xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จารึกบัญชีหนังหมา อัปยศจำนำข้าว พังพินาศทั้งประเทศ “ทักษิณ” คิด “ยิ่งลักษณ์” ทำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นช.ทักษิณ ชินวัตรและนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คนคิดและคนลงมือทำโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาตันละ 15,000 บาท
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-คำโกหกของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่พร่ำพรรณนาว่า โครงการรับจำนำข้าวจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาให้ดีขึ้น สุดท้ายก็ต้องจำนนต่อความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธในวันนี้ก็คือ โครงการนี้ได้ทำลายระบบการผลิตและการค้าข้าว ซึ่งถือเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยให้พังพินาศย่อยยับ ทำลายวัฒนธรรม “ข้าวคือชีวิตคนไทย” สูญสิ้น

หรือแม้แต่ชีวิตของชาวนาที่ชื่อ นางบุญเหลือ ศรีมุก อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 94 หมู่ 4 ต.ปากท่อ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ก็ต้องมาตายก่อนวัยอันควรเพราะหลงเชื่อคำโกหก แล้วรัฐบาลก็มาหักกลางลำลดเหลือตันละ 12,000 บาท ในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ นางบุญเหลือ ที่กู้หนี้ยืมสินมาลงทุนทำนาและใช้จ่ายในครอบครัวถึงกับเครียดและช็อกตาย เพราะเก็บเกี่ยวข้าวไม่ทันตามกำหนดสิ้นสุดราคาประกันตันละ 15,000 บาท

การประกาศลดราคาจำนำข้าวลงของรัฐบาล ทำให้ชาวนาเดือดร้อนถ้วนหน้าเพราะแบกภาระต้นทุนทำนาที่สูงขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับก่อนที่จะมีโครงการนี้ เมื่อราคารับจำนำลด แต่ต้นทุนไม่ลด ซ้ำยังถูกเล่ห์เหลี่ยมของโรงสี พ่อค้าคนกลาง หักค่าความชื้น สิ่งเจือปนจิปาถะ ราคาที่จำนำได้จริงแค่หมื่นต้นๆ กลุ่มชาวนาจึงออกมาชุมนุมกดดันรัฐบาลให้ยืนราคาเดิมไปจนสิ้นฤดูกาลผลิตนี้ก่อน หลังจากนั้นค่อยมาว่ากันใหม่

กลุ่มชาวนาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ชาวนาไม่ได้เรียกร้องให้รับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท รัฐบาลต้องการหาคะแนนเสียงและเอามาให้ชาวนาเอง เมื่อทำเช่นนี้ใครๆ ก็พากันคิดว่าชาวนาจะขายข้าวได้ราคาและร่ำรวยขึ้น จนทำ ให้ต้นทุนทำนาเพิ่ม เช่น ค่าเช่านา จากเดิมไร่ละ 500 - 700 บาทต่อปี ปรับขึ้นไปไร่ละ 1,000 - 1,500 บาทต่อปี ค่าแรงก็เพิ่มขึ้นจากเดิม 180 - 200 บาทต่อวัน เวลานี้ต้องได้วันละ 300 บาท ตามที่รัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แล้วจู่ๆ จะ มาเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกกันง่ายๆ คงรับไม่ได้ เนื่องจากหักกลบลบหนี้แล้วขาดทุนป่นปี้ไม่มีเหลือ

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ให้ตัวเลขต้นทุนค่าใช้จ่ายทำนาแบบเว่อร์ ๆ ตามสไตล์พรรคฝ่ายค้านว่า ข้อมูลที่พรรคได้มอบหมายให้ส.ส.ของพรรคตรวจสอบในหลายพื้นที่หลังรัฐบาลประกาศลดราคารับจำนำจาก 15,000 บาท เหลือ 12,000 บาท พบว่า ค่าใช้จ่ายของชาวนาก่อนจะมีการรับจำนำ 15,000 บาท ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 4,500 บาทต่อไร่ ตอนนี้เพิ่มขึ้นไปประมาณเกือบ 9,000 บาทต่อไร่

