xs
xsm
sm
md
lg

"ปู"ซีดข้าวล่องหน แฉโกงจริง!ของดีขายออก ข้าวเขมรล้านตันสวมแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปู” เต้นข้าวพิจิตรหายเกลี้ยงโกดัง 8 พันตัน สั่งลุยสอบซ้ำ โพล 81.2% เชื่อโกงจริง ด้านวงเสวนาลดราคาจำนำข้าวแก้ทุจริตได้จริงหรือ? ทีดีอาร์ไอฟันธงต่ออายุให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการ ลดขาดทุน 8.7 หมื่นล้าน แต่แก้โกงไม่ได้ ปูดนำข้าวดีขายออกแล้วนำข้าวกัมพูชา 1 ล้านตันสวมสิทธิ์ ชาวนายันลดราคาจำนำข้าวสร้างความเดือดร้อนเพราะต้นทุนสูงขึ้นแล้ว จวกสั่ง ธ.ก.ส.ปล่อยกู้เพิ่มเท่ากับเพิ่มหนี้ให้ชาวนา ลั่นเคลื่อนไหว 25 มิ.ย.นี้

วานนี้ (23 มิ.ย.) พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจราชการ และรับฟังปัญหาโครงการรับจำนำข้าวที่ จ.พิจิตร ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งที่ 1/2556 ลงวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่งตั้งให้ตนเป็นหัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อมูลปริมาณข้าวคงเหลือขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และองค์การคลังสินค้า (อคส.) เพราะโครงการทำเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น ไม่ได้มุ่งหวังกำไร แต่ที่ต้องลดราคารับจำนำจาก 15,000 บาทเหลือ 12,000 บาทเป็นไปตามกลไกของตลาด ถ้าอนาคตราคาข้าวปรับสูงขึ้นก็ต้องปรับเปลี่ยนราคา

แต่ที่เดินทางมา จ.พิจิตรเป็นสถานที่แรกเพราะเกิดกรณีโรงสียักยอกทรัพย์ของ อ.ต.ก. เป็นข้าวเปลือก 4,000 ตัน และข้าวสาร 840 ตัน วงเงินประมาณ 88 ล้านบาท และยังมีเรื่องโรงสีแห่งเดียวกันนี้ฉ้อโกงชาวนาอีก 4,000 ตัน อ้างว่าจะแปรรูปส่ง อ.ต.ก. เพื่อรับใบประทวนให้ชาวนา สุดท้ายก็ฉ้อโกงจนเป็นเหตุประท้วงปิดถนน บุกศาลากลางจังหวัดเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทราบข่าวจึงให้ความสนใจ สั่งให้ตนและคณะลงพื้นที่

พล.ต.ต.ธวัชกล่าวว่า ได้ไปดูโรงสีแอล-โกลด์ แมนูแฟคเจอร์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ ต.ท่าบัว อ.โพทะเล พบว่าเป็นความจริงตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดรายงาน ซึ่งจะได้ปรึกษากันเพื่อดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด และหาทางเยียวยาชาวนาที่เดือดร้อน อีกทั้งจะต้องถอดเป็นบทเรียนไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก

นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า กำลังตำรวจและชุดเฉพาะกิจเข้าตรวจโกดังข้าวที่โรงสีแอล-โกลด์ แมนูแฟคเจอร์ จำกัด พบว่าข้าวเปลือกและข้าวสารทั้งของชาวนาและ อ.ต.ก.หายไป 8,000 ตัน เกรงว่าข้าวทั้งหมดจะเป็นของโจรที่ออกเร่ขายราคาถูกให้โรงสี หรือให้ชาวนาที่มีหนังสือรับรองสิทธินำข้าวเข้าจำนำในช่วง 7 วันอันตราย เพราะรัฐบาลยังให้ราคารับจำนำตันละ 15,000 บาทจนถึงวันที่ 29 มิถุนายน ซึ่งถือเป็นช่วงนาทีทอง และขณะนี้พิจิตรมีฝนตกทุกวัน ชาวนาอาจเกี่ยวข้าวไม่ทัน ก็จะใช้วิธีขายสิทธิให้เถ้าแก่โรงสี แล้วเวียนเทียนข้าวเข้าจำนำแทน

