แก้รธน.ที่มา ส.ว.ต่อ ปชป.โวย "นิคม" วินิจฉัยทำสับสน "สมศักดิ์" ปล่อยจ้อ 3 ชม.ก่อนทำซึ้งขอเปิดใจ ถามยื้อปรองดอง-แก้รธน.วาระ 3 ถือว่ารับคำสั่ง "แม้ว" หรือไม่ โอดโดนเพื่อนด่าเละ โอ่แถมยอมขัดหลักการ บอกช่วยสอนหน่อยวินิจฉัยยังไงจะพอใจ ทำใจไว้แล้วโดนโห่ "อภิสิทธิ์" หวั่นอีกคนใช้มาตรฐานใหม่ แนะ 3 แนวทาง ให้นั่งคุม เจ้าตัวสวนไม่ใช่หุ่นยนต์ ขอเสนอบ้างประธานท้วงแล้วอย่าเถียง อย่าอ่านแบบศรีธนญชัย อ้างวินิจฉัยสิทธิ์ใครสิทธิ์มัน รับความเห็นไม่ตรง ก่อนถก มาตรา 6 ต่อ
วันนี้ (6 ก.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 14.20 น. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยจะเริ่มพิจารณามาตรา 6 ว่าด้วยสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา แต่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ได้หารือถึงปัญหาการชิงลงมติมาตรา 5 เมื่อค่ำวันพุธที่4 ก.ย. ที่ผ่านมา ว่า ยังมีสมาชิกเหลืออภิปราย แต่นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมกลับวินิจฉัยตรงกันข้ามกับที่นายสมศักดิ์ เคยวินิจฉัยไว้ กรณีที่นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี เสนอปิดอภิปราย มาตรา 4 แต่นายสมศักดิ์วินิจฉัยว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ และลิดรอนสิทธิ์ตามข้อบังคับมาตรา 99 จึงขอสอบถามว่าจะดำเนินการอย่างไร
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏร กล่าวว่า กรณีนายพิเชษ เสนอปิดอภิปรายเป็นคนละกรณีกัน โดยนายสมศักดิ์ ได้วินิจฉัยเกิดขึ้นในม.4 โดยมีการเสนอปิดอภิปรายลงมติเลย ยกเว้นข้อบังคับ ตีความว่าเป็นอย่างอื่น ประธานมีการใช้ดุลพินิจทั้ง 4 ท่าน ตนถามทำไมนายนิคม ไม่ยึดถือคำวินิจฉัยของนายสมศักดิ์ และเสนอให้เลขาธิการทบทวนว่านายสมศักดิ์ วินิจฉัยไว้อย่างไร ซึ่งนายนิคม บอกกำลังให้เจ้าหน้าที่ค้นหา แต่ไม่รอคำตอบ สรุปแล้วประธานจะวินิจฉัยกรณีนี้อย่างไร เพราะการดำเนินการค่ำวันนั้นขัดกับที่วินิจฉัยก่อนหน้านั้น และหากตรวจสอบข้อเท็จจริงในการลงมติ จะพบมีความสับสนมาก หลังจากนายนิคม ไม่ยอมฟังพวกตน ไม่รอเจ้าหน้าทีไปค้นคำวินิจฉัย แต่ให้แสดงตนเลย พวกตนยกมือประท้วง แต่ประธานพูดเองว่ามีคนเสนอพูดต่อ แต่มีคนเสนอปิดจึงจำเป็นต้องลงมติ แต่แทนที่จะขอลงมติในญัตติที่มีคนเสนอ กลับไปขอลงว่าเห็นชอบตามกรรมาธิการหรือไม่ จากนั้นปิดประชุมถือว่าผิดหลายประเด็น กระบวนการที่ผ่านมาตนยืนยันว่าไม่เห็นชอบ ขอให้แก้ไขด้วยได้
นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา เห็นด้วยกับสมาชิกที่ว่าประธานต้องยึดข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ตราบใดที่ประธานไม่ยึดเชื่อว่าความวุ่นวายจะเกิดขึ้น เมื่อมีการวินิจฉัยไปแล้ว เชื่อว่าประธานคงมีการหารือกับฝ่ายกฎหมายอย่างรอบคอบแล้ว จึงได้วินิจฉัยออกมาว่าการตัดสิทธิ์ไม่ให้อภิปรายอาจขัดด้วยข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ ตนเตรียมตัวอภิปรายมาตรา 5 มาสองอาทิตย์เพราะถือเป็นประเด็นสำคัญ ตามข้อบังคับที่18 ต้องให้ผู้แปรญัตติได้ชี้แจงก่อน ถ้าไม่อยู่ถือ ว่าตกไป แต่นายนิคม ยังไม่ให้ตนชี้แจง และข้อ40 ต้องให้ผู้ขอแปรญัตติอภิปรายก่อนคนอื่นๆ การอภิปรายเป็นอันยุติเมื่อไม่มีผู้อภิปราย ที่ประชุมลงมติให้ปิดอภิปราย แต่ในหลักการต้องคำนึงว่าคนแปรญัตติได้ชี้แจงแล้วหรือยัง และได้อภิปรายหรือยัง ซึ่งตนยังไม่ได้อภิปราย ถ้าครบแล้วเสนอปิดอภิปรายได้
อย่างไรก็ตามหลังจากที่นายสมศักดิ์ ได้เปิดโอกาสให้ทั้งสมาชิกได้อภิปรายร่วม 3 ชั่วโมง ในที่สุด นายสมศักดิ์ ได้กล่าวเปิดใจกับสมาชิกว่า ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ ทำผมเสียหายยังไม่ชี้แจงเลย ตนยึดหลักธรรมะว่าไม่เป็นไร ทำอย่างนี้ตลอด สื่อเป็นพยานได้ แต่ขอทำความเข้าใจเล็กน้อยเพราะไม่ได้พูดเลย จึงขอพูดก่อนวินิจฉัยเรื่องนี้ อยากเปิดใจข้อหาทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง และรับคำสั่ง ตนถูกกล่าวหามาตั้งแต่วันแรก จนถึงนาทีนี้ ถูกกล่าวหาเรื่องนี้มาโดยตลอด ขออนุญาตเปิดใจ ฐานะที่เราเหมือนครอบครัวเดียวกัน อยู่ตรงนี้เหมือนครอบครัวใหญ่ เหมือนพี่น้องกัน เชื่อว่า ผู้นำฝ่ายค้านฯสัมผัสในตัวตนของตนได้ สิ่งที่จะยืนยันในการทำหน้าที่อย่างเป็นกลางของตน ไม่รู้จะเอาอะไรมายืนยันได้ แต่ระยะทางพิสูจน์ม้ากาลเวลาพิสูจน์คน เช่น กฎหมายปรองดองที่รัฐบาลจะเร่งรัดเอาเข้าสภา ฝ่ายค้านพยายามทักท้วงไม่ให้เอาเข้ามา ตนแสดงจุดยืนเห็นชัดให้ยื้อออกไปก่อน อย่างนี้รับคำสั่งทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) หรือเปล่าครับ และตนก็โดนฝั่งรัฐบาลด่าจนเสียผู้เสียคน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้การลงมติแก้รัฐธรรมนูญในวาระ3 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยแนวร่วมเสื้อแดงทั้งประเทศ อยากให้ลงวาระ3 โดยด่วน ฝ่ายค้านบอกให้ยื้อไปก่อนรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตนก็กระโดดออกมาแสดงจุดยืนชัดๆ ให้ยื้อออกไปก่อน รอฟังศาลรัฐธรรมนูญ อย่างนี้ไม่เป็นกลาง ฟังคำสั่งทักษิณใช่หรือเปล่า ถ้าฟังทำไมไปฟังเรื่องเล็กๆน้อยๆ เรื่องสำคัญทำไมทำตรงข้าม พอจะพิสูจน์ได้หรือไม่ว่าตนเป็นตัวตนของตนที่สุด และที่เกิดขึ้นเร็วๆนี้เมื่อสองวันที่แล้ว กรณี ส.ว.สุรชัย ขอปิดอภิปรายเพื่อให้ลงมติเลย ตนก็วินิจฉัยและมีผู้ยื่นอภิปราย 117 คน มันน่าจะทำไม่ได้ และวินิจฉัยว่าญัตติซ้อนญัตติทำไม่ได้อย่างชัดเจน
“ผมทำอย่างนี้ก็โดนฝั่งนี้ด่าเละเหมือนกัน และฝ่ายค้านนั่งเงียบ อย่างนี้ไม่เป็นกลางใช่ไหมครับ ถามใจผู้นำฝ่ายค้าน และทำนองเดียวกัน ผมวินิจฉัยหลายๆเรื่องที่ถูกใจฝ่ายรัฐบาล แต่ไม่ถูกใจฝ่ายค้าน ผมโดนอะไร โดนดึงแขนดึงขาลงจากบัลลังก์ วุ่นวายสภาเสียหาย ผมอยากให้เกิดหรือครับ ผมพยายามอะลุ่มอล่วยที่สุด แม้แต่แปรญัตติของสมาชิก 57 คนก็ขัดหลักการชัดๆ มันอภิปรายไม่ได้ แต่ผมยอมผิดหลักการสนองฝ่ายค้าน ทั้งที่ไม่ใช่วิสัยของผม ผมเป็นคนผิดเป็นผิดถูกเป็นถูก แต่ก็ยอมหักหลักการตัวเอง อะลุ่มอล่วยให้เราได้พูดกัน ทั้งที่วินิจฉัยไปแล้ว สิ่งที่พูดมาข้อเท็จจริงทั้งนั้น เท่าที่พูดมาแค่นี้พอพิสูจน์ได้หรือยังว่าทำอย่างเป็นกลางที่สุด แต่ถูกใจทุกคนเป็นไปไม่ได้ ท่านช่วยบอกผมหน่อยเถอะ ถ้ามานั่งตรงนี้จะวินิจฉัยอย่างไร แบบไหนถึงจะเป็นที่พอใจทุกคน ช่วยสอนหน่อยเถอะ ผมจนปัญญา ทำไม่ได้ กรุณาสอนผมเถอะ วินิจฉัยอย่างไรก็โดนโห่ จะซ้ายโห่ หรือขวาโห่เท่านั้น ทำใจไว้แล้ว แต่ขอเตือนนี่บ้านของเรา ครอบครัวของเรา ถ้าไม่มีกฎกติกาข้อบังคับแล้วเราจะอยู่อย่างไร หวังว่าหลังวินิจฉัยแล้วคงไม่มีอะไรลอย หรือมีเสียงโห่ และหวังว่าจะไปจบด้วยการให้ตำรวจ มาพาออกไปเหมือนที่เห็นซ้ำซากคงไม่มี” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีของนายนิคม ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานที่ประชุม และใช้อำนาจของท่านวินิจฉัย และได้วินิจฉัยไปแล้ว จบแล้วด้วย ผิดถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง รัฐสภาแห่งนี้ไม่มีอำนาจชี้ผิดถูก แต่ที่แน่ๆ คำวินิจฉัยได้จบสิ้นไปแล้ว มันไม่ใช่หน้าที่ของตนที่จะไปชี้นายนิคม ว่าผิดถูก และไม่มีอำนาจด้วย รัฐสภาก็ไม่มีอำนาจ เมื่อนายนิคม ใช้ดุล พินิจไปแล้ว ถือว่าจบไปแล้ว และขึ้นมาตรา 6 แล้ว ลองคิดว่าถ้าเป็นตนจะทำอย่างไร หลีกเลี่ยงไม่ให้โดนด่าเป็นไปไม่ได้ โดนอยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรเลือกหาทางออกที่ชาญฉลาดที่สุด ดีที่สุด ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องเดินหน้าต่อ ผิดถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มีช่องทางอื่นที่สามารถดำเนินการ แต่มันจบไปแล้ว ตนวินิจฉัยเป็นอื่นไม่ได้ จึงต้องวินิจฉัยว่ามันจบไปแล้ว และ ดำเนินการพิจารณามาตรา 6 ต่อไป
ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวแสดงความเห็นว่า ตนไม่อาจไปสอน ให้ประธานดำเนินการอย่างไร จะให้ไปกลับคำวินิจฉัยหรือเห็นว่าไม่ใช่อำนาจที่จะไปกลับคำวินิจฉัย แต่ปัญหาคือเรื่องนี้จะดำเนินการอย่างไร มีหลายครั้งที่เพื่อนสมาชิกมาปรึกษาว่าจะตีความข้อบังคับอย่างไร ตนจึงบอกว่าการตีความข้อบังคับให้ถูกผิดต้องลืมว่าอยู่ข้างไหน ต้องไม่คิดว่าอยู่ฝ่ายค้านและจะตีความข้อบังคับได้อย่างถูกต้อง สิทธิที่สงวนความเห็นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และการที่นายนิคม มาวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นต่างจากที่ประธานรัฐสภาคนที่ทำหน้าที่วินิจฉัยไว้แล้วนั้นเป็นปัญหาว่าการประชุมจากนี้ไปจะเชื่อถือคำวินิจฉัยของประธานรัฐสภาคนใดกันแน่ เพราะสมาชิกคงไม่อยากให้เรื่องนี้ขึ้นอยู่ที่ประธานคนที่ขึ้นมาทำหน้าที่แล้วกลับคำวินิจฉัยไปมา
