xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ ตอนสุดท้าย : K-Water จากฟลัดเวย์เกาหลี สู่ โปรเจ็คท์แสนล้านลุ่มเจ้าพระยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แนวคลองผันน้ำคยอง-อิน อารา ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ เพื่อใช้ป้องกันน้ำท่วม
แผนทางผันน้ำ โมดูล เอ 5 เค-วอเตอร์โชว์ฟลัดเวย์คยองอิน อารา ขุดทางน้ำผ่าเมืองแก้ท่วมซ้ำซาก 19 กม.ต้นแบบทางผันน้ำ งบแสนล้านในไทย ชูโครงการพัฒนาแม่น้ำ 4 สายหลักโสม ป้องกันท่วม เก็บชลประทาน สร้างแหล่งเที่ยวเพิ่ม โต้เอ็นจีโอ ยันสาหร่ายเขียวเกิดมานานแล้วไม่เกี่ยวโครงการ รับวิถีริมน้ำไทย-เกาหลีต่าง แต่ยันพร้อมให้กระทบน้อยที่สุด ยังอุบจุดไหนโดนบ้าง ขอเซ็นสัญญาก่อน

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - อีก 1 โครงการสำคัญที่ทางเค-วอเตอร์ได้รับงานจากการชนะประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ ก็คือการจัดทำทางผันน้ำ หรือฟลัดเวย์ มูลค่ากว่า 153,000 ล้านบาท เพื่อทำหน้าที่ระบายน้ำหลากที่หลายคนยังคงสงสัยถึงความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง พื้นที่ที่จะต้องใช้จัดการ การเผชิญหน้าระหว่างเอกชนและชาวบ้านชุมชนในพื้นที่ จะทำอย่างไร เดินหน้าในรูปแบบไหน ยังคงเป็นคำถามที่คนไทย ต้องการจะทราบคำตอบเช่นกัน

สำหรับโมดูล เอ 5 การจัดทําทางผันน้ำ หรือฟลัดเวย์ ขนาดประมาณ 1,500 ลบ.ม./วินาทีรวมทั้งการก่อสร้างถนนเพื่อรองรับการคมนาคม โดยให้มีการก่อสร้างทางผันน้ำ ด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้สามารถผันน้ำลงสู่อ่าวไทย รวมทั้งการก่อสร้างถนนริมคลองที่ขุดใหม่เพื่อรองรับการคมนาคมโดยใช้งบประมาณไม่เกิน 153,000 ล้านบาท เพื่อทําหน้าที่ระบายน้ำหลากที่เกินขีดความสามารถของแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเน้นระบบแรงโน้มถ่วงลงสู่อ่าวไทย

ทั้งนี้มีพื้นที่ดําเนินการได้แก่ 1.ฝั่งตะวันออกของแม่น้้ำเจ้าพระยา ปรับปรุงระบบชลประทานช่วงชัยนาท-ป่าสัก พร้อมส่วนต่อขยายจากแม่น้ำป่าสักลงสู่อ่าวไทยด้วยระบบแรงโน้มถ่วง และระบบดันหรือดูดหากจําเป็นในบางจุดพื้นที่ให้มีอัตราการไหล 300-400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยการปรับปรุงขยายคลองชัยนาท-ป่าสักในเขตแนวคลอง และการปรับปรุงขุดขยายคลองระพีพัฒน์ คลองสิบสาม คลองรังสิตใต้ คลองพระองค์ไชยานุชิต และคลองอื่นๆ ที่จําเป็น ทั้งนี้ให้ขุดขยายเต็มเขตแนวคลอง พร้อมทั้งขยายหรือทําคัน ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำให้มีบานระบายน้ำกว้างเท่ากับความกว้างของคลองเพื่อให้ระบายน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ลงสู่อ่าวไทยได้โดยดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี

2.ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาจากเหนือจังหวัดนครสวรรค์ (แม่น้ำปิง) ลงสู่อ่าวไทยด้วยระบบแรงโน้มถ่วงขุดทางผันน้ำ ให้มีอัตราการไหลไม่น้อยกว่า 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปีแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกให้เริ่มจากจุดเหนือจังหวัดนครสวรรค์ไปลงเหนือเขื่อนแม่กลอง และช่วงที่สองอาจเลือกการขุดคลองผันน้ำด้านฝั่งขวาขนานกับคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาลงสู่อ่าวไทยบริเวณตําบลบ้านแหลม จ.เพชรบุรี โดยทําจุดเชื่อมเพื่อระบายน้ำไปลงแม่น้ำท่าจีน หรืออาจพิจารณาแนวทางผันน้ำโดยการระบายน้ำผ่านแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีนลงสู่อ่าวไทยตามธรรมชาติโดยการขยายปรับปรุงลําน้ำที่จะใช้ในการระบายน้ำเพื่อให้สามารถระบายน้ำจากเหนือจังหวัดนครสวรรค์ลงสู่อ่าวไทยได้

3.ขุดลอกปรับปรุงแม่น้ำท่าจีนตอนล่างเพื่อเพิ่มอัตราการระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยในกรณีที่มีความเหมาะสม พร้อมทั้งการขุดคลองลัด 3 แห่ง คือ คลองลัดงิ้วรายออก วัดไทยาวาส อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โดยมีความยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร และความกว้างตามเขตคลองเดิม คลองลัดอีแท่น (นางแท่น) วัดหอมเกล็ดออกท่าตลาด อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยมีความยาวประมาณ 1.8 กิโลเมตรและความกว้างตามเขตคลองเดิม และคลองลัดท่าข้าม (ท่าคา) ปากคลองข้างวัดท่าข้ามเขต อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยมีความยาวประมาณ 2.2 กิโลเมตรและความกว้างตามเขตคลองเดิม ทั้งนี้ให้คํานึงถึงผลกระทบด้านการรุกตัวของน้ำเค็ม การกัดเซาะและผลกระทบด้านอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นและต้องเสนอแนวทางแก้ไขผลกระทบที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี และ 4 ก่อสร้างถนนขนาด 2-4 ช่องทางจราจรของแต่ละฝั่งตลอดแนวคลองผันน้ำ

• ทางผันน้ำ คยอง-อิน อารา ต้นแบบฟลัดเวย์ในไทย?

โครงการทางผันน้ำ คยอง-อิน อารา (Gyeong In Ara Water way.) ก่อสร้างเมื่อปี 2552 เป็นโครงการสร้างทางผันน้ำจากแม่น้ำฮัน จ.โซล ไปยังทะเลตะวันตก ที่ จ.อินชอน โดยขุดคลองขึ้นใหม่มีระยะทาง 19 กม.กว้างปากคลอง 120 ม.ก้นคลอง 80 ม. ลึก 6.3 ม.ผ่าเมือง พร้อมสร้างประตูน้ำปรับระดับน้ำสู่ทะเล และอ่างปรับระดับน้ำในแม่น้่ำฮัน

นายลี บยอง ฮยอบ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการทางน้ำ อารา (Director General) กล่าวอธิบายว่า เพื่อป้องกันอุทกภัยในเมืองบูชอน (Buchoen) ซึ่งเดิมมีน้ำท่วมประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักตลอดเมื่อถึงฤดูน้ำหลากของทุกปี ซึ่งเมื่อเปิดใช้ก็พบว่าคลองดังกล่าวสามารถควบคุมน้ำในพื้นที่ไม่ให้ท่วมได้ ซึ่งเมื่อมีน้ำหลากก็จะถูกผันออกไปลงทะเลอย่างรวดเร็ว และยังป้องกันน้ำท่วมในแม่น้ำกูลโปด้วย นอกจากนี้ยังได้สร้างท่าเรืออินชอน และกิมโป เพื่อใช้เป็นสถานีขนส่งโดยตรงระหว่างกรุงโซล สู่ทะเลตะวันตก โดยสามารถทำให้เรือบรรทุกกว่า 4 พันตันผ่านไปมาได้ ซึ่งทางบริษัทหวังว่าจะมีผู้ใช้บริการทางคมนาคมทางน้ำเพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ยังได้สร้างถนนบริเวณสันเขื่อนกั้นน้ำ 15.6 กม. รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยว จุดชมวิว และเส้นทางจักรยานต่างๆ ตลอดเส้นทาง