พล.ต.ต.กฤษณะ ศิริปิยะวัฒน์ ผบก.ภ.จว.พิจิตร กล่าวว่า คดีโรงสีแอล-โกลด์ แมนูแฟคเจอร์ จำกัด มี 2 คดี คือ ยักยอกทรัพย์ข้าวเปลือก 4,000 ตัน และข้าวสารของ อ.ต.ก. 840 ตัน และคดีที่สอง ฉ้อโกงชาวนาโดยเอาข้าวเปลือกไป 4,000 ตัน แล้วไม่ส่งมอบให้ อ.ต.ก. สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท ขณะนี้ได้มีชาวนาทยอยเข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองแล้ว 12 ราย จากจำนวน 96 ราย
พร้อมกันนี้ยังได้สั่งให้ พ.ต.อ.ธวัชชัย มวญนรา รอง ผบก. เป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจปฏิบัติการปราบปรามการฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์ข้าวในโครงการของ อ.ต.ก.พิจิตร พร้อมทั้งให้ พ.ต.ท.เนวิน กาหลง หัวหน้างานสอบสวน สภ.เมือง เป็นหัวหน้าทีมเร่งทำสำนวน เพราะจะมีชาวนาเข้ามาแจ้งความเพิ่มอีกกว่า 100 รายเพื่อจะได้ออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตัวการใหญ่ที่อยู่เบื้องหลัง คนที่มีชื่อตามนิตินัยทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งขณะนี้รู้ตัวหมดแล้ว

***โพลชี้ 81.2% เชื่อมีทุจริตจำนำข้าว

น.ส.ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง โครงการรับจำนำข้าวต่อเสถียรภาพของรัฐบาล จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,432 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 19 -22 มิ.ย. ที่ผ่านมา พบว่า

ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 81.2 คิดว่า มีการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการรับจำนำข้าว ในขณะที่ร้อยละ 18.8 คิดว่าไม่มี นอกจากนี้เมื่อสอบถามต่อไปถึงความเหมาะสม ในการตัดสินใจของรัฐบาล กรณีที่มีการลดราคาจำนำข้าวจาก ตันละ 15,000 บาท เหลือตันละ 12,000 บาทนั้น พบว่า ประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 65.1 เห็นว่า ไม่เหมาะสม ในขณะที่ร้อยละ 34.9 เห็นว่า เหมาะสมแล้ว

อย่างไรก็ตามผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างส่วนมากหรือร้อยละ 63.5 ระบุ “รู้สึกผิดหวัง”ต่อรัฐบาลที่ไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนตามที่หาเสียงไว้ กรณีที่มีการปรับราคารับจำนำข้าวจาก ตันละ 15,000 บาท เหลือตันละ 12,000 บาท ในขณะที่ร้อยละ 36.5 ระบุไม่รู้สึกอะไรเลย

ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ ตัวอย่างส่วนมาก หรือร้อยละ 62.3 ไม่พึงพอใจต่อการบริหารจัดการในโครงการรับจำนำข้าวโดยภาพรวม ในขณะที่ร้อยละ 37.7 ระบุพึงพอใจ และตัวอย่างมากกว่า 2 ใน 3 หรือร้อยละ 74.7 คิดว่าโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล โดยมีเพียงร้อยละ 25.3 ที่ระบุว่าไม่ส่งผลกระทบ

สำหรับความคิดเห็นต่อทางออกที่ดีที่สุดสำหรับนายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหานี้ พบว่า ร้อยละ 33.1 ให้ทำงานต่อไปโดยที่ไม่ต้องทำอะไร ในขณะที่ร้อยละ 34.8 ระบุให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี รองลงมาคือ ร้อยละ 18.9 ระบุให้ลาออก และ ร้อยละ 13.2 ให้มีการเลือกตั้งใหม่

***เสวนาชี้ลดราคาจำนำแก้โกงไม่ได้

วานนี้ (23 มิ.ย.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประทศไทยร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา "ลดราคาจำนำข้าว ลดขาดทุน ป้องกันทุจริตได้จริงหรือ?" ณ อาคารสมาคมฯ มีวิทยากรเข้าร่วม ประกอบด้วย น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา นายนิพนธ์ พัวพงศกร สถานบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) และนายรังสรรค์ กาสูลงค์ ตัวแทนชาวนาไทย

นายนิพนธ์กล่าวว่า การลดราคาได้ช่วยให้รัฐบาลลดการขาดทุนได้ โดยใช้หลักการคำนวน สมมติฐาน ใช้ราคาข้าวขาวตันละ 1.2 หมื่นบาท และจำกัดปริมาณเกษตรรายละไม่เกิน 41.7 ตัน หรือ 5 แสนบาท จะทำให้ปริมาณจำนำนาปี ลดลง 21.75% นาปรัง ลดลง 23.7%ปริมาณรวมของข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการ จะลดลง 17.2% ทำให้รัฐบาลลดการขาดทุนลง คิดเป็น 49.5% หรือ 8.7 หมื่นล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีเงินดำเนินโครงการต่อไป แต่ปัญหาก็คือตอนนี้ใช้เงินไปแล้ว 6 แสนล้านบาท จากเดิมวางแผนไว้ว่าจะดำเนินโครงการ 4 ฤดูกาล วงเงิน 5 แสนล้านบาท
"รัฐบาลไม่เปลี่ยนวิธีขายข้าวไม่โปร่งใสที่เป็นต้นตอสำคัญของการทุจริตระดับสูง และการขาดทุน ปัญหาการทุจริตของโครงการ ยังมีการแอบขายข้าวกัน ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีทีท่าการแก้ปัญหาทุจริต โดยเฉพาะการขายข้าวที่ใช้อำนาจระดับสูงในการตัดสินใจในแต่ละครั้ง หากรัฐบาลมีความจริงใจควรเปิดระบายอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้ เพราะช่องทางการระบายเป็นการทุจริตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกระบวนการ"

การแก้ปัญหาทุจริต รัฐบาลควรเริ่มที่ยกเลิกกติกาการสีแปรสภาพ 7 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้โรงสีมีเวลานำข้าวสารราคาถูกจากส่วนอื่นไปส่งมอบแทนหรือไม่จำเป็นต้องส่งมอบ เพราะ 7 วัน โรงสีสามารถนำข้าวจากเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นไปตามการอนุมัติให้นำเข้าข้าวเปลือกจากเพื่อนบ้านซึ่งมีราคาถูกกว่ามาส่งมอบแทนได้ ดังนั้น ประเมินได้ว่าข้าวในประเทศมีมากผิดปกติประมาณ3 ล้านตัน เป็นข้าวที่มีการอ้างว่ายังไม่ได้ส่งมอบเข้าโกดังกลาง ประมาณ 2 ล้านตัน ขณะที่ข้าว 1 ล้านตัน ไม่สามารถบอกที่มาได้ว่ามาจากไหน เนื่องจาก ข้าว 3 ฤดูกาล ได้แก่ นาปี 2554/55นาปรัง 2555 และนาปี 2555/56 จะมีปริมาณรวม 40ล้านตันข้าวเปลือกซึ่งอยู่ในโครงการฯ ยังมีปริมาณจากการบริโภคภายใน 18 เดือน รวม26.1 ล้านตันข้าวสาร และที่มีการผ่านตลาดทั่วไป 8.9 ล้านตัน เมื่อรวมกับที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์แจ้งต่อรัฐสภาว่าได้ระบายข้าวผ่านจีทูจี 7 ล้านตันข้าวสาร ทำให้มีข้าวเกินอยู่ในระบบ