ปัจจัยที่เพิ่มขึ้นคือ ค่าเช่าจาก 1,000 เพิ่มเป็น 3,000 บาทต่อไร่ ปุ๋ยคอกจาก 8 บาทต่อถุงเป็น 30 บาทต่อถุง ค่าแรงพ่นยากำจัดศัตรูพืช 100 บาทต่อถังเป็น 250 บาทต่อถัง ค่าจ้างคนงานเก็บข้าวดีดที่ในมากับพันธุ์ข้าวจาก 150 บาทต่อไร่ เป็น 300 บาทต่อไร่ ค่าปั่นนา (ปั่นดินให้อยู่ในสภาพพร้อมทำนา) เดิม 180 บาทต่อไร่ เป็น 300 บาทต่อไร่ ค่าทำเทือกจาก 180 บาทต่อไร่ เพิ่มเป็น 250 บาทต่อไร่ ค่าพันธุ์ข้าวปลูกจาก 550 บาท เพิ่มเป็น 750 บาท

ค่าแรงหว่านข้าวเดิม 30 บาทต่อไร่ เพิ่มเป็น 60 บาทต่อไร่ ค่ายาฆ่าหญ้าวัชพืชจาก 75 บาท เป็น 150 บาท ค่าแรงฉีดยา 30 บาทต่อไร่เเพิ่มเป็น 60 บาทต่อไร่ และค่ายาคุมหญ้าวัชพืช 50 บาทต่อไร่ เพิ่มเป็น 70 บาทต่อไร่ ค่าปุ๋ยเคมีเดิม 800 บาท เป็น 1,500 บาทต่อไร่ ค่าแรงใส่ปุ๋ยเคมีเดิม 30 บาทต่อไร่ เป็น 60 บาทต่อไร่ ค่ายาบำรุงข้าวและฮอร์โมนเดิม 650 บาทต่อไร่เพิ่มเป็น 900 บาทต่อไร่ ค่าแรงพ่นยาบำรุงข้าว 30 บาทต่อไร่ เป็น 60 บาทต่อไร่

ส่วนค่าน้ำมันสูบน้ำเข้านาไม่มีความเปลี่ยนแปลง แต่ค่ารถเกี่ยวข้าวและบรรทุกไปจำนำจาก 400 บาทต่อไร่ เพิ่มเป็น 600 บาทต่อไร่ เฉลี่ยค่าใช้จ่ายของชาวนาเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ชาวนามีรายได้ลดลงจากการลดราคาจำนำลงมารัฐบาลจะเข้ามาควบคุมต้นทุนให้กลับไปเหมือนเดิมก่อนที่จะมีโครงการรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท อย่างไร

ข้อมูลของพรรคฝ่ายค้านอาจถูกตั้งข้อสงสัย แต่สำหรับข้อมูลอย่างเป็นทางการของหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง คงต้องยอมรับว่า ต้นทุนการผลิตข้าวนั้นเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวจริง และแม้ราคาขายจะเพิ่มขึ้น แต่หักกลบลบต้นทุนแล้วกลับมีกำไรลดลงเกินครึ่ง เหลือแค่ตันละพันกว่าบาทเท่านั้น ย่ำแย่ยิ่งกว่าตอนที่ไม่มีโครงการรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท เสียอีก

