xs
xsm
sm
md
lg

“ปลอด” แนะกลาง ครม.ยกบ้านหนีน้ำ-ไฟเขียว มศว ออกนอกระบบ-เห็นชอบเอ็มโอยูไทย-จีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
ประชุม ครม.วันนี้ รองนายกรัฐมนตรี หวังฝนตกไม่ซ้ำ 10 วันน้ำลด แนะคนเมืองเก่ายกบ้านหนีน้ำ ย้ำน้ำไม่บุกเมืองหลงแน่ “ยิ่งลักษณ์” สั่ง รมต.ดูพื้นที่รับผิดชอบก่อนรายงาน กบอ.ครม.ตั้ง 3 รอง ผอ.สำนักงบฯ พร้อมสลับทูต 4 ประเทศ ให้ “พี่ชายโต้ง” ไปประจำลิเบีย ไฟเขียว มศว ออกนอกระบบ ระบุเพื่อการบริหารงานที่คล่องตัว เปลี่ยนจัดแข่งขันกีฬาแห่งชาติจากรายปีเป็นทุก 2 ปี พร้อมเห็นชอบร่างเอ็มโอยูไทย-จีน 3 ฉบับ ก่อนนายกฯจีนมาเยือน

วันนี้ (8 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภักดีหาญส์ หิมะทองคํา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การประชุมในวันนี้มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม โดยก่อนที่จะเข้าสู่วาระประชุม นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำต่อที่ประชุมว่า บริเวณภาคตะวันออกที่มีน้ำท่วมในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี และ จ.สระแก้ว ที่มีสาเหตุจากฝนตกหนัก ซึ่งหากไม่มีฝนตกเพิ่มเติมคาดว่าจะใช้เวลา 10 วัน ในการระบายน้ำทั้งหมด ส่วนในพื้นที่ภาคกลางก็มีการเร่งระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา แต่ยังมีปัญหาบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่แม่น้ำเดิม อาทิ อ.บางบาล อ.บางโผงเผง และ อ.บางไทร จ.อยุธยา ซึ่งก็มีแนวคิดว่าจะยกบ้านที่อยู่ริมน้ำให้สูงขึ้น โดยขอความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาในการส่งอาจารย์และนักศึกษามาร่วมดำเนินการ ทั้งนี้ในส่วนของ กทม.จะไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วมทั้งในแนวตะวันออกและบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา

นายภักดีหาญส์ กล่าวอีกว่า พล.ต.อ.ประชา ได้กล่าวในที่ประชุมว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้มีบัญชาให้รัฐมนตรีทุกคนที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย รวมทั้งพื้นที่เสี่ยง ให้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือประชาชน และรายงานกลับมายัง กบอ.เพื่อเสนอต่อ ครม.ต่อไป

นายภักดีหาญส์ ยังได้แถลงผลการประชุม ครม.ในส่วนของการอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงด้วยว่า ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายชนรรค์ พุทธมิลินประทีป นายธรรมศักดิ์ สัมพันธ์สันติกูล และนางเยาวลักษณ์ มานะตระกูล ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นต้นไป

นายภักดีหาญส์ กล่าวอีกว่า คณะรัฐมนตรียังได้มีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต จำนวน 4 ราย ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้ 1.นายจุมพล มนัสช่วง เอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี รัฐลิเบีย ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงเอเธนส์ สาธารณรัฐเฮลเลนิก แทน นายพฤทธิพงศ์ กุลทนันทน์ ที่เกษียณอายุราชการ 2.นายกิตติพงษ์ ณ ระนอง เอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี รัฐลิเบีย 3.นายกุลมุท สิงหรา ณ อยุธยา เอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ราชอาณาจักรสเปน ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี แทนนายกิตติพงษ์ ณ ระนอง และ 4.นางบุษยา มาทแล็ง เอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ สาธารณรัฐเซเนกัล ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ราชอาณาจักรสเปน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่า ครม.ได้มีมติแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยาเวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัยและค่าบริการทางการแพทย์ เพิ่มเติม จำนวน 3 ราย ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ พล.อ.สหชาติ พิพิธกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสาธารณสุข นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังสุขภาพ นายวิษณุ ธรรมลิขิตกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.56 เป็นต้นไป

