xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ เลิกสอบจำนำข้าว แต่แนะนายกฯ 5 ข้อ หนุนรื้อประกันรายได้แทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (แฟ้มภาพ)
ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติยุติสอบรับจำนำข้าว ชี้รัฐมีอำนาจทำตามนโยบาย คำร้องไม่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก่อนส่งหนังสือแนะนายกฯ เอาประกันรายได้มาทบทวนด้วย ระบุจำนำปัญหาเยอะ ติงให้ราคาใกล้เคียงกลไกตลาดและสอดคล้องกับต้นทุน หวั่นเกษตรชนิดอื่นขอสร้างเงื่อนไข ตรวจสอบปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งระบายและประมูลอย่างเปิดเผย

วันนี้ (4 ก.ย.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ยุติเรื่องกรณีที่นายวรา จันทร์มณี ตัวแทนเครือข่ายหยุดผูกขาดตลาดข้าว และนายปราโมทย์ วานิชานนท์ และคณะ ได้ยื่นเรื่องขอให้ตรวจสอบ การดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตลอดจนมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อประเทศ เพื่อให้ส่งเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยต่อไป

โดยเหตุที่ให้ยุติเรื่องเนื่องจากเห็นว่า การดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวเป็นนโยบายซึ่งคณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ประกอบกับการกระทำของคณะรัฐมนตรี ในการมีมติเห็นชอบตามนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล เป็นการใช้อำนาจในฐานะรัฐบาล ตามคำร้องจึงมิใช่การร้องเรียนเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ตามมาตรา 13 (1) (ก) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 จึงไม่อยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่จะเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้ ประกอบกับประเด็นการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลได้มีการยื่นเรื่องร้องต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สอบสวนแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลมีปัญหาการทุจริตเป็นเหตุให้เกิดการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอแนะให้พิจารณา นโยบายรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่จะเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2556/2557

1. ขอให้พิจารณาใช้นโยบายรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล เป็นเครื่องมือและกลไกของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรชาวนาในช่วงระยะเวลาอันสมควร โดยพิจารณาใช้นโยบายประกันรายได้มาเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาให้มีรายได้ที่มั่นคงแน่นอนร่วมด้วย เนื่องจากการแทรกแซงพืชผลทางการเกษตร ด้วยวิธีการรับจำนำข้าวเปลือกได้เกิดปัญหาขึ้นอย่างมากมาย เช่น เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด รัฐบาลต้องมีข้าวคงค้างอยู่ในคลังเป็นจำนวนมาก รวมทั้งคุณภาพข้าวที่เก็บรักษาไว้ในคลังแล้วระบายออกไม่ทันเสื่อมคุณภาพลงทำให้ราคาข้าวตกต่ำ อีกทั้งประการสำคัญมีปัญหาการทุจริตในทุกขั้นตอนของกระบวนการรับจำนำข้าวเปลือก ผู้ได้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลบางกลุ่มไม่ครอบคลุมเกษตรกรชาวนาอย่างทั่วถึง นโยบายประกันรายได้จะสามารถลดช่องว่างของการทุจริตได้ในระดับหนึ่ง โอกาสที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากการดำเนินนโยบายมีน้อย เมื่อเทียบกับวิธีการรับจำนำข้าวเปลือก รวมทั้งผลประโยชน์ตกอยู่กับเกษตรกรชาวนาอย่างทั่วถึง และกลไกตลาดไม่ถูกบิดเบือน ตลอดจนไม่เป็นภาระทางงบประมาณในภาพรวมของประเทศ

2. ขอให้พิจารณารับจำนำข้าวเปลือกในราคาที่เหมาะสม ใกล้เคียงกับราคาตลาดหากราคารับจำนำและราคาตลาดแตกต่างกันมาก เมื่อหมดระยะเวลาการรับจำนำราคาผลิตผลการเกษตรไม่สูงขึ้น เกินกว่าราคารับจำนำ ทำให้เกษตรกรชาวนาไม่มาไถ่ถอนผลิตผลของตนเอง รัฐบาลต้องแบกรับภาระในการ เก็บรักษา ภาระการขาดทุนจากการขายผลิตผลการเกษตรที่รับจำนำ การเสื่อมคุณภาพจากการเก็บไว้นานหากรัฐบาลกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือก ให้เหมาะสมใกล้เคียงกับกลไกของราคาตลาดโลก เกษตรกรผู้ปลูกพืชชนิดอื่นจะไม่นำเรื่องดังกล่าว มาสร้างเงื่อนไขสำหรับ ราคาพืชผลการเกษตรชนิดอื่น อีกทั้งเป็นการลดปัญหา การลักลอบนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิรับจำนำข้าวในประเทศไทย และรวมถึงจำกัดการรับจำนำข้าวเปลือกต่อครัวเรือนในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่มีฐานะยากจนอย่างแท้จริงตลอดจนขอให้พิจารณาสนับสนุนและจัดหางบประมาณ ในการพัฒนาประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรชาวนา เช่น การจัดหาแหล่งน้ำ ปุ๋ย พันธุ์ข้าว เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรชาวนาสามารถช่วยเหลือพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว

3. ขอให้พิจารณากำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกแต่ละชนิด ให้เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต โดยอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผล แยกคุณภาพและพันธุ์ข้าวที่รับจำนำให้ชัดเจน ซึ่งข้าวเปลือกคุณภาพดี จะต้องมีราคารับจำนำที่แตกต่างจากข้าวที่มีคุณภาพต่ำหรือด้อยกว่า มิใช่เป็นการรับจำนำข้าวเปลือกแบบทุกเมล็ด โดยปัจจุบันเกษตรกรชาวนาจะใช้พันธุ์ข้าวที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น เพื่อเร่งนำผลผลิตเข้าสู่กระบวนการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ทำให้เกษตรกรชาวนาขาดการส่งเสริมพัฒนาพันธุ์ข้าว และใช้ความปราณีตในขั้นตอนการเพาะปลูก ทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพต่ำออกสู่ท้องตลาด

4. ขอให้พิจารณากระบวนการตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพของข้าวสารที่สีแปรรูปแล้วก่อนจะนำเข้าจัดเก็บในคลังของรัฐบาล โดยจำกัดผู้รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน และสามารถมีกระบวนการตรวจสอบได้อย่างเหมาะสมตลอดเวลา

5. ขอให้พิจารณาการระบายข้าวในคลังของรัฐบาล โดยเปิดการประมูลอย่างเปิดเผยเป็นที่ทราบแก่บุคคลทั่วไปในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรเปิดการประมูลในปริมาณจำนวนมากในคราวเดียวกัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ค้ารายย่อยได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เปิดเผยตัวเลขปริมาณการจัดเก็บและปริมาณการส่งออก รายชื่อผู้ประมูลข้าวในคลังของรัฐบาล ราคาที่ประมูลได้ในแต่ละครั้งให้สาธารณชนรับทราบเพื่อความโปร่งใสและหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินการ รวมทั้งอาจพิจารณาให้มีกระบวนการระบายข้าวในคลังของรัฐบาล โดยวิธีการบริจาคให้กับองค์กร หรือมูลนิธิที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลและสาธารณประโยชน์ภายในประเทศ ตลอดจนบริจาคให้กับกลุ่มประเทศที่ยากจน หรือกลุ่มประเทศที่ประเทศไทย ยังไม่เคยเปิดตลาดสินค้าการเกษตร เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ข้าวไทยให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น