ตัวเลข “ข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจการเกษตร” ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระหว่างปี 2550 - 2555 ชี้ชัดว่า ต้นทุนการผลิตข้าวนาปีและนาปรังสูงขึ้นเกือบเท่าตัว โดยฤดูกาลผลิตปี 2550 ก่อนหน้าที่จะมีโครงการรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาทนั้น นาปี มีต้นทุนผลิต 5,985 บาท/ตัน ปี 2551 ต้นทุนผลิต 8,859 บาท/ตัน ปี 2552 ต้นทุนผลิต 8,715 บาท/ตัน พอถึงปี 2553 ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มดำเนินโครงการจำนำข้าว ต้นทุนผลิต พุ่งขึ้นไปถึง 9,359 บาท/ตัน และเพิ่มขึ้นอีกใน ปี 2554 ที่มีต้นทุนผลิต 10,399 บาท/ตัน และปี 2555 ต้นทุนผลิต 10,685 บาท/ตัน

ส่วนนาปรัง ปี 2550 ต้นทุนผลิต 6,696 บาท/ตัน ปี 2551 - 2555 มีต้นทุนผลิต 6,762 บาท/ตัน, 6,575 บาท/ตัน 7,776 บาท/ตัน 8,233 บาท/ตัน และ 8,612 บาท/ตัน ตามลำดับ

ขณะที่ราคาที่เกษตรกรขายได้สำหรับข้าวนาปี 5% ปี 2550 ขายได้ 9,951 บาท/ตัน ปี 2551 ขายได้ 9,612 บาท/ตัน ปี 2552 ขายได้ 10,893 บาท/ตัน ปี 2553 ขายได้ 10,810 บาท/ตัน ปี 2554 ขายได้ 11,841 บาท/ตัน และ ปี 2555 ขายได้ 12,398 บาท/ตัน ส่วนข้าวเปลือกเจ้านาปรังความชื้น 15% ราคาที่เกษตรกรขายได้ ตั้งแต่ปี 2550 - 2555 เรียงลำดับ ดังนี้ 12,127 บาท/ตัน, 9,909 บาท/ตัน, 10,000 บาท/ตัน, 8,447 บาท/ตัน, 10,172 บาท/ตัน และ 10,172 บาท/ตัน

เมื่อหักกลบต้นทุนการผลิตกับราคาที่เกษตรกรขายได้ พบว่า กำไรต่อตันลดต่ำลงอย่างมาก โดยผลตอบแทนสุทธิหรือกำไรต่อตัน ตั้งแต่ปี 2550 - 2555 ของนาปี มีดังนี้ 3,966 บาท, 753 บาท, 2,178 บาท, 1,451 บาท, 1,442 บาท และ 1,713 บาท ตามลำดับ ส่วนนาปรัง มีกำไรต่อตัน ตั้งแต่ปี 2550 - 2555 ลดลงเช่นเดียวกัน คือ 5,431บาท, 3,147 บาท, 3,425 บาท, 671 บาท, 1,939 บาท และ 1,560 บาท เท่านั้น

ตัวเลขที่โชว์ต้นทุน กำไรกันจะจะข้างต้น สะท้อนว่าชาวนาไม่สามารถลืมตาอ้าปากและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นดังคำโม้ของ “นช.ทักษิณ” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ที่เป็นคนต้นคิด และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับพรรคเพื่อไทย ผู้ลงมือทำ แต่อย่างใด เม็ดเงินกำไรที่เคยได้ก่อนหน้าที่จะมีโครงการรับจำนำข้าวกับหลังจากที่มีโครงการรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะข้าวนาปรังที่ลงทุนด้านปัจจัยการผลิตทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและยา อย่างเข้มข้น

ชีวิตชาวนาหลังจากนี้ จะมีแต่หนี้สินท่วมหัว ล้มละลายกันถ้วนหน้า เพราะขนาดรัฐบาลประกาศรับจำนำ ตันละ 15,000 บาท ราคาขายจริงยังอยู่แค่ 10,000 - 12,000 บาท เมื่อลดลงเหลือตันละ 12,000 บาท ราคาขายจริงจะได้แค่ 8,000 - 9,000 บาทต่อตันเท่านั้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตต่อตันพุ่งขึ้นไปถึงหมื่นบาทแล้ว เรียกว่าขาดทุนตั้งแต่อยู่ในมุ้ง

แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือยกระดับคุณภาพชีวิตกลับเป็นการฆ่าชาวนาอย่างเลือดเย็นที่สุด เมื่อหนี้ท่วมที่นาก็ถูกยึด หรือกลายเป็นทาสในระบบเกษตรพันธะสัญญาบนที่นาของตัวเอง ไม่ได้มีสิทธิกำหนดชีวิตและวิถีการผลิตข้าวด้วยตัวเองอีกต่อไป

การเพาะปลูกข้าวนับแต่มีโครงการรับจำนำข้าวเป็นต้นมา ชาวนาไม่ได้สนใจในคุณภาพข้าว เพราะระบบจำนำไม่มีการคัดเลือกคุณภาพข้าว มีแต่เรื่องความชื้นกับสิ่งเจือปน ข้าวต่างเกรดถูกกดเป็นราคาเดียว ข้าวหอมมะลิกับข้าวหอมปทุมที่มีราคารับจำนำใกล้เคียงกัน คือ หอมมะลิ ตันละ 20,000 บาท กับหอมปทุม ตันละ 18,000 บาท จะปะปนแปลงกายเป็นหอมมะลิเพื่อให้ได้ราคาจำนำสูง ชาวนาจะหันมาปลูกข้าวอายุสั้น คุณภาพต่ำ มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิต ใส่ ปุ๋ย ใส่ยา ใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง และลดการเพาะปลูกพืชอื่นๆ

ผลที่ตามมาอย่างแน่นอนก็คือ คนไทยจะสูญเสียอู่ข้าวอู่น้ำที่มีข้าว หลากหลายสายพันธุ์ ชื่อเสียงคุณภาพข้าวในตลาดโลกก็จะหมดไป และเมื่อใดที่หมดโครงการรับจำนำข้าว ชาวนาที่เคยพึ่งพาตัวเองได้ก็จะล้มละลาย ล้มหายตายจาก เหลือเพียงชาวนารายใหญ่ที่ร่ำรวยและมีสายสัมพันธ์กับการเมือง

ไม่เพียงทำลายชาวนา ทำลายวิถีการผลิตข้าวเท่านั้น แต่โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ยังทำลายระบบค้าข้าวที่ประเทศไทยสั่งสมชื่อเสียงมายาวนานอีกด้วย

ผลจากโครงการจำนำข้าวทุกเมล็ดซึ่งก็คือการที่รัฐบาลซื้อข้าวมาสต็อกไว้ทั้งหมด ทำให้รัฐบาลกลายเป็นผู้ผูกขาดการค้าข้าว แต่กลับไม่มีความชัดเจนโปร่งใสในการระบายข้าว มีแต่เสียงครหานินทาว่า ใครอยากได้ข้าวในโครงการรับจำนำราคาถูกในราคาตันละ 5,000 บาทไปขายตันละหมื่นกว่าบาท ต้องติดต่อผ่าน “เจ๊ ด.” ทำให้การระบายข้าวกลายเป็นเรื่องคลุมเครือ มีข้อสงสัย เพราะการระบายข้าวเป็นช่องทางทุจริตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกระบวนการรับจำนำข้าว

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ เด็กของ “เจ๊ ด.” ออกมาแก้เกี้ยวว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดระบายข้าวเป็นการทั่วไปมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่เริ่มโครงการรับจำนำปี 2554/2555 จำนวน 5 รอบ ปริมาณรวม 6-7 ล้านตัน แต่มีเอกชนสนใจร่วมประมูลน้อยมาก ระบายออกไปได้เพียง 2 - 3 แสนตัน แต่ระบายในรูปแบบอื่นๆ รวมแล้ว 6 - 7 ล้านตัน ขณะนี้มีข้าวในสต็อกเหลือประมาณ 10 ล้านตัน ซึ่งบางส่วนเป็นข้าวที่รอการส่งมอบ จากปริมาณข้าวที่รัฐบาลมีอยู่ตั้งแต่โครงการรับจำนำรอบแรกจนถึงปัจจุบัน 40 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นข้าวสารประมาณ 20 ล้านตัน โดยเป้าหมายการส่งออกปีนี้คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 8.5 ล้านตัน