"ปริมาณข้าวที่เกินอยู่ในระบบ มาทำให้ราคาข้าวสาร รัฐบาลนี้ถูกกว่ายุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งขณะนี้เชื่อว่ามีข้าวประมาณ 1.9 ล้านตันถูกระบายออกมา และเมื่อรวมกับข้าวในมือเอกชน ต้องมีสต๊อกอีกประมาณ 2 ล้านตัน รวม 3.9 ล้านตัน รัฐบาลจึงปิดบัญชี 55/56ไม่ได้ จำนวนข้าวมากกว่าที่ควรจะเป็น เพราะมีข้าวเปลือกไม่ลงบัญชี 2.5ล้านตัน ซึ่งส่วนหนึ่งประมาณ 1 ล้านตัน น่าจะเป็นข้าวที่มาจากกัมพูชา และเข้ามาในโครงการโดยโรงสีที่ใช้ช่องกำหนดเวลาสีแปรสภาพ 7 วันเป็นช่องทางให้นำข้าวมาสวมสิทธิ์"

การอนุมัติให้มีการนำเข้าข้าวสารราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงการจำนำ เอื้อต่อการที่คนมีอำนาจบางคนจะแอบเอาข้าวสารคุณภาพดีไปขายให้พ่อค้าพรรคพวก แล้วซื้อข้าวสารราคาถูกจากเขมรมาส่งเข้าโกดังกลาง และอนุญาตให้โรงสีสีแปรใน 7วันทำให้เอาข้าวเปลือกออกไป ทำให้ไม่ต้องส่งมอบ เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับต้องรับผิดชอบ คนที่ไม่มีอำนาจระดับสูงจะทำเรื่องพวกนี้ไม่ได้เด็ดขาด

***ชาวนาแฉขึ้นทะเบียนจุดเริ่มโกง

ขณะที่นายรังสรรค์กล่าวว่า ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรเป็นที่มาของการทุจริต การส่งมอบข้าวสารหรือเปาเกา คือโรงสีรับข้าวไว้แล้วไม่สีแปร แต่ซื้อข้าวสารไปส่งมอบแทน ซึ่งอาจเป็นการไปซื้อจากโกดังหนึ่งไปอีกโกดังหนึ่ง และประเด็นข้าวสารในโกดังที่รัฐบาลไม่สามารถบอกได้ว่า ขายไปเท่าใดปริมาณ เท่าใด เมื่อบอกไม่ได้ทำให้สงสัยว่า มีการทุจริตหรือไม่ สรุปการลดราคาจำนำข้าวลงมาสร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยที่รัฐบาลไม่ได้มีมาตรการอย่างอื่นมารองรับช่วยเหลือ และการให้กู้เงินจาก ธ.ก.ส. ในวงเงินที่เพิ่มขึ้นได้ก็ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหา แต่จะเป็นการสร้างภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นให้แก่เกษตรกร ชาวนาไม่ยอมรับการปรับลดราคาเหลือตันละ 1.2 หมื่นบาท แต่เห็นด้วยการกำหนดเพดานรายละไม่เกิน 5 แสนบาท

"ชาวนาไม่ได้เรียกร้อง 1.5 หมื่นบาท ตอนนั้นเอามาให้เอง เมื่อเอามาแล้วต้นทุนก็เพิ่มขึ้น ค่าเช่านาจากไร่ละ 500-700 บาท ปัจจุบันขึ้นไป 1,000-1,500 บาทต่อปี โดยบางรายมีการเก็บค่าเช่าทุกครั้งที่ทำนา เมื่อขอให้ลดต้นทุนชาวนาก็ไม่สามารถทำได้เพราะค่าแรงงานขึ้นไปแล้ว เมื่อรัฐบาลสัญญากับเราไว้แล้ว มาลดราคาจะฟ้องรัฐบาลที่พูดวันนั้นกับวันนี้ไม่เหมือนกัน"

