xs
xsm
sm
md
lg

“พ้อง”ชี้แม่น้ำป่าสักตื้น-ตลิ่งพังกระทบเดินเรือ ลุ้นพ.ร.บ.2ลล.ผ่านเร่งสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"พ้อง"เตรียมแผนสำรองหาแหล่งเงินกู้ล็อตแรก 2 พันล.สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งและขุดลอกแม่น้ำป่าสักหากพ.ร.บ.กู้2 ลล.สะดุด ชี้ปัญหาร่องน้ำตื้นเขินต้องเร่งแก้เหตุเพื่อช่วยให้การเดินเรือขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น ลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้มาก ด้านภาคเอกชนเสนอรัฐ แก้ปัญหาความสูงของสะพาน 10 แห่งให้เรือลอดผ่านได้และกำหนดผังเมืองในอยุธยาหรือจัดโซนในการให้บริการท่าเรือเพื่อให้เปิดบริการได้ 24 ชั่วโมง

เมื่อวันที่ 9 กันยายน นายพ้อง ชีวานันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้ตรวจพื้นที่โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าในแม่น้ำป่าสัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเปิดเผยว่า แม่น้ำป่าสักมีศักยภาพในการขนส่งสินค้าทางน้ำและมีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาดำเนินการแต่ติดปัญหาร่องน้ำตื้นเขิน ซึ่งกรมเจ้าท่ามีแผนปรับปรุงร่องน้ำและก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อให้การเดินเรือไม่กระทบต่อประชาชนสองฝั่งวงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาทโดยใช้เงินลงทุนจากพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท โดยระยะแรกจะลงทุนประมาณ 2,070 ล้านบาทซึ่งหากพ.ร.บ. 2 ล้านล้านสะดุดหรือมีปัญหาล่าช้า จะต้องหาแหล่งเงินกู้อื่นหรือจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการแทนเพราะถือเป็นโครงการเร่งด่วนและจะทำให้ศักยภาพในการรองรับเรือช่วงต้นน้ำเพิ่มจากเรือขนาด1,500 ตันเป็น 2,000 ตันและช่วงก่อนถึงเขื่อนพระราม 6 จาก 800 ตันเพิ่มเป็น 1,500 ตัน

นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ปัจจุบันแม่น้ำป่าสักสามารถขนส่งสินค้าได้ประมาณ 56%ของการขนส่งทางน้ำทั้งหมด เพราะยังมีปัญหาแม่น้ำตื้นเขินจากการสะสมของตะกอนที่ถูกพัดพามาทำให้การเดินเรือติดช่องใต้สะพาน และความสูงสะพานในช่วงฤดูน้ำหลาก ปัญหาความคดเคี้ยวและตลิ่งพัง เกิดปัญหาความหนาแน่นในการขนส่งช่องทางการเดินเรือคับแคบอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและกีดขวางการเดินเรือ

โดยในพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าในแม่น้ำป่าสัก และก่อสร้างเขื่อนกันตลิ่งวงเงิน 11,180 ล้านบาทประกอบด้วยโครงการสำรวจและออกแบบการพัฒนาทางเดินเรือ ระยะที่ 1 จากกิโลเมตรทางน้ำที่ 0-52 (ช่วงใต้เขื่อนพระรามหก) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีปัญหาตื้นเขิน โดยก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง 12 แห่งพร้อมขุดลอก ระยะเวลาดำเนินการปี 2557-2559 วงเงิน 2,070 ล้านบาท และระยะที่ 2 ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพร้อมขุดลอกส่วนที่เหลือ และก่อสร้างหลักผูกเรือ ติดตั้งเครื่องหมายช่วยการเดินเรือ รวมทั้งจัดระเบียบการจราจร ระยะเวลาดำเนินการปี 2559-2563 ประมาณ 8,765.8 ล้านบาท โครงการศึกษาออกแบบเพื่อพัฒนาให้เรือ 1500 ตันเดินได้ถึง อ.เสาไห้ วงเงิน 260ล้านบาทและศึกษาความเป็นไปได้ในการขนส่งผ่านคลองระพีพัฒน์ไปถึงปากแม่น้ำบางปะกง วงเงิน 84.2 ล้านบาท

โดยคาดว่าภายหลังโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าจาก 26 ล้านตันต่อปีเป็น 34-35ล้านตันต่อปี และจะได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนวิธีการขนส่งในภาพรวม 20,887.34 ล้านบาทต่อ

นายชรินทร์ จันทร์เมือง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่าเรืออยุธยาและไอซีดี จำกัด กล่าวว่า การขนส่งทางเรือผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาและป่าสักมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำกว่าถนนมากซึ่งอยุธยามีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก และมีท่าเรือถึง49 แห่งตลอด 2 ลำน้ำ แต่ติดปัญหาไม่สามารถเดินเรือได้ตลอดทั้งปีจึงอยากเสนอให้กรมเจ้าท่า กำหนดขนาดเรือให้ชัดเจน ,แก้ปัญหาความสูงของสะพาน 10 แห่งที่เรือไม่สามารถลอดผ่านได้ เช่น สะพานนวลฉวี สะพานกรุธน สะพานพระราม7 สะพานพระนั่งเกล้า เป็นต้น ,กำหนดผังเมืองหรือจัดโซนในการให้บริการท่าเรือ เพื่อให้เปิดบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ,เร่งรัดก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง เชื่อมกับท่าเรือกรุงเทพและแหลมฉบัง และพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการเดินเรือในแม่น้ำ ( RIS)
กำลังโหลดความคิดเห็น