สรุปง่ายๆ ก็คือ รัฐบาลใช้ความพยายามเต็มที่ในการระบายข้าวในสต็อก และข้าวไม่ได้เหลือบานเบอะมีเพียงแค่ 10 ล้านตันข้าวสารเท่านั้น และถ้าส่งออกได้ตามเป้าก็ไม่น่าจะมีปัญหาให้ห่วงกังวล

งานนี้ รัฐมนตรีจากสภาโจ๊ก นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รมช.กระทรวงพาณิชย์ ก็ร่วมเล่นละครตบตาประชาชนด้วยการประกาศว่าจะลุยตรวจสต็อกข้าวทั่วประเทศทั้งคุณภาพและปริมาณ ในวันที่ 29 มิ.ย. 56 เพื่อกลบเกลื่อนปกปิดบิดเบือนตัวเลขปริมาณสต็อกข้าวที่มีมากล้นรอวันระเบิด รวมทั้งคุณภาพข้าวในสต็อกที่แย่มีมอดกิน ส่งกลิ่นเน่าเหม็น รมควันด้วยสารพิษจนแมวและหนูตายเกลื่อน แถมบางโกดังยังมีข้าวล่องหนอีกด้วย

แต่อาจเป็นเพราะนายบุญทรง และนายณัฐวุฒิ ลืมปิดปากองค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องสต็อกข้าวโดยตรง นายสมศักดิ์ วัฒนศานต์ รองผู้อำนวยการ อคส. ซึ่งออกมาแถลงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา บอกถึงปริมาณสต็อกข้าวสารในโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดว่า มีประมาณ 17-18 ล้านตันข้าวสาร โดยเป็นข้าวในโครงการรับจำนำนาปี 2554/55 ประมาณ 2.3 ล้านตัน, โครงการรับจำนำนาปรัง ปี 2555 ประมาณ 7.2 ล้านตัน และโครงการรับจำนำนาปี ปี 2555/56 ประมาณ 8 ล้านตัน โดยมีภาระผูกพันต้องขายให้กรมราชทัณฑ์ และนำมาผลิตเป็นข้าวถุงออกขายประมาณ 2 ล้านตัน ทำให้เหลือสต็อกประมาณ 15 ล้านตัน

รองผู้อำนวยการ อคส. ระบุด้วยว่า โครงการรับจำนำมาตั้งแต่ปี 2544 ถึงปัจจุบัน ถือว่าขณะนี้เก็บสต็อกมากพอสมควร ระหว่างปี 2544-2550 มีสต็อกค้าง 12 ล้านตัน โดยรัฐบาลประชาธิปัตย์ช่วงปี 2551 ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ระบายออกไปเลย ต่อมาในสมัยนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นรองนายกรัฐมนตรี ระบายไปประมาณ 4-5 ล้านตัน แต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพียง 3 ฤดูกาล แต่มีสต็อกถึง 17-18 ล้านตัน เพราะรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ผิดกับรัฐบาลก่อนๆ ที่กำหนดปริมาณรับจำนำไว้ที่ 4-5 ล้านตันเท่านั้น ทำให้ตัวเลขสต็อกมีสูง