ด้านนายลี ฮัน กู วิศวกรชำนาญการ และผู้อำนวยการ ทรัพยากรแม่น้ำ และน้ำ ฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บ.โคเรีย วอเตอร์ รีซอร์สเซส คอร์เปอเรชั่น กล่าวตอบคำถามกรณีที่ประชาชนบางส่วนยังไม่เข้าใจถึงโครงการบริหารจัดการน้ำว่า ต้องมีการแจ้งข้อมูลให้ประชาชนทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับ รวมทั้งการชดเชยและรับฟังความคิดเห็นด้วย ขณะที่ความต่างของระยะทางจากโครงการทางผันน้ำอารา กับโครงการฟลัดเวย์และฝายในไทยนั้น เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา ตอนที่ทำโครงการในเกาหลีในช่วงแรกก็ประสบปัญหาการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่และเอ็นจีโอเช่นกัน แต่ท้ายที่สุดก็สามารถทำได้

ส่วนความแตกต่างระหว่าง 2 ชาตินั้น นายลี ฮัน กู กล่าวยอมรับว่า ก็มีแผนในการศึกษาข้อมูลแล้ว แต่ก็มีความยากในความแตกต่างของภูมิประเทศ แต่ได้จ้างผู้เชี่ยวชาญมาทำงานร่วมก่อนที่จะทำแผนเสนอโดยเน้นความเหมาะสมกับไทย รวมไปถึงในส่วนของสังคมก็ยากเช่นกัน จึงต้องมีการเจรจาและศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียด โดยจะใช้คยอง-อิน อารา เป็นประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับการทำฟลัดเวย์ในไทย รวมทั้งบังเกอร์ฮีตจากโครงการแม่น้ำ 4 สาย

ขณะที่ นายมณฑล ภานุโภคิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค-วอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของประเด็นทางการเมืองนั้น คาดว่าจะไม่มีผลอะไร ซึ่งทางบริษัทรอเพียงแค่รัฐบาลกำหนดอนาคต และคำสั่งศาลปกครอง ในขณะนี้จึงยังไม่มีการขยับอะไรทั้งสิ้่น ทางบริษัททำได้เพียงความพร้อมภายในและศึกษากฏหมายของไทย ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจึงยังไม่สามารถชี้แจงอะไรได้มากนัก ทั้งฟลัดเวย์และแก้มลิง ก็ต้องรอจนกว่าจะมีการเซ็นสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยและบริษัทอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็ไม่กังวลเพราะทำอย่างสุดความสามารถ โดยแผนงานนั้นก็ได้นำข้อมูลเก่าของทางไทยมาประกอบกับข้อมูลใหม่ที่เรามีและนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้

ทางด้าน นายบยอง ฮูน ยุน รองประธาน ฝ่ายธุรกิจต่างประเทศ บ.โคเรีย วอเตอร์ รีซอร์สเซส คอร์เปอเรชั่น กล่าวเสริมว่า ในส่วนของการจัดการสิ่งแวดล้อมในการทำเขื่อนเราใช้วิธีการตัด 1 ต้น ปลูก 2 ต้น ซึ่งก่อนที่จะเสนอแผนไปได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำงานใน กทม.ราว 1 ปี เพื่อหาข้อมูลของไทย ขณะที่ล่าสุดทางบริษัทก็ได้จ้างนักกฎหมายเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายของไทย โดยหวังว่าเมื่อมีการเซ็นสัญญาแล้วจะร่วมช่วยแก้ปัญหาของประเทศได้ ส่วนถ้าแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้นั้น คงไม่สามารถตอบได้ว่าจะทำอย่างไรต่อ

• โครงการแม่น้ำ 4 สาย “โบดำ” หรือ “โบแดง” เค-วอเตอร์?

ขณะที่อีกหนึ่งโครงการล่าสุดที่ถือเป็นผลงานที่รัฐบาลเกาหลีได้สร้างขึ้น ท่ามกลางข้อครหาที่องค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอเกาหลีใต้ ต่างวิพากษ์วิจารณ์ ในแง่ลบอย่างมากถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และการเร่งรัดก่อสร้างโดยขาดการทำประชาพิจารณ์อย่างรอบคอบ นั่นคือ โครงการฟื้นฟูและพัฒนาแม่น้ำ 4 สายหลักของประเทศ

โครงการนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2552-2555 เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำ 4 สายหลักของประเทศคือ แม่น้ำฮัน แม่น้ำนักดง แม่น้ำกึม และแม่น้่ำยองซาน เพื่อให้มีความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ ปลอดภัยจากอุทกภัย แก้ปัญหาภัยแล้ง และฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งเป็นนโยบายของประเทศที่วางมาตรการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากน้ำท่วมซ้ำซ้อนและน้ำแล้ง รวมทั้งการสนับสนุนการท่องเที่ยวในเชิงประวัติศาสตร์ และ วัฒนธรรม โดยใช้พื้นที่ยาว 1,266 กิโลเมตร จาก แม่น้ำทั้ง 4 สาย