"ผมขอตำหนิ รมว.พาณิชย์ ที่ออกมาพูดว่าเกษตรกรไม่สามารถขายข้าวได้เต็มราคา เพราะเกษตรกรรีบเก็บเกี่ยวข้าว เกษตรกรใจร้อน ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่า ไม่มีความรู้เรื่องข้าว เนื่องจากการเก็บเกี่ยวที่ความชื้น 22-25% เมื่อนำมาทำข้าวแห้ง ข้าว 10 กก.จะเหลือ 5.5 กก. แต่ถ้าเก็บเกี่ยวความชื้นต่ำกว่านั้นน้ำหนักก็ลดลง” นายรังสรรค์กล่าวและยืนยันว่า ในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ ชาวนาทั่วประเทศจะเข้ากรุงเทพฯ รวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เวลา 09.00 น. ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนไปเพื่อยื่นข้อเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาล

ด้านนายเกียรติกล่าวว่า การลดราคารับจำนำข้าวของรัฐบาลสามารถลดความเสียหายของประเทศในภาพรวมได้ แต่เกษตรกรจะได้รับความเดือดร้อน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีมาตรการอื่นมารองรับและช่วยเหลือเกษตรกร การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลไม่ถูกต้องตั้งแต่การรับจำนำข้าวในราคา 15,000 บาทต่อตัน เพื่อยกราคาข้าวในตลาดโลกให้สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถทำได้ และทำให้รัฐบาลต้องขาดทุนเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถช่วยเหลือให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้

"ผมเข้าใจข้าราชการ แต่ฝ่ายการเมืองน่าจะมีอะไรบางอย่างจึงไม่มีข้าราชการมาประชุมกับฝ่ายตรวจสอบ ผมเคยออกหนังสือเรียกองค์การคลังสินค้า (อคส.) ไป 6 ครั้ง ไม่มาเลย เมื่อการระบายข้าวมีปัญหาไม่โปร่งใสจึงเป็นที่มาของภาระขาดทุนมหาศาล" นายเกียรติกล่าว

***พาณิชย์ป้องรัฐบาลช่วยชาวนา

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ชี้แจงว่า โครงการรับจำนำข้าวจะเรียกว่าขาดทุนหรือกำไรคงไม่ได้ เพราะรัฐบาลมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และทุกรัฐบาลจะจัดงบประมาณในการนำมาช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เรื่องราคารับจำนำต้องสะท้อนราคาตลาดโลก และราคาภายในประเทศให้มากขึ้นและให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกรที่ปลูกข้าวปีละครั้ง

ส่วนการลดราคาจำนำข้าวลงมานั้นจะสามารถช่วยลดการทุจริตลงได้หรือไม่ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การทุจริตมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในทุกโครงการ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ละเลยที่จะตรวจสอบ โดยโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมารัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความโปร่งในทุกขั้นตอน

***ขายข้าวสต๊อกต่างชาติ-เอกชนซื้อตรง

นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางปฏิบัติระบายข้าวตามที่ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) โดยกำลังพิจารณาวิธีการระบายด้วยวิธีเปิดประมูลรูปแบบอื่น เช่น การให้ผู้ซื้อต่างประเทศมาจับมือกับเอกชนไทย และยื่นความจำนงเสนอซื้อข้าวในสต๊อกรัฐ เนื่องจากไม่สามารถเปิดให้ผู้ซื้อต่างประเทศ เข้ามายื่นซื้อกับรัฐบาลได้โดยตรง เพราะอาจจะขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 (มาตรา 89) แต่ถ้าผู้ซื้อมาจับมือเอกชนไทยยื่นเสนอซื้อเข้ามาจะทำได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น