ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ 393 เสียง รับหลักการขึ้นภาษีสุรา รมช.คลัง อ้าง ลดชั้นสุราเหลือสุราขาว-สุราอื่นคำนึงสุขภาพประชาชน ปชป.ชี้รัฐบาลขึ้นภาษีตอนเศรษฐกิจถดถอย ของแพง ชี้วัดได้เองว่าถังแตกหรือไม่ ชี้ผลศึกษาขึ้นราคานักดื่มไม่ลด แต่จะหาของถูกดื่มแทน เชื่อนักการเมืองเกี่ยวข้อง
วันนี้ (18 ก.ย.) ที่รัฐสภา ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฏรเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2556 โดย นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ได้กล่าวหลักการและเหตุผลของกฎหมายดังกล่าวว่า ฐานภาษีผู้ผลิตสุรา และผู้เข้าไม่ได้มาตรฐาน และเกิดความแตกต่างในการประเมินภาษี เพราะมีการแจ้งราคานำเข้าที่ต่ำเกินจริง อีกทั้งวิธีการประเมินราคาสุราของกรมสรรพสามิตไทยแตกต่างจากอาเซียนอาจส่งผลประทบโดยตรงต่อการเปิดเสรีด้านการค้า โดยในยุโรปก็เรียกร้องให้ไทยปรับโครงการภาษีสุราด้วย ขณะที่ไทยได้แยกโครงการของสุรากลั่นออกมาเป็น 5 ชนิด ที่มีฐานเก็บภาษีแตกต่างกันไปจึงจำเป็นต้องลดชั้นสุราให้เหลือเพียง 2 ชนิดคือสุราขาว และสุราอื่นๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม รวมทั้งการจัดชั้นเบียร์ให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้น
“กรมสรรพสามิต จึงมีแนวทางแก้ปัญหา คือปรับจัดเก็บภาษีให้เป็นแบบผสมตามหลักสุขภาพและความฟุ่มเฟือยไปพร้อมๆ กัน คือจะเก็บตามมูลค่าและปริมาณ ซึ่งได้รับการแนะนำจากองค์การอนามัยโลก รวมทั้งคำนวณฐานภาษีใหม่ ให้โปร่งใสมากขึ้นจะเกิดความง่ายในการคำนวณ และกำหนดให้สุราที่มีดีกรีแรงเกินกำหนดต้องชำระภาษีเพิ่ม เพราะเราคำนึงสุขภาพประชาชนและไม่สนับสนุนบริโภคสุราดีดรีแรงๆ โดยสรุปแล้วหากแก้กฎหมายแล้วจะทำให้รัฐบาลมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้อีกด้วย” นายทนุศักดิ์ระบุ
นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลจะขึ้นภาษีเฉพาะตอนเศรษฐกิจดี ตนไม่พูดว่าตอนนี้รัฐบาลถังแตกหรือไม่ รัฐบาลต้องไปแก้ตัวเอาเอง แต่พฤติกรรมที่ขึ้นภาษีตอนเศรษฐกิจถดถอย ของแพง เป็นตัวชี้วัดได้เอง และคำอธิบายที่ต้องขึ้นภาษีนั้น ไม่ตรงกับที่พูดในสังคม และสิ่งผิดพลาดมหันต์คือ มีสต๊อกสุราในตลาดอยู่แล้วจากอัตราภาษีเดิม วันนี้รัฐบาลประกาศตนเชื่อว่ายังไม่การเช็กสต็อก ซึ่งจะทำให้มีมีการนำสุราในสต๊อกที่จ่ายภาษีต่ำมาขาย ทำให้พ่อค้าได้ประโยชน์ทั้งสิ้น ต้นทุนถูกแต่ขายแพง คนที่ซวยคือประชาชน นอกจากนี้ในกฎหมายไม่มีเรื่องการคืนให้กับสังคม ซึ่งรัฐบาลสามารถกำหนดได้ ว่าภาษีทีเก็บเพิ่มจะเอากี่เปอร์เซนต์มารณรงค์ทางสังคม กลายเป็นเรื่องว่ารัฐบาลจะตระหนักถึงความสำคัญในมิติเชิงสังคมและด้านสุขภาพหรือไม่ และจะมีบัญชา กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสังคมไปดำเนินการอย่างไร แต่ไม่รู้จะเอางบประมาณตรงไหน
“ถ้าบอกว่าขึ้นภาษีให้เหล้าแพงขึ้นคนจะได้บริโภคน้อยลง ทั่วโลกศึกษาและไทยเคยศึกษามาแล้ว ว่าขึ้นราคาเหล้าคนไม่หยุดบริโภค แต่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคด้วยการหันไปบริโภคของถูกลง รัฐบาลมีศึกษาหรือไม่ ทำไมไม่ยื่นเข้าสภา ผมไม่เคยเห็นผลการศึกษาในโลก ที่ยืนยันว่าขึ้นราคาแล้วคนบริโภคน้อยลง มีแต่น้อยลงชั่วคราวแล้วกลับมาบริโภคเหมือนเดิม บางกลุ่มคนจนเปลี่ยนไปบริโภคของถูกแทน เหตุผลที่ให้สังคมรับทราบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ตรงกัน จึงเป็นห่วงอย่างยิ่งเท่ากับสร้างภาระให้คนจนโดยปริยาย เพราะอาจจะเคยบริโภคของที่ยังดีต่อสุขภาพ กลับไปบริโภคของที่ถูกลงแต่ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพ”
นอกจากนี้ พ.ร.ก.ที่ออกมายังเป็นโครงสร้างที่ล้าสมัย เป็นการออกกฎหมายเชิงอำนาจ แต่ไม่พูดถึงการถ่วงดุล รัฐบาลบอกจะให้โปร่งใสเป็นธรรม แต่ไม่มีเรื่องดุลอำนาจที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน เช่น ที่บัญญัติว่า ราคาขายส่งช่วงสุดท้าย ถ้าไม่มี เป็นไปได้อย่างไร หรือถ้ามีหลายราคาให้อธิบดีเป็นคนฟันธงว่าจะเอาราคาไหน ซึ่งการเขียนกฎหมายเช่นนี้ เคยมีการร้องเรียนในอดีต ทุกกรม ของกระทรวงการคลังเคยมีปัญหามากมาย จนประเทศไทยเคยแพ้คดีในการค้าโลกหลายคดี เพราะเขียนให้อำนาจอธิบดีอย่างเดียวจนทำให้เกิดข้อโต้แย้ง ถือว่าไม่สอดคล้องในหลักสากล ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ และควรกลับไปทบทวนและปรับปรุง
อีกทั้งการที่รัฐบาลอ้างว่าต้องการทำให้เป็นสากล โดยระบุถึงกรอบกติกาอาเซียนในกรอบของอาฟต้า มีการเน้นกำไรเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุน การได้สิทธิประโยชน์ ร้อยละ 40 ในแหล่งกำเนิดสินค้า รวมกำไรอยู่ ตอนนี้รัฐบาลออกพระราชกำหนดบอกไม่รวมกำไร ทั้งนำเข้าและผลิตในประเทศ จะดูแลในกรอบอาฟต้าของอาเซียน10 ประเทศอย่างไร เพราะอาเซียนเป็นภูมิภาคเดียวที่ให้รวมกำไรในต้นทุน จึงถือเป็นการออกกฎหมายไม่รอบคอบ นอกจากนี้ใน กรณีไม่เห็นด้วยจะมีฝ่ายกฎหมายของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิตตีความและ ยื่นให้อธิบดี เพื่อฟันธงราคาโดยไม่มีอำนาจถ่วงดุล ซึ่งรัฐบาลควรเขียนไว้ว่า กรณีที่มีความเห็นไม่ตรงกันจะต้องดำเนินการอย่างไร กระบวนการอุทธรณ์ควรเป็นอย่างไร ราคาที่อธิบดีกำหนดอ้างอิงจากอะไร
นอกจากนี้เคยมีขบวนการจากเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตและกรมสรรพากร เอารัดเอาเปรียบผู้ประกอบการ ด้วยการดึงกรมสอบสวนคดีพิเศษมาเล่นงานเขาจนถึงชั้นศาลมีการถามว่า ในเมื่ออำนาจในการเปรียบเทียบปรับอยู่แล้ว ทำไมต้องเอากรมสอบสวนคดีพิเศษมาเกี่ยวข้องด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้น 7-8 ปี สะท้อนปัญหาเหล่านี้แต่รัฐบาลไม่สนใจ ตั้งหน้าตั้งตาขึ้นภาษีอย่างเดียว รัฐบาลอ้างว่ากฎหมายฉบับนี้ล้าสมัย แต่มาตรา 43-44 ทวิ แต่บทปรับกรณีให้ข้อมูลผิดเพียง 2,000 บาท กลับไม่มีการแก้ไขเลย ถือเป็นช่องโหว่ที่สำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบ บางรายให้ข้อมูลเท็จ แต่ได้ประโยชน์นับหลายร้อยล้าน ทำไมรีบร้อนแต่ไม่รอบคอบ และจะไปสร้างปัญหาต่อไปในการบังคับใช้ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์การค้าโลกเหมือนที่ผ่านมา
นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า การออกพ.ร.ก.ครั้งนี้คิดในมุมที่แคบเกินไป ควรคิดถึงมิติอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสุราภายใต้การจัดเก็บภาษีในรูปแบบใหม่ ทั้งสุขภาวะประชาชน ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคม ซึ่งสำคัญมากกว่ารายได้ด้วยซ้ำไป และเป็นการยืนยันอีกครั้งว่าศูนย์อำนาจในการบริหารประเทศรวมอยู่ที่ส่วนกลางที่ทำให้เกิดปัญหาวิกฤต หากมีการกระจายการตัดสินใจไปสู่ประชาชน ตนเชื่อว่าจะมีการพูดถึงปัญหาสุขภาวะ ปัญหาสังคมต่างๆ ควรให้อำนาจท้องถิ่นในการตัดสินกำหนดภาษีสุราเอง
นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เราควรแบ่งภาษีบาปไปให้หน่วยงาน อาทิ สสส. ที่รณรงค์ให้ประชาชาชนเลิกสุรา หรือ บุหรี่หรือไม่ เพราะเอาเงินไปจำนวนมากแต่คนเสพไม่ได้น้อยลงเลย ซึ่งรัฐบาลจะปล่อยให้หน่วยงานเหล่านี้อยู่ต่อไปหรือไม่ และในอนาคตก็จะมีหน่วยงานเกิดขึ้นที่เอางบประมาณจากภาษีบาป
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพิจารณา พ.ร.ก.ขึ้นภาษีสุราของรัฐบาลว่า แม้พรรคจะเห็นด้วยกับแนวทางขึ้นภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นการทำลายสังคมไทยในภาพรวม แต่การขึ้นภาษีในครั้งนี้ที่อ้างว่าเพื่อลดปริมาณการบริโภคเพื่อสกัดไม่ให้บริโภคมากเกินไปนั้นไม่เป็นความจริง เพราะราคาสุราที่ขึ้นผู้บริโภคก็มีกำลังเพียงพอที่จะซื้อหรือบริโภคได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ทำให้ลดการบริโภคลง แต่เป็นเพราะรัฐบาลมีปัญหาเรื่องรายได้ โดยมีข่าวมาตลอดเรื่องการขึ้นภาษีต่าง ๆ แม้กระทั่งความคิดเก็บภาษีคนโสด ทั้งนี้จากตัวเลขที่ศึกษาพบว่าเงินที่จะได้จากการขึ้นภาษีครั้งนี้จะอยู่ที่ 16,000 ล้าน แต่กรมศุลกากรประมาณการที่ 12,000 ล้านบาท
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การขึ้นภาษีสุราครั้งนี้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยสะท้อนได้จากคำพูดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ที่ระบุว่ามีกลุ่มน้ำเมาที่ร่วมกันลงขันล้มรัฐบาล และข้อเท็จจริงก็มาปรากฏในวันนี้ด้วยการขึ้นภาษีของเบียร์ช้างและเบียร์สิงห์ที่มีการปรับเพดานที่แตกต่างกันมาก โดยเบียร์ช้างมีการปรับในอัตราที่สูง ขณะนี้เบียร์สิงห์มีการปรับในอันตราที่ต่ำกว่าทำให้ประชาชนจะหันมาบริโภคมากขึ้น
นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กล่าวเห็นด้วยกับการออกพระราชกำหนดครั้งนี้ เพราะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย มีเป้าหมายเพื่อปรับโครงสร้างภาษีเพื่อให้เป็นสากลมากขึ้น จัดหมวดหมู่ให้งานกับผู้ประกอบการ และการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมมากขึ้น และมีการปรับเพดานภาษีไปในตัว เพื่อในอนาคตหากรัฐบาลจำเป็นต้องหารายได้ก็มีช่องว่างที่จะขยายเก็บภาษี การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่ผ่านมาปีนี้กรมสรรพสามิตเก็บรายได้ 368,000 ล้านบาท ตามเป้าที่ตั้งไว้ 365,000 ล้านบาท ถ้าดูรายได้รวมทั้งหมดของประเทศใน 10 เดือนแรก เราตั้งเป้าไว้ 1,978,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้จัดเก็บได้ถึง 2,075,000 ล้านบาท เกินเป้า 97,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้า อยู่แล้ว คิดเป็นร้อยละ 4.9 จึงไม่จำเป็นต้องรายได้ด้วยการไปเก็บภาษีเพิ่ม แต่เป็นการจัดโครงสร้างใหม่ให้เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาเลี่ยงเสียภาษีสุรา ตนจึงขอสนับสนุนการเก็บภาษีครั้งนี้
ด้าน นายทนุศักดิ์ ชี้แจง ว่า การปรับโครงสร้างภาษีสุรานั้นไม่เกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้เข้าประเทศไม่เป็นไปตามเป้า แต่ข้อเท็จจริงแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.ย.กรมสรรพสามิต เก็บภาษีเกินกว่าเป้าหมาย ไปกว่า 7,500 ล้านบาท สำหรับราคาขายสุราที่มีการปรับการจัดเก็บภาษีเป็นแบบผสม คือ ตามปริมาณและดีกรีของแอลกอฮอล์หรือตาม พ.ร.ก.ขึ้นภาษีสุราฉบับใหม่นั้นจะมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างเท่ากันทุกยี่ห้อ โดยราคาขายส่งช่วงสุดท้ายที่หักภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ราคาขายส่งเบียร์ ขนาดไม่เกิน 7 ดีกรี ปริมาณ 0.63 ลิตร ราคา 32.71 บาท ทั้งนี้อัตราการเก็บภาษี 15.70บาทเป็นการคำนวณตามมูลค่า ส่วนการคำนวณตามปริมาณ คือ เบียร์ขายส่ง 35 บาท อัตราภาษีปัจจุบัน คือ 1.55 ต่อ 1ดีกรี ดังนั้นภาษีสรรพสามิต จะอยู่ที่ 6.83 บาทต่อขวด การคำนวณภาษีตามปริมาณ เช่น ราคาขายส่งเบียร์ 35 บาท อัตราภาษีคือ 8 บาทต่อลิตร ภาษีสรรพสามิตที่จะนำมาคำนวณเป็นราคาเบียร์ คือ 6.83 บาท ดังนั้นสรุปคือภาษีเบียร์ที่ต้องชำระอัตรา 1 ขวด ประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิต ตามมูลค่า, ตามปริมาณ, ภาษีมหาดไทย, ภาษี สสส.และภาษีไทยพีบีเอส รวมเป็นเงินภาษีทีต้องชำระ คือ 25.51 บาท
“อย่างไรก็ตามการออก พ.ร.ก.ขึ้นภาษีไม่ได้เป็นประเด็นทางการเมือง อีกทั้งได้มีการสำรวจสินค้าก่อนออกกฎหมาย โดยกรมสรรพสามิตออกสำรวจทั่วประเทศแล้ว ส่วนการขึ้นราคาสุรา หรือเบียร์นั้น ยืนยันว่าจะปรับราคาต่อขวดไม่มากนักเฉลี่ย 2-5 บาท แต่หากพบว่ามีการขายเกินราคา หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบจะเข้าไปดูแล” นายทนุศักดิ์ กล่าว
จากนั้นที่ประชุมมีการลงมติให้การเห็นชอบ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 ด้วยเสียง 393 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง