อดีตขุนคลัง “ธีระชัย” ยกบทความ The Economist วิจารณ์นโยบายจำนำข้าว ชี้เป็นนโยบายที่เลวที่สุด และก่อภาระแก่ประเทศมากที่สุด แต่รัฐบาลไทยก็ยังดื้อดึงที่จะดำเนินนโยบายนี้ต่อไป พร้อมแจงที่มาของคำว่า The rice mountain ที่หมายถึงข้าวเป็นภูเขาเลากา
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์บทความเรื่องสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยจากนิตยสาร The Economist ในเฟซบุ๊กส่วนตนตัว “Thirachai Phuvanatnaranubala” โดยมีเนื้อหาดังนี้
ข้าวเป็นภูเขาเลากา The rice mountain
นิตยสาร The Economist ซึ่งเป็นนิตยสารกึ่งวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลก (พิมพ์ที่ประเทศอังกฤษ) ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม 2556 ได้วิจารณ์สภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยใช้หัวข้อเรื่องข้างต้น และบรรยายนำไว้ว่า
“ถึงแม้คะแนนนิยมของรัฐบาลไทยจะลดต่ำลงไปเรื่อยๆ ก็ตาม แต่รัฐบาลไทยก็ยังดื้อดึงที่จะดำเนินนโยบายจำนำข้าวต่อไป ทั้งที่นโยบายนี้เป็นนโยบายที่เลวที่สุด และเป็นนโยบายที่ก่อภาระแก่ประเทศไทยมากที่สุดของรัฐบาลนี้”
คำแปลบทความ มีดังนี้
- เดือนสิงหาคมนี้ เป็นวันครบรอบปีที่ 2 ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่วันครบรอบดังกล่าวนั้น กลับปรากฏว่า ไม่ใช่วันเวลาแห่งความสุขแต่อย่างใด เพราะมีผู้ที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชุมนุมกันในถนนสาธารณะในกรุงเทพฯ ในวันที่ 7 สิงหาคม เพื่อประท้วงการออกกฎหมายที่อาจจะนำไปสู่การล้างผิดให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ และอาจจะเปิดโอกาสให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางกลับประเทศไทยโดยไม่ต้องรับโทษ แต่มาจนถึงวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็คงจะชินชาไปแล้วกับเรื่องการประท้วงแบบนี้ รวมไปกับเรื่องข่าวลือเกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหาร อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ยังน่าเป็นห่วงมากกว่าก็คือ ปัญหา และความไม่พอใจเกี่ยวกับการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ ทั้งที่เรื่องเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ น่าจะเป็นจุดแข็งมากกว่าจุดอ่อน
- ในสัปดาห์นี้ มีผลโพลสำรวจความเห็นของประชาชนซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่แสดงผลว่า คะแนนนิยมของรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ตกต่ำลงไปถึงจุดต่ำสุด นับตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายที่มีผลกระทบต่อรัฐบาลมากที่สุดนั้น ก็คือ นโยบายจำนำข้าว ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่ใช้ในการหาเสียง นโยบายนี้เป็นแนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ที่กำหนดนโยบายส่วนใหญ่ให้แก่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนโยบายนี้นับว่าเป็นหมัดเด็ดที่ช่วยให้พรรคชนะการเลือกตั้ง แต่มาบัดนี้ เมื่อนำนโยบายดังกล่าวมาใช้จริงๆ กลับทำให้กลายเป็นอันตรายต่อฐานะการคลังของรัฐบาล และต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
- การรับจำนำข้าวนั้น สะท้อนวิธีคิดนโยบายประชานิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้อย่างชัดเจนที่สุด แนวคิดนี้อาศัยหลักการว่า ประชากรไทยมีชาวนาอยู่ถึงประมาณสองในห้าส่วนของประชากรทั้งหมด ดังนั้น ในการหาเสียง น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงได้สัญญาแก่ประชาชนว่า หากได้รับเลือกตั้ง รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาแบบไม่อั้น ในราคาที่สูงกว่าตลาดประมาณ 2 เท่า คือตันละ 15,000 บาท โดยหวังว่ามาตรการนี้จะทำให้เม็ดเงินผ่านลงไปถึงมือชาวนา และจะมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ถึงแม้ที่ผ่านมาจะได้มีผู้ที่แสดงความเห็นคัดค้าน เตือนว่านโยบายนี้จะทำให้รัฐบาลมีภาระการเงินที่สูงเกินไปก็ตาม แต่พวกที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นก็ยืนกรานว่า การที่รัฐบาลไทย เก็บกักข้าวไม่ให้เข้าไปในตลาดโลกนั้น จะมีผลบีบ ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น และเนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ในอนาคตเมื่อราคาตลาดโลกสูงขึ้นไปแล้ว รัฐบาลไทยก็จะสามารถขายข้าวที่กักเก็บไว้ออกไปในราคาที่แพงขึ้น และรัฐบาลก็จะได้กำไร
