xs
xsm
sm
md
lg

สั่งเร่งตรวจสอบเอกสารจ่ายเงินค่าปุ๋ยแก่ชาวสวนยางนครศรีฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ตรวจระบบการจ่ายเงินชดเชยปัจจัยการผลิตให้แก่ชาวสวนยาง พร้อมเร่งให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดการคีย์ข้อมูลตรวจสอบแปลงปลูกยางอย่างเร่งด่วน โดยเน้นพื้นที่ตามเอกสารสิทธิ 46 ประเภทก่อน เนื่องจาก จ.นครศรีธรรมราช มีพื้นที่ปลูกยางมากที่สุดในประเทศไทย

วันนี้ (5 ต.ค.) นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เดินทางลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกข้อมูล และการตรวจสอบแปลงยางให้ตรงกับพื้นที่ปลูกยางพาราที่มีเอกสารสิทธิ ทั้ง 46 ประเภท ที่เกษตรกรได้มาขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานเกษตรในแต่ละอำเภอ ซึ่งพบว่า พื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช มีการทำสวนยางมากที่สุดในประเทศไทย ถึง 1,995,586 ไร่ มีพื้นที่เปิดกรีดแล้ว 1,764,795 ไร่

ขณะเดียวกัน มีครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว 111,761 ครัวเรือน โดยในจำนวนครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนมีพื้นที่ปลูก 1,686,675ไร่ มีพื้นที่เปิดกรีดแล้ว 964,446 ไร่ จึงมีพื้นที่ปลูกยางนอกระบบเอกสารสิทธิจำนวนมากที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า เจ้าหน้าที่ต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อเร่งรัดในการป้อนข้อมูล รวมทั้งตรวจสอบแปลงยางที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้ให้ตรงตามหลักเกณฑ์ เพื่อทำการเบิกจ่ายเงินให้ได้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธินั้นอาจมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ปลูกยางพาราที่ทับซ้อนกับพื้นที่ป่าต่างๆ ซึ่งเกษตรกรเองไม่กล้าที่จะมาขึ้นทะเบียน เกรงว่าจะมีความผิด ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรในส่วนนี้

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยอีกว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการแก้ไขปัญหายางพารา โดยให้ดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557 ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย จำนวน 991,717 ราย ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นจากราคาตลาดอีก 12 บาท และสถาบันเกษตรกร จำนวน 300 แห่ง ได้รับสินเชื่อผ่อนปรนเพื่อปรับปรุงโรงงาน หรือสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ รวมทั้งผู้ประกอบการ จำนวน 120 โรง ได้รับสินเชื่อผ่อนปรนสำหรับขยายกำลังการผลิต และปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต โดยกำหนดมาตรการ 2 มาตรการ คือ มาตรการระยะสั้น เพื่อช่วยให้เกษตรกรขายยางได้ราคาสูงขึ้น และมาตรการระยะยาว เพื่อส่งเสริมการเพิ่มมูลค่ายาง เพิ่มรายได้ และความต้องการใช้ภายในประเทศ โดยให้กรมส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่รับขึ้นทะเบียนเกษตรกร และตรวจสอบเอกสารหลักฐานเกษตรกรที่ขอรับความช่วยเหลือ 

สำหรับมาตรการระยะสั้น คณะรัฐมนตรีมีมติให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรเป็นเงิน 2,520 บาท/ไร่ เพิ่มจากราคาตลาด 12 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นการจ่ายล่วงหน้าแล้ว (โดยในแต่ละเดือนชาวสวนยางสามารถกรีดยางได้ 15 วัน ซึ่งยางพารา 1 ไร่ จะได้ยาง 2 กิโลกรัมต่อวัน หรือใน 7 เดือนจะได้ยาง 210 กิโลกรัม) ดังนั้น การที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนไร่ละ 2,520 บาท ก็คือ ทุกวันที่ชาวสวนยางขายยางในช่วงฤดูเปิดกรีด เดือนกันยายน 2556-มีนาคม 2557 (7 เดือน) ก็จะได้เงินเพิ่มกิโลกรัมละ 12 บาท โดยเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องดำเนินการ ดังนี้
 
1.ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2556 และขณะนี้ได้ขยายระยะเวลาการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรฯ ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2556
2.พื้นที่ปลูกต้องมีเอกสาร หรือหนังสือรับรองสิทธิที่กรมป่าไม้รับรอง 46 ประเภท เช่น โฉนดที่ดิน, ตราจอง, น.ส.3, ส.ป.ก.4, ส.ป.ก.4-01 ก เป็นต้น
3.มีพื้นที่เปิดกรีดครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ ตามพื้นที่เปิดกรีดจริง

และอีกหนึ่งมาตรการ คือ มาตรการระยะยาว มติคณะรัฐมนตรีมีมติสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อไปใช้ประโยชน์จากโรงงานแปรรูปยางที่ได้สร้างไว้แล้ว หรือจัดสร้างโรงงานแปรรูปใหม่ และสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนแก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อใช้ขยายกำลังการผลิต หรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต นอกจากนั้น ยังสนับสนุนให้มีการทำกิจกรรมการเกษตรอื่นๆ เช่น การปลูกพืชแซมยาง พืชร่วมยางห รือการเลี้ยงสัตว์ควบคู่กับการปลูกยาง เป็นต้น ซึ่งมาตรการระยะยาวมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ถึงเดือนกันยายน 2557

 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น