลักการให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ บรรจุนักศึกษาทุนพระราชทาน " บัณฑิตครูคืนถิ่น" ให้เป็นข้าราชการครู สังกัด สพฐ หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วให้ครบทุกคน ทั้งนี้ "บัณฑิตครูคืนถิ่น" เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือกนักศึกษาคณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 และ 5 ที่มีภูมิลำเนาหรือเป็นศิษย์เก่าในโรงเรียนที่ขาดแคลนครู ได้รับทุนการศึกษาพระราชทาน โดยมีเงื่อนไขให้ให้กลับไปสอนหนังสือในโรงเรียนสังกัด สพฐ. ในพื้นที่พิเศษ 2,942 แห่ง คือ โรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงภัย กันดาร มีชนกลุ่มน้อย ชายแดน บนภูเขา บนเดาะ และ โรงเรียนตามแนวพระราชดำริ โดยให้ สพฐ ใช้อัตราข้าราชการครูและบุคลากรที่เกษียณอายุราชการทุกปีงบประมาณเพื่อรองรับนักศึกษาทุนพระราชทานดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น