โดยการควบคุมอุทกภัย ได้ขุดลอกตะกอนพื้นแม่น้ำออกรวม 450 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างจุดเก็บน้ำ 5 แห่ง ซ่อมแซมทำนบทรุดโทรม 784 กม.ซึ่งสามารถลดปริมาณน้ำหลากได้ 2-4 เมตร ขณะที่การกักเก็บน้่ำ ได้สร้างฝาย 16 แห่ง เขื่อน 2 แห่ง เสริมตลิ่งอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตร 96 แห่ง จนสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้เพิ่มอีก 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร การปรับปรุงคุณภาพน้ำ ได้สร้างโรงบำบัดน้ำเสีย 1,281 โรง โรงบำบัดสภาพฟอสฟอรัส 233 โรง ทำให้สภาพน้ำสะอาดขึ้น 76-86% การฟื้นฟูระบบนิเวศและการพัฒนาภูมิทัศน์ ปรับปรุงพื้นที่ชุ่มน้ำเชิงนิเวศ 11.8 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างทางปลากระโดด 33 จุด เพิ่มทางจักรยานตลอดแนวรวม 1,757 กม.เพิ่มพื้นที่ลานกิจกรรมและพักผ่อน 454 จุด สร้างศูนย์วัฒนธรรมลุ่มน้ำอีก 4 แห่ง และการพัฒนาพลังงานทดแทน ได้สร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขลาดเล็ก 800-5,000 กิโลวัตต์ ในแต่ละเขื่อน ทำให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า 58,000 ครัวเรือนโดยรอบ

ทั้งนี้ เค-วอเตอร์ ระบุว่า โครงการนี้สามารถควบคุมภัยพิบัติได้อย่างน่าพอใจ อาทิ กรณีพายุไต้ฝุ่นเข้าโจมตีคาบสมุทรเกาหลี 4 ลูกในเวลาต่อเนื่องเมื่อปี 2555 ก็สามารถระบายน้ำในแม่น้ำได้ต่ำกว่าหลายปีที่ผ่านมา หรือกรณีภัยแล้งเมื่อปี 2555 ที่วิกฤติที่สุดในรอบ 104 ปี ก็สามารถบริการจัดจ่ายน้ำให้กับประชาชนได้อย่างพอเพียง นอกจากนี้ยังได้รับการรับรองจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ว่าเป็นแนวทางที่ครบวงจรด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการจัดการทรัพยากรน้ำ ในรายงานสรุปด้านสิ่งแวดล้อมปี 2555

ขณะที่ ฝายกังจอง-กอยอง (Gangjeong Goryeong weir.) เป็น 1 ใน 16 ฝายของโครงการดังกล่าว ตั้งอยู่ในแม่น้ำนักดง (Nakdong) จ.แดกู (Daegu) ทางตอนใต้ของประเทศ โดยแบ่งเป็นฝายกลางแม่น้ำ 954 เมตร ขุดลอกตะกอนพื้นแม่น้ำ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร ทางจักรยาน 10.2 กม.และสวนสาธารณะ 3 จุด มีวัตถุประสงค์ใช้กักเก็บน้ำเพื่อชดเชยฤดูแล้ง ควบคุมอุทกภัย ปรับปรุงคุณภาพน้ำ ฟื้นฟูระบบนิเวศ และเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยสร้างพิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำ The Arc ขึ้นเพื่อเพิ่มทัศนียภาพ

นายชิน กวัง โฮ ผู้อำนวยการสำนักงานฝายกังจอง กอยอง กล่าวอธิบายว่า สาเหตุที่สร้างฝายดังกล่าวเพราะสถานการณ์ภัยแล้งที่หนักขึ้น รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะฟื้นฟูแม่น้ำทั้ง 4 สายหลัก โดยใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีอันทันสมัยบริหารจัดการ และฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาเป็นปกติ