“ดังนั้นไม่ว่าฝ่ายใดพิจารณาเรื่องอะไร ปัญหาคือความกังวลว่ารอบ 2 การวินิจฉัยของประธานรัฐสภาอาจเปลี่ยนดุลพินิจไปมาได้ ขึ้นอยู่กับการอภิปรายในขณะนั้น ซึ่งสิ่งที่บอกว่าคำวินิจฉัยของประธานเป็นที่สุดจึงไม่เป็นความจริง หวังว่าที่นายสมศักดิ์ พูดรอบสองจะไม่เป็นแบบนั้น พูดอย่างไรประธานก็ควรปฎิบัติเช่นนั้น เพราะหลายคนเป็นห่วงว่าเมื่อลงจากบัลลังก์ไป อีกคนก็จะปิดประชุมได้ตลอดเวลา จึงอยากให้รองประธานที่มีอำนาจหน้าที่ในการช่วยประธานรัฐสภาไม่ใช่มาแย้งหรือขัดมติประธานรัฐสภา หรือไม่ใช่แค่ขึ้นมานั่งทำหน้าที่แล้วก็เปลี่ยนกลับคำวินิจฉัยของประธานได้ตลอดเวลา ตนจึงขอเสนอ 3 แนวทางให้ประธานปฎิบัติดังนี้ คือ 1.ให้ประธานทำหน้าที่ตลอดเวลาอย่าปล่อยให้คำวินิจฉัยของประธานต้องต้องถูกกลับไปมาเมื่อมีคนมานั่งทำหน้าที่ต่อ ทางเลือกที่ 2 คือประธานและรองประธานนั่งด้วยกันทั้งคู่และรับผิดชอบร่วมกัน จะได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนทางเลือกที่ 3 ก่อนนายนิคม มาทำหน้าที่ต้องตกลงกันก่อนว่าจะเอามาตรฐานไหน ตนให้ความร่วมมือแนะนำแบบนี้และไม่บังอาจสอน ประธานแต่อย่างใด" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ ชี้แจงตอบโต้ว่า ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ประธานส.ว ทำหน้าที่รองประธานรัฐสภา ช่วยงานของประธาน เราคุยกันได้ แต่สั่งกันไม่ได้ หรือความเห็นไม่ตรงกันไปบังคับกันไม่ได้ และให้คุณให้โทษไม่ได้ เราอยู่ด้วยดุจพินิจแบบให้เกียรติซึ่งกันและกัน หลักการต้องเป็นอย่างนั้น และทางเลือกทั้ง 3 ทาง ถ้าทำได้ก็ดี แต่ในทางปฏิบัติมันทำไม่ได้เพราะผมไม่ใช่เครื่องยนต์ ขนาดสองคนหมุนเวียนสลับกันยังแย่ ไม่ไหวมันเกินความเป็นมนุษย์ เหนื่อยยังพอไหว ตนเคยทำให้ช่วงพิจารณา ม. 291 ว่ากันอยู่ 2 เดือน ประธานยุคนั้นไปต่างประเทศสองครั้งตนทำหน้าที่คนเดียวทั้งวันทั้งคืน เคยทำสถิติไว้ไม่ลุกไปไหนนานถึง7 ชั่วโมง แต่นั้นเป็นชั่วคราว ตายาวๆทำไม่ได้
“ ผมขอเสนอทางเลือกที่4 คือ ทุกคนมีสิทธิ์พูด แต่ต้องอยู่ในกรอบข้อบังคับ ไม่ใช่อยากพูดอะไรก็พูด ประธานทักท้วงอย่าเถียง วาระสองอภิปรายยาวเหมือนวาระ1 พอเตือนแล้วลุกขึ้นประท้วงเป็นสิบ ถามหน่อยผมมีหน้าที่ควบคุมการประชุมให้เรียบร้อยมันเป็นหน้าที่ของผม กรณีอย่างนี้แนะนำหน่อยว่าให้ทำอย่างไร ถ้าท่านยอมรับข้อบังคับอย่างตรงไปมาแบบสุภาพบุรุษ แบบลูกผู้ชาย ต้องรู้ดี ถ้าไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝงทุกอย่างก็จะเป็นไปอย่างเรียบร้อยแน่นอน ตนไม่ต้องใช้กำลังตำรวจมาลากใครออกไปนอกห้อง ข้อบังคับข้อที่4 รู้ดีกันอยู่แล้ว แต่อย่าอ่านแบบศรีธนชัย เพราะทำให้เกิดเหตุการณ์ภาพที่ไม่พึงประสงค์เสียหายกับทุกคน ผมไม่อยากทำ ทำแล้วใจหาย แต่ถ้าไม่ทำไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะมีหน้าที่ทำให้สภาเดินหน้าไปได้ เสนอทางเลือกแบบนี้ถ้าไม่เอาไม่รู้จะทำอย่างไร”นายสมศักดิ์ กล่าวอย่างมีอารมณ์