หากกลับไปดูสถิติการส่งออกข้าวของประเทศไทยแล้ว ข้าวสาร 15 ล้านตันที่อคส.ระบุว่ามีอยู่ในสต็อก ต้องใช้เวลาระบายข้าวออกสู่ตลาดประมาณ 2 ปีเป็นอย่างน้อย เมื่อเทียบกับว่า การส่งออกข้าวของไทยในแต่ละปีเฉลี่ยประมาณ 7 - 8 ล้านตัน และหลังจากมีโครงการรับจำนำข้าว ปริมาณการส่งออกข้าวของประเทศไทย ลดต่ำลงอย่างมากเพราะราคาแพงกว่าประเทศคู่แข่งขัน โดยปี 2555 กระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา ระบุตัวเลขว่า ประเทศไทยส่งออกข้าวเพียง 6.73 ล้านตันเท่านั้น

ในการเก็บสต็อกข้าวของรัฐบาล ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ตกเดือนละประมาณ 360 ล้านบาท คุณภาพข้าวในโกดังก็เสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ อย่างน้อยปีละ 20% ขณะเดียวกันยังจะมีปริมาณข้าวที่เข้าสู่โครงการรับจำนำเพิ่มขึ้นมาอีกเรื่อยๆ โดยข้าวนาปรัง ปี 2556 คณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) กำหนดเป้าหมายว่าจะมีข้าวเข้าโครงการจำนำ 7 ล้านตันข้าวเปลือก จากปริมาณผลผลิตรวม 9 ล้านตัน ซึ่งมีกำหนดเวลาอีก 2 เดือนจะสิ้นสุดโครงการ

ขณะที่ปริมาณข้าวมีอยู่ล้นสต็อก แต่ความหวังจะขายข้าวในตลาดโลกให้ได้มากขึ้นก็ดูลางเลือนเต็มที เรื่องนี้ นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ตอบโต้กรณีที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้แสดงความเห็นใจเกษตรกรชาวนาไทย ซึ่งหากราคาข้าวในตลาดโลกขยับตัวสูงขึ้นทางรัฐบาลก็จะขยับขึ้นราคาแน่นอนว่า เรื่องดังกล่าวไม่มีความเป็นไปได้เลยที่ราคาข้าวในตลาดโลกจะปรับราคาสูงขึ้น และเป็นการคาดการณ์แบบไร้เหตุผล เนื่องจากในปัจจุบันราคาข้าวไทยมีราคาสูงกว่าประเทศคู่ค้ามาก รวมทั้งขณะนี้ปริมาณข้าวมีมากกว่าความต้องการ ดังนั้น จึงมองว่าเรื่องดังกล่าวก็เหมือนเป็นการหลอกชาวนา

หากเทียบราคาข้าวในตลาดโลกระหว่างประเทศไทยกับคู่แข่งขันอย่างเวียดนามและอินเดียแล้ว รัฐบาลไทยต้องลดราคาขายข้าวในตลาดโลกลงมาอีกประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จึงจะมีโอกาสแข่งขันกับผู้ส่งออกอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะเวียดนาม แต่ปัญหาคือ การระบายข้าวออกสู่ตลาดโลกในราคาต่ำลงอาจถูกประเทศคู่แข่งฟ้องร้องต่อองค์การค้าโลกด้วยข้อกล่าวหาว่าไทยทุ่มตลาด ซึ่งเรื่องนี้หลายประเทศกำลังเฝ้าจับตาอยู่

เมื่อทิศทางราคาข้าวในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป นั่นหมายความว่าโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลจะมีปัญหายืดเยื้อต่อไปอีกนาน พร้อมๆ กับการทำลายระบบการผลิตข้าว ทำลายระบบการค้าข้าว ทำลายความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวไทย ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ทำลายความมั่นคงของฐานะการเงินการคลัง มีแต่เพียงการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เบ่งบานโดยบรรดามีเครือญาติพวกพ้องบริวารของรัฐบาลเท่านั้นที่ได้ประโยชน์



ม็อบชาวนาที่รวมตัวกันมากดดันที่ทำเนียบรัฐบาล
สต็อกข้าวที่มีอยู่ถึง 15 ล้านตัน ซึ่ง อคส.ระบุว่าต้องใช้เวลาระบายถึง 2 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น