สภาป่วน ประธานสั่งพัก 10 นาที หลังเพื่อไทยเสนอปิดอภิปรายมาตรา 3 ทำ ปชป.ประท้วงวุ่น ย้ำทำผิด รธน.ด้าน “มาร์ค” โต้ไม่เคยมีใครปิดอภิปรายขณะที่มีผู้แปรญัตติยังค้างอยู่ “คำนูณ” ย้ำชัด แก้ รธน.อาจผิดกฎหมาย ฉะรัฐบาลกำลังทำให้สภาตรวจสอบเสียหาย
วันนี้ (27 ส.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวอภิปรายว่า กลุ่มคนที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ก็คือกลุ่มที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับมาแล้วในปี 2551 ที่นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 มาเป็นแม่แบบเพื่อทดแทนรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งแสดงว่ารัฐธรรมนูญปี 40 คือการปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญ ที่เพิ่มอำนาจให้กับสภาสามารถแต่งตั้งและถอดถอนองค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรม โดยกฎหมายของเราจะกำหนดให้ ส.ส.ต้องมีสังกัดพรรคการเมือง แต่การตอบโจทย์อีกด้านหนึ่งคือการเพิ่มอำนาจในการตรวจสอบการบริหารประเทศให้กับอีกหลายเวที ก็คือ วุฒิสภา องค์กรอิสระ และระบบศาลต่างๆ เพื่อที่จะพัฒนาระบบให้ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ถ้าเราจะย้อนไปดูบทบาทของ ส.ว.ในอดีตจะพบว่า วุฒิสภาสามารถถอดถอนหรือสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สิ่งนี้คือโจทย์ที่ถูกตั้งเอาไว้ในรัฐธรรมนูญปี 40 ตามหลักคิดจะพบว่า ถ้า ส.ว.เป็นกลุ่มเดียวกับ ส.ส.ก็ไม่อาจตอบโจทย์ดังกล่าวได้
นายคำนูณ ยังกล่าวต่อว่า ความขัดแย้งของการเมืองกว่า 8 ปีที่ผ่านมาทำให้รัฐธรรมนูญปี 50 ไม่สามารถพัฒนาได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 50 ระบุคุณสมบัติชัดเจนไว้ว่า ผู้ที่จะมาเป็น ส.ว.จะต้องเว้นวรรคจากพรรคการเมืองมาอย่างน้อย 5 ปี และห้านเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกันกับ ส.ส.ลงสมัคร ซึ่งขณะนี้หากท่านไม่ต้องการการสรรหาก็ไม่เป็นไร แต่คุณสมบัติของ ส.ว.กลับโดนแก้ไขด้วย นั่นทำให้องค์กรอิสระกำลังจะถูกแทรกแซง โดยการแก้ไขครั้งนี้จะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อห้ามหรือไม่ โดยเฉพาะมาตรา 68(1) ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปีที่แล้วด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็คงต้องนำเอาไปหารือในเวทีอื่นต่อไป ทั้งนี้ ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้สำเร็จจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องสภาตรวจสอบที่อาจจะเสียหายไป
จากนั้น นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ประท้วงว่า อยากจะให้จำกัดเวลาของผู้อภิปรายในแต่ละคน เพื่อไม่ให้เกิดความยืดเยื้อ จึงทำให้นายแพทย์สุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวโต้แย้งว่า สภาไม่มีสิทธิกำหนดเวลาให้สมาชิกอภิปราย เพราะถือว่าเป็นสิทธิของสมาชิก ที่ผ่านมาที่ประชุมสภาก็มีการอะลุ่มอล่วยกัน อย่างในขณะนี้องค์ประชุมก็ไม่ครบ แต่เราก็ยังอภิปรายกันต่อ ซึ่ง นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานรัฐสภา ยืนยันว่า องค์ประชุมนั้นครบถ้วน มีสมาชิกอยู่ด้านนอกอีกเยอะ นายแพทย์สุกิจ จึงเสนอให้มีการนับองค์ประชุม เนื่องจากสมาชิกที่อยู่ด้านนอกห้องประชุมนั้น ไม่ถือว่าเป็นองค์ประชุม นายนิคม จึงกดออดเรียกสมาชิกเพื่อนับองค์ประชุม โดยมีการกดออดอยู่ประมาณ 5 นาที ต่อมาเมื่องค์ประชุมจึงครบ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้เสนอปิดการอภิปรายในมาตรา 3 เนื่องจากมีการอภิปรายซ้ำไปมา นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ โต้แย้งว่า ประธานกำลังจะทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะการอภิปรายคือการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกที่จะสื่อสารไปยังประชาชน และข้อบังคับในการประชุม ข้อ 99 ก็ระบุชัดว่า สมาชิกสามารถอภิปรายในถ้อยคำเว้นแต่ที่ประชุมเห็นเป็นอย่างอื่น นั่นหมายความว่า สมาชิกที่สงวนคำแปรญัตติสามารถอภิปรายได้ เช่นเดียวกับนายแพทย์สุกิจ ที่กล่าวว่า หากสภาแห่งนี้จะปิดหูปิดตากันอีกครั้งก็ไม่เป็นไร เพราะก็ทำกันบ่อยอยู่แล้ว และสภาแห่งนี้ก็คือสภาทาส ท่านก็รู้ว่าถ้ามีการปิดกั้นแล้วอะไรจะเกิดขึ้น นายนิคม จึงสั่งให้นายแพทย์สุกิจถอนคำพูดว่าปิดหูปิดตา แต่ นายแพทย์สุกิจ ทักท้วงว่า หากตนถอนคำพูดท่านจะให้ฝ่ายนั้นถอนญัตติปิดประชุมหรือไม่ นายนิคมได้พยายามร้องขอให้ถอนคำพูดดังกล่าว นายแพทย์ สุกิจ จึงถอนคำพูดออกไป
จากนั้นสมาชิกได้โต้แย้งกันไปมากว่า 10 นาที โดยทาง ส.ว.ระบุว่าจากธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา ถ้ามีผู้แปรญัตติค้างอยู่และต้องการจะอภิปรายการจะปิดอภิปรายนั้นอาจจะเป็นการทำผิดข้อบังคับ
ต่อมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ผู้แปรญัตติก็คือญัตติที่เสนอเข้ามาและค้างอยู่ในสภา เปรียบเสมือนยังไม่ได้เริ่มต้นที่จะเสนอคำแปรญัตติของตนเอง จึงเป็นเหตุว่าที่ผ่านมาไม่มีการเสนอปิดอภิปรายในลักษณะนี้ อีกทั้ง นายคำนูณ กำลังอภิปรายค้างอยู่ เมื่อมีการนับองค์ประชุมคบแล้วก็ต่อเปิดโอกาสให้กับนายคำนูณได้อภิปรายต่อ สิ่งที่ประธานทำอยู่ขณะนี้ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ในหลักการการแปรญัตติของสมาชิกที่สงวนคำแปรญัตติ และกรรมาธิการสงวนความเห็น คือญัตติที่ค้างอยู่ในสภา เพราะฉะนั้นหากการอภิปรายใข้เวลาที่ยาวนาน ก็เป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภาที่จะต้องดูแลการอภิปรายให้อยู่ในกรอบ ส่วนกรณีว่าจะใข้เวลานานเท่าไหร่ในการอภิปรายนั้นก็เป็นหน้าที่ของวิปแต่ละฝ่ายที่จะต้องประสานกัน หากมีลงเสนอปิดอภิปรายในอนาคตสภาแห่งนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีการอภิปรายอีก ข้อเสนอของตนคืออาจจะให้วิปทั้ง 3 ฝ่ายไปหารือเพื่อกำหนดกรอบการประชุมก่อน ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยและวุฒิสภาก็เห็นด้วย โดย นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร กล่าวว่า ตนในฐานะวิปของวุฒิสภา อยากจะให้นายคำนูณได้อภิปรายต่อจนจบก่อน แต่นายนิคมตัดสินใจสั่งให้พักการประชุม 10 นาที เพื่อให้วิปทั้ง 3 ฝ่ายไปหารือกัน