- แต่ผลปรากฏว่า ทฤษฎีที่แปลกประหลาดดังกล่าวนั้นกลับไม่ได้ผล สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ ประเทศผู้ปลูกข้าวอื่นๆ ได้กรูกันเข้าตลาดโลก และตัดราคาข้าวไทย ทำให้ยอดส่งออกข้าวของไทยลดลงไปถึง 1 ใน 3 จากเดิม (กล่าวคือ ยอดส่งออกในปีแรกที่เริ่มนโยบายนี้ได้ลดไปถึง 4 ล้านตัน) ทำให้ประเทศอินเดีย และเวียดนามได้แซงประเทศไทยในการส่งออกข้าวในตลาดโลก และเนื่องจากการขายข้าวนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่หวังไว้ รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องรับภาระต้องเก็บสต๊อกข้าวเอาไว้เป็นจำนวนกว่า 18 ล้านตัน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก เพราะเท่ากับเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนข้าวที่มีการซื้อขายกันในตลาดโลกในแต่ละปีทีเดียว และปริมาณสต๊อกข้าวของรัฐบาลไทย ก็มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นทุกวันๆ นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวได้ก่อให้เกิดภาระแก่รัฐบาลอย่างมาก โดยเฉพาะเพียงปีแรกนั้น ก็ทำให้รัฐบาลขาดทุนสูงถึง 12.5 พันล้านดอลลาร์ (370,000 ล้านบาท) และหากนับรวมถึงปีที่ 2 ภาระขาดทุนของรัฐบาลจะสูงขึ้นไปเป็น 15 พันล้านดอลลาร์ (450,000 ล้านบาท) หรือสูงถึงร้อยละ 4 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ทั้งนี้ การเก็บสต๊อกข้าวนั้น มีทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหาร และการขนส่ง รวมทั้งโกดังจัดเก็บก็มีไม่พอเพียง ต้องมีการเสียเงินลงทุนก่อสร้างเพิ่ม
- นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของข้าวในสต๊อกของรัฐบาลอีกด้วย เพราะข้าวย่อมเสื่อมสภาพไปตามธรรมชาติ แต่นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยเพิ่มขึ้นอีกด้วยว่าอาจมีข้าวที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานปกติเข้ามาปะปนอยู่ด้วย โดยมีข่าวว่า มีการสมคบกันระหว่างพ่อค้ากับข้าราชการไทยในการนำเข้าข้าวคุณภาพต่ำจากประเทศกัมพูชา และพม่า เพื่อนำมาหากำไรจากราคาจำนำที่สูง ดังนั้น เนื่องจากข้าวไทยนั้นเน้นชูเรื่องของคุณภาพ ดังเช่นข้าวหอมมะลิ การปะปนข้าวคุณภาพต่ำดังกล่าวจึงจะมีผลกระทบต่อชื่อเสียง และต่อความเชื่อมั่นในข้าวไทยต่อไปอย่างแน่นอน
- เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลได้พยายามให้มีการประมูลขายข้าวในสต๊อกออกไปบางส่วน แต่ผลปรากฏว่า รัฐบาลไทยขายข้าวออกไปได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยเดิมรัฐบาลตั้งเป้าไว้ต้องการจะขายข้าวออกไปประมาณ 1 ล้านตัน แต่ปรากฏว่า สามารถขายออกไปจริงได้เพียง 210,000 ตันเท่านั้น ปัญหาส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากข้อกังวลเกี่ยวกับคุณภาพ แต่ปัญหาหลักจริงๆ อาจจะเป็นจากการที่นโยบายนี้เป็นนโยบายที่สร้างอุปสรรคให้แก่รัฐบาลในตัวของมันเอง ดังมีผู้บริหารของ Riceland International ซึ่งเป็นบริษัทส่งออกข้าวรายหนึ่ง (นายวิชัย ศรีประเสริฐ) อธิบายความคิดในแง่มุมของผู้ซื้อทั่วๆ ไปเอาไว้ว่า ผู้ซื้อย่อมจะคิดว่าจะไปเร่งรีบซื้อข้าวจากรัฐบาลไทยกันทำไม เพราะในระยะต่อไปเมื่อสต๊อกล้นขึ้นมา รัฐบาลไทยก็จะต้องถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องระบายขายข้าวออกไป ไม่ว่าราคาจะต่ำลงไปอีกเท่าใด เอาไว้รอเวลานั้นค่อยซื้อจะไม่ดีกว่าหรือ
- นโยบายนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่เนื่องจากเป็นนโยบายหลักที่พรรคได้ใช้นำในการหาเสียง น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงได้ประกาศที่จะดำเนินนโยบายนี้ต่อไป โดยที่ผ่านมา ได้พยายามปรับแต่งนโยบายนี้ในบางจุด เช่น ปรับลดราคารับซื้อลง จากตันละ 15,000 บาท เหลือ 13,500 บาท แต่พอชาวนาโวยวาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็กลับลำ และในขณะนี้รัฐบาลไทยก็วิ่งพล่านเพื่อพยายามขายข้าวให้แก่รัฐบาลต่างประเทศ แต่การขายแบบนี้ก็ลดสต๊อกลงไปได้เพียงจิ๊บจ๊อยเท่านั้น ตัวอย่าง เช่น ประเทศอิหร่าน ได้ซื้อข้าวไทยไปก็จริง แต่ก็ซื้อไปเพียง 250,000 ตันเท่านั้น
- ขณะนี้มีข่าวแทบทุกวันเกี่ยวกับปัญหาการทุจริต และการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพ ในโครงการจำนำข้าว ซึ่งการเปิดเผยดังกล่าวก็มีผลบั่นทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น ก็คือ การที่นักลงทุนในตลาดทุนสากลมีข้อกังวลเกี่ยวกับฐานะการคลังของประเทศไทยมากขึ้น เพราะหนี้สาธารณะมีแต่เพิ่มขึ้นๆ จนถึงขั้นที่สถาบันจัดอันดับประเทศ (มูดี้ส์) ได้ออกมาเตือนแล้ว ว่า นโยบายจำนำข้าวนั้นมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของประเทศไทย