ไฟแนนเชียลไทม์ส - สื่อต่างประเทศชื่อดังระบุโครงการรับจับนำข้าวกำลังทำรัฐบาลไทยนั่งอยู่บนกองข้าวมหึมา จำนวนพอๆ กับครึ่งหนึ่งของปริมาณการนำเข้าข้าวของทั่วโลกในหนึ่งปี ทำพ่อค้าและนักวิเคราะห์ต่างกังวลว่าราคาอาจพังทลายในพริบตาเมื่อเริ่มประมูลขาย
ในรายงานเรื่อง Thai farm subsidy creates rice mountain ที่เขียนโดยเอมิโกะ เทราโซโนะ บรรณาธิการออนไลน์ของไฟแนนเชียลไทม์ส ระบุว่าโครงการรับซื้อข้าวของรัฐบาลไทย ซึ่งออกมาแบบเพื่อช่วยเพิ่มรายได้แก่ชาวนา เป็นผลให้สต๊อกข้าวของประเทศพุ่งสูงราว 17-18 ล้านตัน และด้วยที่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวรอบใหม่ที่จะเริ่มต้นเดือนตุลาคมนี้ รัฐบาลไทยก็จะเป็นต้องระบายสต๊อกข้าวที่มีอยู่เพื่อเพิ่มทุนสำหรับการรับซื้อรอบใหม่
เทราโซโนะ คาดหมายว่าตลาดข้าวคงต้องเฝ้าระวังระดับสูง ก่อนหน้าที่กรุงเทพฯเตรียมเปิดประมูลข้าวราว 350,000 ตันอย่างเร็วที่สุดในช่วงต้นสัปดาห์หน้า ขณะที่ คอนเซฟเชียน คัลเป นักวิเคราะห์ข้าวระดับอาวุโสขององค์การอาหารและการเกษตรในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เตือนว่าหากไทยเทข้าวเข้าสู่ตลาด มันจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาดโลกอย่างร้ายแรง “มีความเป็นไปได้ที่หายนะจะตามมา” เธอกล่าว
รายงานดังกล่าวให้รายละเอียดเสริมว่า รัฐบาลไทยซื้อข้าวจากชาวนาสูงกว่าราคาตลาดราวร้อยละ 40 ถึง 50 เป็นผลให้รัฐต้องแบกภาระขาดทุนถึง 4,400 ล้านดอลลาร์สหร้ฐฯ แค่เฉพาะฤดูกาลเก็บเกี่ยวแรกจนถึงเดือนกันยายน 2012 และโครงการประชานิยมนี้ยังเรียกเสียงเตือนจากนักเศรษฐศาสตร์นานาชาติและเหล่านักวิเคราะห์หนี้ รวมถึงจุดชนวนให้มูดีส์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือออกมาเตือนเมื่อเดือนที่แล้วว่ามันจะส่งผลกระทบทางลบต่อการพิจารณาความน่าเชื่อถือของไทย
ตามหลังคำเตือนของมูดีส์ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปรับเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรับผิดชอบโครงการจำนำข้าวทันที และรัฐบาลแถลงลดราคาจำนำข้าวลงร้อยละ 20 อย่างไรก็ตามหลังโดนประท้วงจากชาวนา รัฐบาลนี้ก็ปรับเปลี่ยนการตัดสินใจอย่างฉับพลัน อันเป็นชนวนให้ตลาดข้าวตกอยู่ท่ามกลางความผันผวน
เทราโซโนะ ระบุด้วยว่าโครงการจำนำข้าวนี้ ยังนำมาซึ่งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการฉ้อโกงต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นชาวนาบางส่วนถูกกล่าวหาว่านำข้าวเกรดต่ำมาจำนำ โดยแอบอ้างว่าเป็นข้าวคุณภาพ เช่นเดียวกับข้อกล่าวหาที่ว่าพ่อค้าหลายคนลักลอบนำข้าวราคาถูกจากเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา และพม่า มาสวมสิทธิ์รับจำนำในไทย
ขณะเดียวกันนโยบายนี้ยังส่งผลให้สถาบันต่างๆ อาทิ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ที่เคยใช้ราคาข้าวไทยเป็นตัวอ้างอิง หันไปอ้างอิงราคาข้าวของเวียดนามในรายงานแทน “รัฐบาลไทยบิดเบือนตลาดโดยสิ้นเชิง” รายงานของเทราโซโนะ อ้างคำกล่าวของคัลเป
อย่างไรก็ตามประเทศไทยไม่ได้เป็นเพียงชาติเดียวที่กำลังเผชิญกับผลย้อนหลังที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจจากนโยบายอุดหนุนเกษตรกร ด้วยนโยบายเกษตรกรรมร่วมของประชมคมยุโรปก็นำมาสู่ผลผลิตที่ล้นตลาด ขณะที่อินเดียก็กำลังตะเกียกตะกายระบายสต๊อกข้าวสาลีของรัฐจำนวนมหาศาล “แต่ละประเทศล้วนสร้างปีศาจของตนเอง” ราหุล บาโยเรีย นักเศรษฐศาสตร์ท้องถิ่นของบาร์เคลย์ส ประจำภูมิภาคเอเชียระบุ
ฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์พรรคเพื่อไทย ชี้ว่ารัฐบาลวางตัวเองในตำแหน่งที่ไม่สามารถถอยหลังกลับคำมั่นสัญญาประชานิยมที่เคยให้ไว้ แม้นโยบายเหล่านั้นจะเพิ่มภาระทางการคลังก็ตาม โดยนอกเหนือจากโครงการรับจำนำข้าวแล้ว นางสาวยิ่งลักษณ์ น้องสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้หลบหนี ทักษิณ ชินวัตร ยังขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงอุดหนุนซื้อรถคันแรกและบ้านหลังแรกด้วย
ในเรื่องนี้ โรเมน โบเซ นักวิเคราะห์จากไอเอชเอส บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงระดับประเทศ มองว่าด้วยคาดหมายว่าศึกเลือกตั้งจะมีขึ้นในปีหน้า รัฐบาลจึงต้องการเสียงสนับสนุนจากชาวนา โดยเฉพาะประชาชนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ดังนั้นจึงยากที่จะถอยโครงการรับจำนำข้าวดังกล่าว