xs
xsm
sm
md
lg

“องอาจ” จี้ นายกฯ ประชุม กขช.แก้จำนำข้าวเอง เตือนอย่าลูบหน้าปะจมูกทำประชาพิจารณ์น้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
ประธาน ส.ส.กทม.ประชาธิปัตย์ จี้นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ กขช.ด้วยตัวเอง ยันให้ชาวนากู้ ธ.ก.ส.เพิ่มไม่ใช่การแก้ปัญหา แนะอย่าทำประชาพิจารณ์โครงการน้ำชาวบ้านในพื้นที่แบบลูบหน้าปะจมูก วอนเปิดแผนใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้าน

วันนี้ (30 มิ.ย.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช.ในวันที่ 1 ก.ค.56 เพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องของชาวนาที่ต้องการให้ยกเลิกการปรับลดราคาจำนำข้าวจาก 15,000 บาท เหลือ 12,000 บาท แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้เข้าประชุม โดยมอบให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานในที่ประชุมแทน ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่บริหารผิด ประเมินพลาด ไม่สามารถดึงราคาข้าวในตลาดโลกได้ตามที่ต้องการ และยังก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย จึงขอให้นางสาวยิ่งลักษณ์ เข้าประชุมเพื่อกำหนดแนวทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยจะต้องพิจารณาในส่วนอื่นเพื่อช่วยชาวนาด้วย
คือ 1.ต้นทุนการผลิตของชาวนา เพราะก่อนหน้าที่จะมีโครงการจำนำข้าว ชาวนามีต้นทุนการผลิตประมาณ 4,500 บาทต่อไร่ แต่หลังมีโครงการจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน ทำให้ต้นทุนการผลิตขึ้นหนึ่งเท่าตัวหรือประมาณ 9,000 บาทต่อไร่ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงเท่ากับก่อนที่จะมีการโครงการจำนำข้าวได้หรือไม่อย่างไร 2.จากการลดราคาจำนำลงในขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นนั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบกับชาวนาอีกประมาณ 3 ล้านครอบครัว เพราะเมื่อลดราคาจำนำลง ราคาข้าวเปลือกในตลาดก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากข้าวฤดูกาลใหม่แล้ว ยังมีข้าวในสต๊อกที่ยังค้างอีก 17 ล้านตันด้วย ซึ่งมีชาวนาที่ไม่ได้เข้าโครงการรับจำนำกว่า 3 ล้านครัวเรือน ที่จะขายข้าวได้ในราคาที่ลดลงด้วย แต่ต้นทุนการผลิตไม่ได้ลดลงตาม ดังนั้นชาวนาต้องเข้าไปเยียวยาชาวนากลุ่มนี้ด้วย

“การที่จะให้ชาวนากู้เงิน ธ.ก.ส.เพิ่มมากขึ้นนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะจะทำให้ชาวนามีหนี้เพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลมีความรับผิดชอบต้องเยียวยาความทุกข์ยากของชาวนาที่เกิดจากนโยบายจำนำข้าว ถ้านายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีโอกาสไปประชุม กขช.ก็สามารถใช้ภาวะความเป็นผู้นำในการปรึกษาหารือ ประชุมร่วมกันเพื่อช่วยเหลือชาวนา แต่เมื่อไม่เข้าประชุมเวทีการประชุม กขช.จะพูดแต่เรื่องคงราคา 12,000 บาท หรือกลับไป 15,000 บาทเหมือนเดิม จึงอยากให้นายกฯเข้าไปดูแลปัญหาความเดือดร้อนของชาวนาจากความผิดพลาดในนโยบายจำนำข้าวด้วยตัวเอง” นายองอาจ กล่าว