เมื่อถูกถามถึงปรากฏการณ์สาหร่ายสีเขียวที่ทางกลุ่มอนุรักษ์เกาหลีใต้โจมตีว่าเกิดจากการก่อสร้างโครงการ นายชิน กวัง โฮ กล่าวว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติ จากหลายปัจจัย เช่น แสงอาทิตย์ จึงเชื่อว่าการก่อสร้างไม่ใช่สาเหตุของการเกิดสาหร่ายดังกล่าว ซึ่งก่อนเริ่มโครงการปรากฏการณ์นี้ก็เคยเกิดขึ้น โดยเมื่อปี 2548 ถือว่ามีความรุนแรงที่สุด ซึ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้เป็นแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น และไม่ได้มีผลต่อคุณภาพน้ำ

เมื่อถามว่า กรณีที่มีรายงานว่ามีการทำประชาพิจารณ์และศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโครงการนี้ในเวลาเพียงไม่นาน นายชิน กวัง โฮ กล่าวว่า โครงการนี้มีการยอมรับจากประชาชน ซึ่งอาจมีการต่อต้าน ก็มีการเจรจาตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการ โดยภาพรวมก็ยังคงมีคนที่ไม่เห็นด้วยอยู่ แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อนุมัติจึงสามารถทำได้ ทั้งนี้ก่อนสร้างได้มีการศึกษาผลกระทบถึงความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง รวมถึงการทำประชาพิจารณ์ ในช่วงปี 2551-2552 และทำขึ้นเพื่อการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น

ด้าน นายลี ฮัน กู กล่าวเสริมว่า สภาวะอากาศที่แปรปรวนเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกาหลีต้องเริ่มโครงการ ส่วนในประเทศไทย ตนได้ทราบข้อมูลมาว่า แม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบันได้มีน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมาก ซึ่งอาจส่งผลต่อสถานการณ์น้ำในประเทศ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องป้องกันก่อนแก้ปัญหา ขณะที่โครงการฟื้นฟูนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า แม่น้ำในเกาหลีมีความสกปรกมาก แต่จะทำให้สภาพน้ำดีขึ้น

ขณะที่ นายมณฑล กล่าวว่า ยืนยันว่า เค-วอเตอร์พร้อมเปิดเผยข้อมูลโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งหมด ในด้านเทคนิค แต่ต้องรอเซ็นสัญญาโครงการกับรัฐบาลก่อน และย้ำว่าพร้อมที่จะร่วมงานกับทุกฝ่าย

เมื่อถามถึงวิถีริมน้ำที่ต่างกันระหว่างเกาหลีกับชาวไทย นายลี ฮัน กู กล่าวว่า วิถีริมน้ำของชาวเกาหลี ยอมรับว่าในสมัยก่อนก็ไม่ค่อยทำกิจกรรมร่วมกับน้ำมากนัก แต่พอทำโครงการทำให้ชาวเกาหลีเริ่มมองเห็นความสำคัญของน้ำ ในส่วนของการท่องเที่ยวเป็นหลัก และการรักษาสุขภาพ รวมทั้งกีฬาทางน้ำ ซึ่งความแตกต่างในวิถีชีวิตของชาวริมน้ำของไทย ก็อยากจะให้ดูที่ผลเป็นหลัก โดยบริษัทพร้อมทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย ทั้งนี้ยืนยันว่า โครงการไม่น่าจะมีผลกระทบต่อประชาชนหรือพยายามจะให้มีน้อยที่สุด โดยใช้พื้นที่ที่เกิดกระทบน้อยที่สุด แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะสร้างตรงจุดใดบ้าง คงต้องรอการศึกษาผลกระทบโดยรวมก่อน

นายมณฑล กล่าวเสริมว่า รัฐบาลเกาหลีได้มีนโยบายให้สามารถทำกิจกรรมทางน้ำแค่บางพื้นที่ และแยกระบบน้ำเสียในการทำการเกษตรกรรม แต่ถ้าจะห้ามในไทยคงไม่ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ไทยจะต้องปรับปรุงน้ำทั้งระบบให้ได้ก่อน

เมื่อถามว่า ถ้าโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลไทยไม่สามารถดำเนินงานได้ทางเค-วอเตอร์ จะช่วยเหลือลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของไทยอย่างไร นายลี ฮัน กู กล่าวว่า ในการศึกษาแผนงานในไทย ได้ยกตัวอย่างการพัฒนาของการแม่น้ำ 4 สายมาป้องกันน้ำท่วม และรองรับสภาวะอากาศแปรปรวน ซึ่งที่สนใจแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะมีบางจุดที่คล้ายคลึงกัน จึงอยากแบ่งปันประสบการณ์ร่วมแก่ประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญากับรัฐบาลไทยได้ แต่ถ้าไม่ได้เซ็นสัญญาก็คงต้องดูตามคำแนะนำของรัฐบาลไทย

เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างโครงการแม่น้ำ 4 สายกับการบริหารลุ่มน้ำเจ้าพระยา นายลี ฮัน กู กล่าวว่า ก็มีข้อแตกต่างบ้าง แต่ไม่น่าจะยาก เพราะในตอนบนของแม่น้ำก็มีน้ำท่วม ส่วนด้านปลายแม่น้ำก็มีน้ำท่วมขังเป็นแอ่ง ก็คล้ายกัน ของเกาหลีเป็นที่ราบภูเขาสูงไหลลงด้านล่างอย่างรวดเร็วจึงท่วมง่าย ส่วนของไทยที่ราบต่ำน้ำไหลลงช้าแต่ท่วมขัง ทั้งนี้จึงคาดว่าน่าจะใช้ประสบการณ์เข้าช่วยได้ แต่ก็จะนำข้อมูลของไทยมาศึกษาทั้งหมดด้วย แต่สิ่งที่ยากคือระบบการบริหารร่วม การจัดการเทคโนโลยี และบุคคลที่จะมารับช่วงดูแลต่อหลังสร้างเสร็จแล้ว

เมื่อถามถึงการจัดการปัญหาวิถีชีวิตชาวบ้านริมแหล่งน้ำ นายลี ฮัน กู กล่าวว่า ก็มีบางส่วนที่จะต้องย้ายออกไป หรืออาจจะปรับปรุงบ้านที่อาจได้รับผลกระทบให้ยกพื้นสูงขึ้น มีใต้ถุนโล่ง

“เราสามารถเสนอแนวทางได้ แต่สุดท้ายก็ต้องเป็นอำนาจของทางรัฐบาลที่จะใช้กฎหมายในการดำเนินการ” นายมณฑล กล่าว

การพาชมสถานที่อันเป็นจุดขายของเค-วอเตอร์ ทั้งศูนย์ควบคุมทรัพยากรน้ำ,โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขึ้นน้ำลง ซีฮวา, เขื่อนอเนกประสงค์โซยองกัง, ทางผันน้ำ คยอง-อิน อารา และฝายกังจอง-กอยอง 1 ในโครงการพัฒนาแม่น้ำสี่สาย อาจจะคลายความสงสัยบางส่วนในบริษัท เทคโนโลยี การจัดการและพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ของเกาหลีใต้ไปได้บ้าง แต่ปัญหาการจัดการน้ำของไทยที่จะต้องเจอต่อจากนี้ อาจไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของสภาพภูมิศาสตร์ แต่อยู่ที่พื้นที่ที่จะถูกใช้งานทั้งฟลัดเวย์และแก้มลิง ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือของชาวบ้าน และความเข้มแข็งในการจับตาต่อสิ่งผิดปกติของเหล่าบรรดาเอ็นจีโอไทย การบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวดและเป็นธรรมของภาครัฐ รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ นั่นคือสิ่งที่สังคมกำลังเฝ้าดูอยู่ว่า รัฐวิสาหกิจเกาหลีจะทำอย่างไรต่อไปหลังได้รับการเซ็นสัญญาจากทางรัฐบาลไทย


ประตูผันน้ำ คยอง-อิน อารา
นายลี บยอง ฮยอบ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการทางน้ำ อารา บรรยายแผนที่จัดทำฟลัดเวย์
แผนที่จุดน้ำท่วมบ่อยของเกาหลี
ด้านล่างของศูนย์บริหารทางผันน้ำ คยอง-อิน อารา ถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ของโครงการ
จุดชมวิวพื้นล่างเป็นกระจกถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวริมฟลัดเวย์
สำนักงานฝายกังจอง กอยอง 1 ในโครงการแม่น้ำ สี่สาย
ภายในห้องควบคุมของสำนักงานฝายกังจอง กอยอง
ประตูกักน้ำฝายกังจอง กอยอง
บรรยากาศในยามเย็นที่ทางเค-วอเตอร์ หวังจะให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่
พิพิธภัณฑ
ประตูกักน้ำฝายกังจอง กอยอง
บรรยากาศในยามเย็นที่ทางเค-วอเตอร์ หวังจะให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่
พิพิธภัณฑ์ดิ-อาร์ค (The Arc) ศูนย์การเรียนรู้การทำฝาย
กำลังโหลดความคิดเห็น