ด้าน ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในส่วนของการอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีหลักการสำคัญ ในการปรับเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จากมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นส่วนราชการ ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยจะส่งผลให้ข้าราชการของมหาวิทยาลัยเปลี่ยนสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเคยดำเนินการค้างไว้ตั้งแต่ ปี 2548 และหยุดชะงักไปหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.49

ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวด้วยว่า การดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้การบริหารจัดการด้านการศึกษา ถูกตีกรอบโดยระบบราชการ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเป็นเลิศทางการศึกษา ให้สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ ตามความต้องการของตลาดในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยหลังจากนี้ จะส่งร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาต่อไป

ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบแนวทางการให้ข่าวสาธารณะและการเตือนภัยแห่งชาติอย่างเป็นบูรณาการ โดยในที่ประชุม นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้ชี้แจงถึงการเตือนภัย โดยแบ่งออกเป็นการเตือนภัยในภาวะปกติ โดยจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงที่อาจมีผลไปสู่ภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ห้ามแสดงข้อมูลที่เป็นความคิดเห็น เว้นแต่เป็นเจ้าหน้าที่ที่มีความรับผิดชอบหรือนักวิชาการ ส่วนการเฝ้าระวัง เมื่อมีเหตุที่อาจจะนำไปสู่ภัยพิบัติ หรือเหตุฉุกเฉินด้านน้ำจะให้ สบอช.เป็นผู้แจ้งข่าวแก่ประชาชนเพื่อเฝ้าระวังภัย ส่วนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องจะต้องส่งข้อมูลดิบให้กับ สบอช.เพื่อเป็นการเชื่อมข้อมูลสารสนเทศและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันและกัน ขณะที่องค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นเป็นผู้นำข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเผยแพร่แก่ประชาชน และการแจ้งเตือนภัย เมื่อเกิดเหตุหรือคาดว่าจะเกิดเหตุให้ กบอ.และ สบอช.เป็น command center เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและประเมินสถานการณ์ และหากคาดว่าจะมีความรุนแรงจะแจ้งไปยังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเพื่อแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ ต่อไป

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ในส่วนของภาวะวิกฤตนั้น แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ 1.อุทกภัยความรุนแรงขนาดเล็ก ได้แก่ 1.อุทกภัยที่ยังอยู่ในขีดความสามารถของอำเภอ หรือการปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการดูแลได้ 2.อุทกภัยความรุนแรงขนาดกลาง ให้ศูนย์อำนวยการส่วนหน้าของจังหวัดเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์และการบริหารจัดการพิบัติภัย 3.สาธารณภัยขนาดใหญ่ จะให้ศูนย์ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแล และ 4.สาธารณภัยขนาดร้ายแรงอย่างยิ่ง ให้อยู่ในความดูแลของนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์

ร.ท.หญิง สุณิสา ยังได้แถลงถึงมติการอนุมัติหลักการให้ปรับอัตราค่าจ้างสำหรับลูกจ้างรายเดือน นักการภารโรง และบุคลากรอื่นๆ ที่ได้รับค่าจ้างรายวันหรือรายเดือน ในลักษณะจ้างเหมา ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1.ผู้มีวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพเพิ่มขึ้น รวมเป็นค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท (รวมเงินสมทบกองทุนประกันสังคม รวมเป็นค่าจ้างเดือนละ 15,750 บาท) จากเดิมที่ได้รับเงินจำนวน 9,140 บาท 2.ผู้มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี ได้รับเงินค่าครองชีพเพิ่มขึ้นเดือนละ 9,000 บาท (รวมเงินสมทบกองทุนประกันสังคม รวมเป็นค่าจ้างเดือนละ 9,450 บาท) จากเดิมที่วุฒิอนุปริญญา ได้รับ 6,410 บาท และ ปวช.ม.3 และ ม.6 ได้รับ 5,700 บาท โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ต.ค.55 - 30 ก.ย.56

ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวมีประมาณ 65,172 คน ต้องใช้งบประมาณจำนวน 3,300.82 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีบุคลากรที่ต้องลงไปปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายสร้างสันติสุขภาคใต้ของรัฐบาล จำนวน 2,040 อัตรา ทั้งนี้ขอให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง ที่ได้รับค่าจ้างในลักษณะจ้างเหมา พิจารณาความจำเป็นหากต้องปรับค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และเสนอความต้องการผ่านคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อขอความเห็นชอบจาก ครม.ต่อไป

ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ฉบับที่..) พ.ศ... ให้เพิ่มอัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินค่าตอบแทนรายเดือนของกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ดังนี้ ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้รับเงินเดือนเพิ่มเดือนละ 74,420 บาท เงินประจำตำแหน่ง 45,500 บาท รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้เงินเดือนเพิ่มเดือนละ 73,240 บาท เงินประจำตำแหน่ง 45,500 บาท และกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลาได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเดือนละ 73,240 บาท

“การขึ้นเงินเดือนกรรมการปฏิรูปกฎหมายจะให้มีผลย้อนหลัง ตั้งแต่ วันที่ พ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับค่าตอบแทนของคณะกรรมการด้านกฎหมายอื่นๆ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นต้น” ร.ท.หญิง สุณิสา ระบุ

นอกจากนี้ ร.ท.หญิง สุณิสา เปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุมได้อนุมัติหลักการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บรรจุนักศึกษาทุนพระราชทาน “บัณฑิตครูคืนถิ่น” ให้เป็นข้าราชการครู สังกัด สพฐ.หลังสำเร็จการศึกษาแล้วให้ครบทุกคน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือกนักศึกษาคณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 และ 5 ที่มีภูมิลำเนา หรือเป็นศิษย์เก่าในโรงเรียนที่ขาดแคลนครู ได้รับทุนการศึกษาพระราชทาน โดยมีเงื่อนไขให้กลับไปสอนหนังสือในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ในพื้นที่พิเศษ 2,942 แห่ง คือ โรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงภัย กันดาร มีชนกลุ่มน้อย ชายแดน บนภูเขา บนเดาะ และโรงเรียนตามแนวพระราชดำริ โดยให้ สพฐ.ใช้อัตราข้าราชการครูและบุคลากรที่เกษียณอายุราชการทุกปีงบประมาณเพื่อรองรับนักศึกษาทุนพระราชทานดังกล่าว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงอีกว่า ครม.ได้อนุมัติหลักการให้เปลี่ยนแปลงการจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ จากเดิมแข่งขันเป็นประจำทุกปี เป็นแข่งขันทุก 2 ปีต่อครั้ง โดยให้มีผลตั้งแต่การแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งหน้าเป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อให้นักกีฬามีเวลาฝึกซ้อมเพื่อร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติมากขึ้น โดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้ฝากให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดูแลการพัฒนากีฬาสำหรับคนพิการด้วย ในขณะที่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เห็นว่าควรยกระดับวงการกีฬาไทยให้เชื่อมกับวงการกีฬาสากลด้วย

ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวอีกว่า ในโอกาสที่ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน มีกำหนดการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค.ในวันนี้ ครม.ได้เห็นชอบอนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจขึ้น 3 ฉบับ และเห็นชอบร่างความตกลงไทย-จีน อีก 1 ฉบับ โดยร่างบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับนั้น ประกอบด้วย 1.บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและจีนว่าด้วยโครงการความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยที่เชื่อมโยงกับการชำระค่าใช้จ่ายด้วยสินค้าเกษตร ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยและจีน ร่างบันทึกความเข้าใจด้านพลังงาน รวมทั้งการตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยและจีน ว่าด้วยการส่งเสริม 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยร่วมไทย-จีน ด้านรถไฟความเร็วสูง 2.โครงการร่วมพัฒนาศูนย์ข้อมูลการสำรวจดาวเทียมระยะไกล 3.ความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี และสุดท้ายโครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่

“ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเดินทางมาเยือนไทย ครม.ได้อนุมัติร่างทำแถลงข่าวร่วมว่าด้วยแผนระยะยาวในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งจะครอบคลุมความร่วมมือระหว่างไทย-จีน 9 สาขา ได้แก่ ความร่วมมือด้านการเมือง, เศรษฐกิจ, การป้องกันประเทศและความมั่นคง, การคมนาคม, วัฒนธรรม, การศึกษา, การท่องเที่ยว, วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี, พลังงาน, มหาสมุทร และความร่วมมือในภูมิภาคและระหว่างประเทศ” ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น