นายองอาจ ยังกล่าวถึงกรณีโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน หลังจากที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาออกมา นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ บอกว่าจะเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำต่อไป ขอให้นักวิชาการฝ่ายค้านร่วมมือเลิกค้านว่า พรรคเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาน้ำอย่างครบวงจรและพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการบริหารน้ำท่วมอย่างยั่งยืน แต่เราคัดค้านการใช้ปัญหาน้ำท่วมมาเป็นข้ออ้างแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองโดยมิชอบ และคัดค้านการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ และกฎหมาย แต่เราไม่พร้อมร่วมมือกับการทุจริตและผิดกฎหมาย จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องรวบรวมรายชื่อ ส.ส.เพื่อยื่นถอดถอน ครม.ทั้งคณะ ในการทำผิดกฎหมายทั้ง กฎหมายฮั้ว การไม่กำหนดราคากลางตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.และไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57(2) และ 67(2)

นายองอาจ กล่าวด้วยว่า หลังจากศาลปกครองมีคำพิพากษาให้ไปรับฟังความเห็นประชาชนก่อนดำเนินโครงการนั้น รัฐบาลประกาศว่าจะดำเนินการรับฟังความเห็นและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้เสร็จภายในสองเดือน จึงขอเรียกร้องว่ารัฐบาลไม่ควรทำแบบลูบหน้าปะจมูก เพราะโครงการนี้มีพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจำนวนมาก เพราะการศึกษามีถึง 9 ขั้นตอนเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะทำให้เสร็จภายใน 2 เดือน หากเดินหน้าเช่นนี้ก็จะยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น โดยไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง เพราะคำพิพากษาของศาลปกครองกลางได้ช่วยให้รัฐบาลบรรลุผลสำเร็จในการดำเนินโครงการได้ เพราะถ้าไม่สำรวจความเห็นประชาชนก่อน แต่ใช้วิธีออกแบบไปสร้างไปแล้วประชาชนออกมาต่อต้านจะยิ่งเกิดปัญหาที่หนักหน่วงรุนแรงกว่า จึงควรทำให้เกิดความเห็นพ้องต้องกันก่อน เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้ตลอดรอดฝั่ง แต่รัฐบาลกลับพยายามจะทำให้จบภายในสองเดือนนั้น ตนยืนยันว่าเป็นไปได้ยาก

สำหรับการกู้เงินตามโครงการนี้ที่รัฐบาลได้ลงนามสัญญากู้เงินกับสถาบันการเงินไปแล้วนั้น นายองอาจ กล่าวว่า การที่รัฐบาลอ้างว่าปรึกษาฝ่ายต่างๆ แล้วยกเว้นกฤษฎีกาว่าเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมตรี และสำนักงบประมาณเห็นชอบแล้วนั้น อยากเรียนถามไปยังรัฐบาลว่าที่มีการพิจารณาการกู้เงินหลังศาลปกครองมีคำสั่งแล้วแต่ในขณะเดียวกันกลับมีการให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกันคืออ้างว่าสำนักงบประมาณให้ความเห็นชอบตั้งแต่คืนวันที่ 26 มิ.ย.56 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่ศาลปกครองจะมีคำพิพากษา ทั้งนี้อยากสอบถามรัฐบาลว่าได้มีการส่งแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้เงินไปให้สำนักงบประมาณแล้วใช่หรือไม่ ถ้าใช่กรุณาเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าแผนการใช้เงินกู้มีเนื้อหาสาระอย่างไร

“ไม่ทราบว่าสำนักงบประมาณได้ส่งข้อมูลนี้แล้วหรือไม่อย่างไร ที่ตนหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะอยากให้รัฐบาลเดินหน้าอย่างถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลกระทบตามมาในอนาคตทั้งโครงการไม่เสร็จ และโครงการอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับคำพิพากษาของศาลปกครอง ถ้าโครงการอื่นที่ทำไม่ถูกต้องก็จะทำให้โครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับคำพิพากษาของศาลปกครองที่มีการเดินหน้าไปสูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ด้วย จึงอยากฝากไปยังรัฐบาลให้พิจารณาอย่างรอบคอบเหมาะสมให้มากที่สุดเพื่อประโยชน์ของโครงการ” นายองอาจ กล่าว

ด้าน นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายกฯ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาคำตัดสินของศาลปกครองว่า ควรจะไปปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองจะดีกว่า เพราะยิ่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ก็ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนและเงื่อนไขให้มีกความยุ่งยากมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น