xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ หนุนรัฐขึ้นภาษีน้ำเมา ป้องสุขภาพคนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาคประชาชน-นักวิชาการ ออกโรงหนุนรัฐขึ้นภาษีน้ำเมา ชี้ช่วยปกป้องสุขภาพประชาชน จำกัดการเข้าถึง ลดความเหลื่อมล้ำระบบภาษี เตรียมรับมือเปิดการค้าเสรี อัดนายทุนน้ำเมาข้ามชาติหยุดอ้างเหล้าเถื่อนทะลัก

วันนี้ (30 ส.ค.) นายชูวิทย์ จันทรส เลขานุการเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) กล่าวถึงกรณีการปรับแก้ พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 ของรัฐบาลเพื่อปรับโครงสร้างภาษีใหม่ โดยขยายเพดานสรรพสามิตทั้งในส่วนของเบียร์ ไวน์ และสุรากลั่น ประเภทวิสกี้ บรั่นดี และสุราปรุงพิเศษว่า ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลทำถูกต้องและควรปรับขึ้นทุกปีด้วยซ้ำ เพราะโดยหลักการสินค้าประเภทนี้ต้องมีราคาแพงเพื่อจำกัดการเข้าถึง การขึ้นภาษีจึงเป็นเครื่องมือสำคัญ นอกจากการห้ามโฆษณา จำกัดพื้นที่ขายหรือดื่ม และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม จากแนวคิดการขยายเพดานภาษีรวมถึงการจัดเก็บภาษีแนวใหม่จะเป็นประโยชน์โดยรวมต่อสุขภาพประชาชน

นายชูวิทย์ กล่าวด้วยว่า กลุ่มที่ดูเหมือนจะเสียประโยชน์ คือนายทุนธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะทุนน้ำเมาข้ามชาติ ซึ่งจริงๆ ไม่ควรจะออกมาคัดค้าน หรือโวยวาย อ้างแต่ปัญหาเหล้าเถื่อนทะลัก เพราะในอนาคตการเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ก็ต้องมีการปรับลดภาษีขาเข้าลงเหลือ 0% อยู่แล้ว ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ข้ามชาติได้ประโยชน์เต็มๆ ส่วนตัวเข้าใจว่าการขึ้นภาษีครั้งนี้เป็นการเตรียมการรับมือการค้าเสรีที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะเอฟทีเอไทยกับสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นผู้ถือครองสัดส่วนของสุรานำเข้ามากกว่า 80% อยู่แล้ว ธุรกิจน้ำเมาจึงไม่ควรคิดเอาแต่ได้กลัวว่ายอดขายจะไม่ตรงตามเป้า ซึ่งปัญหาที่บางบริษัทเคยเลี่ยงภาษีนำเข้าหลายหมื่นลังในอดีต ก็ไม่รู้จัดการจบหรือยัง

“เครือข่ายฯขอสนับสนุนการขึ้นภาษี และปรับแก้กฎหมาย พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 เพื่อขยายเพดานภาษีในบางกลุ่มที่ติดเพดานไปแล้วไม่สามารถขึ้นได้อีก และขอเสนอให้มีการควบคุม จำกัดใบอนุญาตขายสุราด้วย เพื่อไม่ให้จุดขายมีความหนาแน่นมากเกินไป ควรมีการขึ้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายให้สูงขึ้น และเพิ่มบทลงโทษกรณีขายโดยไม่มีใบอนุญาต ไม่ใช่แค่โทษปรับเล็กๆ น้อยๆ ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องอาศัยความกล้าหาญของรัฐบาลอย่างจริงใจ แม้ผลพลอยได้จะเป็นเงินเข้ารัฐที่เพิ่มขึ้นแต่คงเทียบไม่ได้เลยกับผลประโยชน์ทางสังคม และสุขภาพประชาชนที่ใหญ่กว่า” นายชูวิทย์ กล่าว

ด้าน นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ในมุมมองทางวิชาการด้านสุขภาพ ขอสนับสนุนทิศทางของนโยบายดังกล่าวทั้งการปรับเพดานภาษี การใช้ราคาขายส่งช่วงสุดท้ายเป็นฐานคำนวณภาษีตามมูลค่า และการปรับมาใช้อัตราภาษีแบบหนึ่งบวกหนึ่งคือคิดทั้งเม็ดเงินภาษีตามมูลค่าและตามปริมาณร่วมกัน ซึ่งเป็นหลักการหรือเป็นแนวทางในการปรับลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของระบบภาษีสรรพสามิตสุรา ที่มีโอกาสถูกร้องเรียนจากต่างชาติ และทำให้สุราบางประเภทมีราคาถูก และเป็นที่ดึงดูดใจมากกว่าประเภทอื่น

“สิ่งที่ยังกังวล คือ ระบบภาษีจะได้ผลในการควบคุมปัญหาหรือไม่ จะอยู่ที่อัตราที่ประกาศใช้จริง ซึ่งต้องติดตามว่าจะเป็นอย่างไรและจะมีความแตกต่างระหว่างประเภทเครื่องดื่มอย่างไร นอกจากนั้นควรให้ความสำคัญกับการจัดการสุรานอกระบบภาษีด้วย เช่น การจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายของกรมสรรพสามิตซึ่งไม่ใช่เพียงเฉพาะสุราหนีภาษีให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมถึงการเปิดโอกาสให้ชุมชน ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลเฝ้าระวังให้มากขึ้น” นพ.ทักษพล กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น