“นิคม” ส่อปิดปากฝ่ายค้าน ลั่นไม่ให้อภิปรายแก้ รธน.ทั้งหมดตามที่ขอ อ้างจะเป็นธรรมเนียม ระบุใช้ตำรวจเชิญ ส.ส. และ ส.ว.ออกจากห้องประชุมแค่ให้ไปสงบสติอารมณ์ ประธาน กมธ. เชื่อมาตรา 7 จบวันนี้ วิปฝ่ายค้านเตือนอย่าใช้เสียงข้างมากมาปิดปาก
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา กล่าวว่า การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภา วาระ 2 จะเข้าสู่มาตรา 7 ซึ่งมาตราดังกล่าวไม่น่ามีปัญหา เพราะมีเพียง 2 เรื่อง แต่ถ้าเป็นเกมการเมืองก็จะมีการอภิปรายแบบซ้ำๆ ขณะที่วิปทั้ง 3 ฝ่าย ก็ไม่เคยมีมติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หากเป็นเช่นนี้ก็จะให้อภิปรายพอสมควร และเป็นมติ แต่หากปล่อยให้อภิปรายกันทุกคนอาจเป็นธรรมเนียมในครั้งต่อไปได้ เพราะขณะนี้ใช้เวลา 8-9 วัน ในการอภิปราย 1 ฉบับแล้ว
นายนิคม ยังกล่าวถึงกรณีการใช้ตำรวจสภาเข้ามาควบคุมการประชุมว่า เป็นหน้าที่ และน่าเห็นใจทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งตำรวจ และ ส.ส.-ส.ว. ซึ่งตนเองก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลัง แต่การเชิญออกไปเพียงแค่สงบสติอารมณ์เท่านั้น จึงอยากให้เคารพกฎกติกา
นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม กล่าวว่า มาตรา 7 ในการแก้ไขที่มา ส.ว. มีอยู่ 3 ประเด็น คือ 1.ให้ ส.ว. มีสมาชิกภาพเริ่มต้นในวันเลือกตั้ง 2.ให้มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี และ 3.หาก ส.ว. สิ้นวาระให้จัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน ซึ่งเรื่องที่คาดว่าน่าจะมีการพูดถึงกันมากที่สุด คือ วาระ 6 ปี ของ ส.ว. แต่เชื่อว่าหากไม่มีการอภิปรายนอกประเด็น มาตรา 7 ก็จะจบได้ในวันนี้ และคิดว่าภายในสัปดาห์นี้ก็จะจบการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มา ส.ว. โดยยืนยันไม่ได้ปิดปากพรรคประชาธิปัตย์ แต่อย่างใด ส่วนกรรมาธิการจะออกมาแสดงบทบาทเพื่อขอความร่วมมือฝ่ายค้านในการประชุมหรือไม่ เป็นหน้าที่ของวิปทั้ง 3 ฝ่าย ส่วนตัวเชื่อว่า มาตรา 12 จะมีการพูดคุยกันยาวอีกครั้ง
นายสามารถ ยังกล่าวถึงกรณีสภาล่มในวันเสาร์ที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมาว่า ส.ส. ของพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุมมีทั้งหมด 23 คน ซึ่งผู้ใหญ่ในพรรคมีมาตรการชัดเจนแล้ว เพราะ ส.ส. มีหน้าที่เข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า วิธีการต่อสู้ในสภาหากถูกประธานในที่ประชุมรวบรัดลงมติปิดอภิปรายผ่านมาตราที่เหลือของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับ ส.ว.ก็จะใช้แนวทางลดความรุนแรง หรือการประท้วงลง แต่จะเน้นอภิปรายเนื้อหาสาระที่สื่อให้ประชาชนได้เห็นข้อดี ข้อเสีย และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน พร้อมเรียกร้องไปยังประธาน รวมถึง ส.ส. และ ส.ว. ฝ่ายรัฐบาลอย่าใช้เสียงข้างมากมารังแกด้วยวิธีปิดปาก ปิดกั้นสิทธิอภิปรายของฝ่ายค้านอีก
พ.ท.กมล ประจวบเหมาะ ส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า ทางกลุ่มยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาตีความ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลรู้เห็นกับประธาน เร่งผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกมาตรา ถือว่าส่อกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ หวังผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน