สภาฯ ถกต่อมาตรา 11 “มาร์ค-คำนูณ” ติงแก้กรอบเวลา ม.11 ขัด รธน. มาตรา 141 “เพื่อแม้ว” เล่นสูตรเดิมตัดบทเสนอปิดอภิปราย ที่ประชุมเห็นชอบ 343 เสียง ต่อ 11 เสียงผ่าน ม.11 พ่วง 11/1 “นิคม” เมินเสียงประท้วง สั่งให้พิจารณา ม.12 ต่อทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 11 ก.ย. เมื่อเวลา 19.50 น. ที่ประชุมได้พิจารณามาตรา 11 เกี่ยวกับการให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการเสนอพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และส.ว.ต่อรัฐสภาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับ และต้องเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 120 วัน โดยสมาชิกอภิปรายได้ประมาณ 5-6 คนนายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เสนอปิดอภิปรายมาตรา 11
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ตนยังขอยืนยันว่าญัตติการอภิปรายดังกล่าวไม่สามารถทำได้ และตนอยากจะสอบถามว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งนั้นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบหรือไม่ และถ้า กกต.เสนอร่างไม่ทัน 120 วันจะเกิดอะไรขึ้น
นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการ ชี้แจงว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งเช่นเดียวกับกฎหมาย พ.ร.บ.อื่นๆ ที่ต้องดำเนินการตามปกติ นั่นก็คือต้องมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ จากนั้นนายกรัฐมนตรีก็จะใช้อำนาจตามมาตรา 150
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การกำหนดเวลาในมาตรา 11 จะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 141 ทันที โดยระบุว่าขั้นตอนจะส่งศาลรัฐธรรมนูญต้องอยู่ภายใน 120 วัน ซึ่งถ้า กกต.ใช้เวลาครบ 120 วันก่อนส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญยังมีสิทธิที่จะตีกลีบร่าง พ.ร.บ.ฉบับนั้นให้สภาฯ กลับมาแก้ไข ดังนั้นจะทำให้ระยะเวลาเกินกว่ากำหนด 120 ทันที ซึ่งจะทำให้สภาจะเกิดปัญหาขึ้นทันที เพราะนายกรัฐมนตรีไม้สามารถนำขึ้นกราบบังคมทูลได้
ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวสนับสนุนว่า กรรมาธิการกำลังเขียนรัฐธรรมนูญซ้อนกัน เพราะถ้าเขียนแบบนี้มันจะไม่สามารถใช้ได้จริง ตนจึงอยากให้กรรมาธิการนำกลับไปแก้ไขก่อนไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามมาในอนาคตแน่นอน ถ้าสภาฯเห็นชอบภายใน 120 วันก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ ถ้าศาลฯไม่มีปัญหาก็จบ แต่ถ้ามีปัญหาก็ต้องกลับมาที่สภาฯ เพราะฉะนั้นระยะเวลา 120 วัน คือเวลาของการพิจารณาของทั้งสองสภา ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตีกลับของศาลรัฐธรรมนูญ ตนจึงยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขเพราะถือว่าสมบูรณ์แล้ว
ต่อมา พล.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะมุกดาธนพงศ์ ส.ว.มุกดาหาร เสนอญัตติเปิดอภิปราย ซึ่งที่ประชุมมติเสียงส่วนใหญ่เห็นควรให้ปิดการอภิปราย และมีสมาชิกจำนวน 343 เสียงต่อ 11 เสียง เห็นชอบในมาตรา 11 ตามที่กรรมาธิการแก้ไข และเพิ่มมาตรา 11/1 ที่ร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทยเสนอ ที่ระบุว่าเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาฯ และวุฒิสภา ตามมาตรา 11 มีผลบังคับใช้ ให้บรรดาบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือข้อบังคับใดที่อ้างถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งให้หมายถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
จากนั้นนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานในที่ประชุม ได้สั่งให้ที่ประชุมพิจารณามาตรา 12 ต่อ ท่ามกลางเสียงประท้วงของสมาชิกที่ไม่เห็นด้วย โดยมีการตะโกนคำว่า “เฮงซวย” เสียงดังกลางที่ประชุม
โดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ระบุว่า ตนไม่ได้รับการประสานในการเพิ่มมาตรา 11/1 เพราะกรรมาธิการไม่เคยมีการประชุม ตนขอดูรายงานการประชุมด้วย ซึ่งนายสามารถชี้แจงว่า มาตรา 11/1 ไม่เคยประชุมก็จริงแต่มีสมาชิกเขาสงวนคำแปรญัตติ แล้วเสียงในที่ประชุมส่วนใหญ่เขาก็เห็นด้วยที่จะเพิ่มเติม ทำให้ นพ.เจตน์กล่าวว่า ถ้าจะเพิ่มเติมเช่นนี้ก็จำเป็นจะต้องมีการอภิปราย มาตรา 11/1 จากนั้นที่ประชุมยังมีการประท้วงกันอย่างกว้างขวาง แต่นายนิคมไม่สนใจและสั่งให้พิจารณามาตรา 12 ต่อทันที