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนเข้าใจในความคิดเห็นของประธานฯ แต่ตนต้องการทราบว่า พวกตนในฐานะเสียงข้างน้อยจะได้รับหลักประกันในการทำหน้าที่ตามหลักของกฎหมายรัฐธรรมนูญต่อไปอย่างไร ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใดลุกขึ้นจำกัดสิทธิของพวกตนในการทำหน้าที่อีก ประธานจะวินิจฉัยอย่างไร
นายสมศักดิ์ จึงตอบว่า เป็นสิทธิ์ของนายนิคม จะวินิจฉัยอย่างไร ตนเข้าไปก้าวก่ายไม่ได้ แต่หากในขณะนั้นเป็นอำนาจของตน ก็ถือเป็นดุลยพินิจของตน ไม่เกี่ยวข้องกัน ถือเป็นสิทธิของใครของมัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับการอภิปรายของสมาชิกด้วยว่าเป็นอย่างไร ไม่จำเป็นที่ตนจะต้องใช้ดุลยพินิจเหมือนเดิม เพราะตนเชื่อว่าข้อบังคับคือสิ่งที่กำหนดให้การประชุมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ตนต้องขอความร่วมมือสมาชิกให้พูดอยู่ในข้อบังคับ แต่ถ้าสมาชิกยังอภิปรายอยู่แต่เรื่องเดิม มีการพาดพิงคนอื่นให้เสียหาย ก็ต้องดูที่เจตนาแล้วว่าต้องการอะไร ตนก็อาจจะต้องใช้ดุลยพินิจอีกแบบหนึ่งก็ได้
นายจุรินทร์ ได้โต้แย้งว่า ความเห็นของประธานฯ ทำให้ตนเข้าใจว่า คำวินิจฉัยของประธานจะมีสองมาตรฐาน ที่มีการวินิจฉัยเรื่องเดียวกันแต่ผลออกมาแตกต่างกัน ตนจึงอยากสอบถามว่าท่านทั้งสองคนไม่คุยกันหรืออย่างไร
นายสมศักดิ์ จึงตอบว่า ตนได้มีการพูดคุยกัน แต่มีความเห็นที่ไม่ตรงกัน เราก็จะไม่ก้าวล่วงกัน ความเห็นต่างอาจจะมีเกิดขึ้นได้ เราถ่ายทอดสดประชาชนดูทั้งประเทศ ประชาชนก็จะตัดสินเองว่า ประธานไม่เอาไหน ซึ่งตนก็ไม่อยากเป็นคนนั้น
หลังจากที่สมาชิกยังถกเถียงกันไปมาจนเวลา 17.10 น. นายสมศักดิ์ ได้สั่งพักการประชุม10 นาที
จากนั้นที่ประชุมได้เปิดประชุมอีกครั้งเมื่อเวลา 17.30 น. นายสมศักดิ์ ได้ให้สมาชิกได้พูดทุกคน แต่ช่วยควบคุมบริหารประเด็นให้อยู่อยู่ในกรอบ กติกาข้อบังคับ และให้เลขาธิการช่วยกำชับเจ้าหน้าที่จดประเด็นที่สมาชิกอภิปรายและนำขึ้นจอเพื่อชี้ว่าประเด็นซ้ำหรือไม่อย่างไร ประกอบการใช้ดุลพินิจของประธานและง่ายต่อการดำเนินการประชุมและให้วิป3 ฝ่ายหารือจัดลำดับรายชื่อผู้อภิปราย
จากนั้นที่ประชุมได้ดำเนินการพิจารณามาตรา 6 ว่าด้วยเรื่องสมาชิกภาพสมาชิกวุฒิสภาต่อไป
โดยสาระสำคัญของ มาตรา 6 คือกำหนดให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 116 ของรัฐธรรมนูญ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งส.ว.และสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้ว ยังไม่เกิน2ปีจะเป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมิใช่ส.ว. มิได้”