xs
xsm
sm
md
lg

ซัดภาษีน้ำเมารัฐเอื้อนายทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ฝ่ายค้านรุมอัดรัฐบาลขึ้นภาษีน้ำเมาเพราะถังแตก เอื้อนายทุนส่อขัดกฏหมาย ระบุขึ้นภาษีผิดเวลา เหตุเศรษฐกิจกำลังถดถอย ของแพง ขณะที่ "ทนุศักดิ์" รับหน้าเสื่อชี้แจงวิธีปรับภาษีขึ้นเพื่อให้เหมาะสม เตรียมรับการเข้าสู่ AEC เป็นไปตามหลักสากล สุดท้ายที่ประชุมสภาเสียงข้างมาก 393 เสียง รับหลักการไปเรียบร้อย

วานนี้ (18 ก.ย.) ที่รัฐสภา ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฏรเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2556 โดยนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ได้กล่าวหลักการและเหตุผลของกฎหมายดังกล่าวว่า ฐานภาษีผู้ผลิตสุรา และผู้เข้าไม่ได้มาตรฐาน และเกิดความแตกต่างในการประเมินภาษี เพราะมีการแจ้งราคานำเข้าที่ต่ำเกินจริง อีกทั้งวิธีการประเมินราคาสุราของกรมสรรพสามิตไทยแตกต่างจากอาเซียนอาจส่งผลประทบโดยตรงต่อการเปิดเสรีด้านการค้า โดยในยุโรปก็เรียกร้องให้ไทยปรับโครงการภาษีสุรา ด้วย ขณะที่ไทยได้แยกโครงการของสุรากลั่นออกมาเป็น 5 ชนิด ที่มีฐานเก็บภาษีแตกต่างกันไปจึงจำเป็นต้องลดชั้นสุราให้เหลือเพียง 2 ชนิดคือสุราขาว และสุราอื่นๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม รวมทั้งการจัดชั้นเบียร์ให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้น กรมสรรพสามิต จึงมีแนวทางแก้ปัญหา คือปรับจัดเก็บภาษีให้เป็นแบบผสมตามหลักสุขภาพและความฟุ่มเฟือยไปพร้อมๆ กัน คือจะเก็บตามมูลค่าและปริมาณ ซึ่งได้รับการแนะนำจากองค์การอนามัยโลก รวมทั้งคำนวณฐานภาษีใหม่ ให้โปร่งใสมากขึ้นจะเกิดความง่ายในการคำนวณ และกำหนดให้สุราที่มีดีกรีแรงเกินกำหนดต้องชำระภาษีเพิ่ม เพราะเราคำนึงสุขภาพประชาชนและไม่สนับสนุนบริโภคสุราดีกรีแรงๆ ดังนั้นแก้กฎหมายแล้วทำให้รัฐบาลมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้
นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลจะขึ้นภาษีเฉพาะตอนเศรษฐกิจดี ตนไม่พูดว่าตอนนี้รัฐบาลถังแตกหรือไม่ รัฐบาลต้องไปแก้ตัวเอาเอง แต่พฤติกรรมที่ขึ้นภาษีตอนเศรษฐกิจถดถอย ของแพง เป็นตัวชี้วัดได้เอง และคำอธิบายที่ต้องขึ้นภาษีนั้น ไม่ตรงกับที่พูดในสังคม และสิ่งผิดพลาดมหันต์คือ มีสต๊อกสุราในตลาดอยู่แล้วจากอัตราภาษีเดิม วันนี้รัฐบาลประกาศตนเชื่อว่ายังไม่การเช็กสต็อก ซึ่งจะทำให้มีมีการนำสุราในสต๊อกที่จ่ายภาษีต่ำมาขาย ทำให้พ่อค้าได้ประโยชน์ทั้งสิ้น ต้นทุนถูกแต่ขายแพง คนที่ซวยคือประชาชน นอกจากนี้ในกฎหมายไม่มีเรื่องการคืนให้กับสังคม ซึ่งรัฐบาลสามารถกำหนดได้ ว่าภาษีทีเก็บเพิ่มจะเอากี่เปอร์เซนต์มารณรงค์ทางสังคม กลายเป็นเรื่องว่ารัฐบาลจะตระหนักถึงความสำคัญในมิติเชิงสังคมและด้านสุขภาพหรือไม่
“ถ้าบอกว่าขึ้นภาษีให้เหล้าแพงขึ้นคนจะได้บริโภคน้อยลง ทั่วโลกศึกษาและไทยเคยศึกษามาแล้ว ว่าขึ้นราคาเหล้าคนไม่หยุดบริโภค แต่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคด้วยการหันไปบริโภคของถูกลง รัฐบาลมีศึกษาหรือไม่ ทำไมไม่ยื่นเข้าสภา ผมไม่เคยเห็นผลการศึกษาในโลก ที่ยืนยันว่าขึ้นราคาแล้วคนบริโภคน้อยลง มีแต่น้อยลงชั่วคราวแล้วกลับมาบริโภคเหมือนเดิม บางกลุ่มคนจนเปลี่ยนไปบริโภคของถูกแทน เหตุผลที่ให้สังคมรับทราบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ตรงกัน จึงเป็นห่วงอย่างยิ่งเท่ากับสร้างภาระให้คนจนโดยปริยาย เพราะอาจจะเคยบริโภคของที่ยังดีต่อสุขภาพ กลับไปบริโภคของที่ถูกลงแต่ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพ “
"การที่รัฐบาลอ้างว่าต้องการทำให้เป็นสากล โดยระบุถึงกรอบกติกาอาเซียนในกรอบของอาฟต้า มีการเน้นกำไรเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุน การได้สิทธิประโยชน์ ร้อยละ 40 ในแหล่งกำเนิดสินค้า รวมกำไรอยู่ ตอนนี้รัฐบาลออกพระราชกำหนดบอกไม่รวมกำไร ทั้งนำเข้าและผลิตในประเทศ จะดูแลในกรอบอาฟต้าของอาเซียน10 ประเทศอย่างไร เพราะอาเซียนเป็นภูมิภาคเดียวที่ให้รวมกำไรในต้นทุน จึงถือเป็นการออกกฎหมายไม่รอบคอบ" นายเกียรติกล่าว
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แม้พรรคจะเห็นด้วยกับแนวทางขึ้นภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นการทำลายสังคมไทยในภาพรวม แต่การขึ้นภาษีในครั้งนี้ที่อ้างว่าเพื่อลดปริมาณการบริโภคเพื่อสกัดไม่ให้บริโภคมากเกินไปนั้นไม่เป็นความจริง เพราะราคาสุราที่ขึ้นผู้บริโภคก็มีกำลังเพียงพอที่จะซื้อหรือบริโภคได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ทำให้ลดการบริโภคลง แต่เป็นเพราะรัฐบาลมีปัญหาเรื่องรายได้ โดยมีข่าวมาตลอดเรื่องการขึ้นภาษีต่าง ๆ แม้กระทั่งความคิดเก็บภาษีคนโสด ทั้งนี้จากตัวเลขที่ศึกษาพบว่าเงินที่จะได้จากการขึ้นภาษีครั้งนี้จะอยู่ที่ 16,000 ล้าน แต่กรมศุลกากรประมาณการที่ 12,000 ล้านบาท
ส่วนนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การขึ้นภาษีสุราครั้งนี้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยสะท้อนได้จากคำพูดของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ที่ระบุว่ามีกลุ่มน้ำเมาที่ร่วมกันลงขันล้มรัฐบาล และข้อเท็จจริงก็มาปรากฏในวันนี้ด้วยการขึ้นภาษีของเบียร์ช้างและเบียร์สิงห์ที่มีการปรับเพดานที่แตกต่างกันมาก โดยเบียร์ช้างมีการปรับในอัตราที่สูง ขณะนี้เบียร์สิงห์มีการปรับในอันตราที่ต่ำกว่าทำให้ประชาชนจะหันมาบริโภคมากขึ้น
นายทนุศักดิ์ชี้แจง ว่า การปรับโครงสร้างภาษีสุรานั้นไม่เกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้เข้าประเทศไม่เป็นไปตามเป้า เพราะ ณ 17 ก.ย. กรมสรรสามิตเก็บภาษีเกินกว่าเป้าหมาย ไปกว่า 7,500 ล้านบาท สำหรับราคาขายสุราที่มีการปรับการจัดเก็บภาษีเป็นแบบผสม คือ ตามปริมาณและดีกรีของแอลกอฮอล์หรือตามพ.ร.ก.ขึ้นภาษีสุราฉบับใหม่นั้นจะมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างเท่ากันทุกยี่ห้อ โดยราคาขายส่งช่วงสุดท้ายที่หักภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ราคาขายส่งเบียร์ ขนาดไม่เกิน 7 ดีกรี ปริมาณ 0.63 ลิตร ราคา 32.71 บาท ทั้งนี้อัตราการเก็บภาษี 15.70บาทเป็นการคำนวณตามมูลค่า ส่วนการคำนวณตามปริมาณ คือ เบียร์ขายส่ง 35 บาท อัตราภาษีปัจจุบัน คือ 1.55 ต่อ 1ดีกรี ดังนั้นภาษีสรรพสามิต จะอยู่ที่ 6.83 บาทต่อขวด การคำนวณภาษีตามปริมาณ เช่น ราคาขายส่งเบียร์ 35 บาท อัตราภาษีคือ 8 บาทต่อลิตร ภาษีสรรพสามิตที่จะนำมาคำนวณเป็นราคาเบียร์ คือ 6.83 บาท ดังนั้นสรุปคือภาษีเบียร์ที่ต้องชำระอัตรา 1 ขวด ประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิต ตามมูลค่า, ตามปริมาณ, ภาษีมหาดไทย, ภาษี สสส.และภาษีไทยพีบีเอส รวมเป็นเงินภาษีทีต้องชำระ คือ 25.51 บาท
“การออก พ.ร.ก.ขึ้นภาษีไม่ได้เป็นประเด็นทางการเมือง อีกทั้งได้มีการสำรวจสินค้าก่อนออกกฎหมาย โดยกรมสรรพสามิตออกสำรวจทั่วประเทศแล้ว ส่วนการขึ้นราคาสุรา หรือเบียร์นั้น ยืนยันว่าจะปรับราคาต่อขวดไม่มากนักเฉลี่ย 2 – 5 บาท แต่หากพบว่ามีการขายเกินราคา หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบจะเข้าไปดูแล” นายทนุศักดิ์กล่าว
หลังจากนั้นที่ประชุมมีการลงมติให้การเห็นชอบ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 ด้วยเสียง 393 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง.
กำลังโหลดความคิดเห็น