“วิปค้าน” ชี้ปัญหาจำนำข้าวคือโกง ไม่ใช่ราคา แถมรัฐฯ ไร้น้ำยาหาคนผิด ตอกคืนจำนำหมื่นห้าเอาตัวรอดไปวันๆ ห่วงผลการเมืองมากกว่าการคลัง เย้ยเปลี่ยน รมต.หวังสร้างภาพ ซัดแค่แพะตัวใหม่ เย้ยโวเป้าส่งออก 5 ล้านตัน-โม้ซ้ำซาก ส่อปาหี่ ครม.ร่วม ป.ป.ท.ปราบโกง ดักนายกฯ คุม กห.เลิกลอยตัวไฟใต้ บ่ายโมงยื่นถอด ครม.ปมจัดการน้ำ “ชวนนท์” อัด รบ.เมินจ้อโกงจำนำข้าว ไม่แก้ปัญหาแบบยั่งยืน ฝากคำถามเหตุคืนหมื่นห้า และผลกระทบที่ตามมา
วันนี้ (2 ก.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงหลังการประชุมว่า การที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์โครงการรับจำนำข้าวเหตุผลไม่ได้อยู่ที่ราคา แต่อยู่ปัญหาการทุจริตที่เงินไม่ตกถึงมือชาวนาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และการบริหารจัดการของรัฐบาลก็ไม่สามามารถเอาคนมาลงโทษได้ ทั้งนี้ การที่รัฐบาลกลับมาให้ราคารับจำนำข้าวที่ 15,000 เท่าเดิม ก็เป็นพฤติกรรมแบบไม้หลักปักขี้เลน ไม่มีความชัดเจน โลเล บริหารประเทศเอาตัวรอดไปวันๆ สะท้อนว่ารัฐบาลห่วงประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าวินัยทางการคลัง และโครงการนี้ก็คงขาดทุนย่อยยับเหมือนเดิม แม้จะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แต่ก็คงเป็นแพะตัวใหม่เท่านั้น เพราะเห็นว่ารัฐมนตรีคนใหม่จะมาช่วยเรื่องการประชาสัมพันธ์ คงเป็นการสร้างภาพให้รัฐบาลมากกว่ามาแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า รัฐบาลประกาศว่าภายในสิ้นปีจะส่งออกข้าวได้อีก 5 ล้านตัน รวมกับที่ส่งออกไปแล้ว 4 ล้านตัน รวมเป็น 9 ล้านตัน คิดว่าเป็นเพียงแค่ลมปาก โปรยยาหอมซ้ำ เพราะตัวเลขที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผย ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม มียอดส่งออกเพียง 2.5 ล้านตัน นอกจากนี้ การที่รัฐบาล ตั้งใจจะนำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) รณรงค์ปราบโกง ก็คงเป็นปาหี่รอบใหม่ หากรัฐบาลตั้งใจที่จะปราบโกงจริงๆ ก็ต้องเริ่มที่สร้างความโปร่งใสในโครงการรับจำนำข้าว โดยนายกรัฐมนตรีต้องสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เปิดหลักฐานการสัญญาขายข้าวทั้งหมด รวมทั้งการขายข้าวแบบจีทูจีด้วย และต้องจับคนโกงให้ได้
นายจุรินทร์ยังกล่าวถึงการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่านายกฯ ต้องตระหนักในการภารกิจ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ต้องให้หลักประกันว่าสถานการณ์จะดีขึ้น รวดเร็วขึ้น ซึ่งต้องไม่ลอยตัวเหนือปัญหาอย่างที่ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ มาตลอด 2 ปี ไม่เช่นนั้นก็คงจะเป็นการมาล้วงโผแต่งตั้งนายพลอย่างที่คนพูดกัน
นอกจากนี้ นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในเวลา 13.00 น. ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 และ 271 ยื่นรายชื่อสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ยื่นถอดถอนคณะรัฐมนตรีชุดที่ 2 (ครม.ปู 2) ต่อประธานวุฒิสภา เพราะในโครงการบริการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท มีการส่อทุจริตและกระทำผิดกฎหมาย 5 ฉบับ คือ 1. ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 57และ 67, 2. ผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103/7, 3.พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535, 4.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) และ 5. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ละเลยการปฏิบัติหน้าที่
ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช. มีมติปรับราคาจำนำข้าวจากเดิม 12,000 บาท กลับมาเป็น 15,000 บาท ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในเวลาแค่ 2 สัปดาห์ ทั้งที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในระหว่างการหาเสียง แต่เหตุผลที่เปลี่ยนแปลงจาก 15,000 บาทเป็น 12,000 บาทนั้น รัฐบาลอ้างว่าไม่มีเงินเพียงพอ แต่ความจริงเป็นเพราะมีการโกงสูงถึง 70% ในโครงการนี้ ซึ่งทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ไม่มีใครพูดถึงการแก้ปัญหาการทุจริต ปัญหาคุณภาพข้าว สถานะการคลังของประเทศ และปัญหาอื่นๆ จากนโยบายนี้ว่าจะแก้ไขอย่างไร จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าการปรับราคาจำนำกลับมาที่ 15,000 บาทนั้นเป็นการแก้เพื่อการเมืองไม่ได้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนให้กับอนาคตข้าวไทยที่ถูกทำลายจากนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
นายชวนนท์ยังได้ตั้งคำถาม 8 ข้อถึงรัฐบาล คือ 1. ถ้ายืนยันว่าสภาวะการคลังสามารถรับจำนำข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาทถึง 15 ก.ย. 56 วันที่ 18 มิ.ย. 56 ลดราคาจำนำเหลือ 12,000 บาท จนเกิดความสับสนทำไม 2. นายกฯ ระบุว่าการลดราคาจำนำเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ราคาตลาดโลก และให้เกิดความสมดุลทางการคลัง ภายใน 12 วันที่ผ่านมามีเงื่อนไขใดเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้กลับมาดำเนินการรับจำนำในราคา 15,000 บาท 3. ตนทราบว่าการประชุม กขช.นั้นข้าราชการเสนอให้ยืนที่ 12,000 บาท แต่ถูกกดดันจากรองนายกฯ และรมว.คลังและรองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ให้จำนำในราคา 15,000 บาท จนถึงวันที่ 15 ก.ย. 56 ทำให้ข้าราชการต้องยอมรับทั้งที่ทราบว่าไม่มีเงินมากพอที่จะทำโครงการต่อได้จริงหรือไม่ 4. การเดินหน้ารับจำนำข้าว 15,000 บาท จะทำให้กรอบวงเงินที่กำหนดไม่เกิน 5 แสนล้านบาท อาจจะเกินกว่ากรอบดังกล่าวทำให้ปิดบัญชีไม่ได้ รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร
5. นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ อ้างว่าการระบายข้าวจะดีขึ้นทั้งจากจีทูจี และสินค้าเกษตรล่วงหน้า โดยตั้งเป้าหมายว่าจะขายข้าวได้ 72,000 ล้านบาท แต่จากการตรวจสอบมีแค่จีนประเทศเดียวที่มีสัญญาซื้อขายกับประเทศไทย ส่วนประเทศอื่นไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โตโก้ และอิหร่าน ยังไม่มีการทำสัญญาแต่อย่างใด ดังนั้นสมมติฐานที่อ้างว่าจะขายข้าวได้เพียงพอมาจำนำข้าวกับเกษตรกร เป็นแค่ตัวเลขที่ตั้งความหวังและมองโลกในแง่ดีจนเกินไป 6. จากรายงาน กขช.ยืนยันชัดว่ามีสต๊อกข้าวในโกดังไม่น้อยกว่า 20 ล้านตัน คือ ข้าวสารแปรสภาพแล้ว 19 ล้านตัน และข้าวเปลือกที่ยังไม่ได้สีอีก 3 ล้านตัน รวมแล้วจะมีสต๊อกข้าวสูงกว่า 20 ล้านตัน จึงสรุปได้ว่าข้าวยังไม่มีการระบายออกตามที่มีการกล่าวอ้าง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญว่าทำไมรัฐบาลจึงถังแตกและไม่มีเงินเพียงพอที่จะจำนำข้าวในราคา 15,000 บาทในฤดูกาลต่อไป
7. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ระบุว่าการจำนำข้าวจะมีความยืดหยุ่นได้ยิ่งสร้างความสับสนเพิ่มมากขึ้น เพราะยิ่งกลายเป็นว่าราคาที่รัฐบาลจะรับซื้อจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งจะสร้างความเสียหายไม่ใช่เฉพาะตลาดค้าข้าวในประเทศแต่จะไปถึงต่างประเทศด้วย เพราะจะมีความสับสนต่อนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปมาภายในเวลาแค่ 2 สัปดาห์ ซึ่งจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศด้วย 8. ปัญหาการทุจริตจากโครงการรับจำนำข้าว ทั้งการนำข้าวคุณภาพต่ำมาจำนำ สวมสิทธิ เวียนเทียน แต่รัฐบาลไม่พูดถึงทั้งที่หากเอาจริงกับเรื่องนี้จะมีเงินรับจำนำในราคา 15,000 บาทได้อีกหลายปี สิ่งที่ทำให้โครงการนี้ล้มเหลวสาเหตุหลัก คือ การเข้าไปโกงกินของนักการเมือง โรงสี และพ่อค้า หากรัฐบาลไม่แก้ไขก็คงปฏิเสธคำครหาที่ว่ารัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตด้วยไม่ได้