xs
xsm
sm
md
lg

“นิด้าโพล” ชี้ม็อบสวนยาง-ปาล์มเดือดร้อนจริง เชื่อรัฐไม่ช่วยเพราะราคาสูง-ไม่ใช่ฐานเสียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เผยผลสำรวจความคิดเห็นการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลกับการชุมนุมของชาวสวนยางพาราและสวนปาล์ม พบส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาลอุดหนุนสินค้าเกษตรทุกชนิดเท่าเทียมกับจำนำข้าว เชื่อรัฐบาลไม่ทำตามเพราะราคาที่เรียกร้องสูงเกินไป ไม่ใช่ฐานเสียงของรัฐบาล และครึ่งหนึ่งเชื่อม็อบชุมนุมเพราะเดือดร้อนมากกว่าเหตุผลทางการเมือง

วันนี้ (29 ส.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลกับการชุมนุมของชาวสวนยางและสวนปาล์ม” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-28 สิงหาคม 2556 จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาค ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,253 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ เกี่ยวกับกรณีการชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคายางพารา และราคาปาล์ม ที่ต่ำกว่าต้นทุนในขณะนี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error : S.E.) ไม่เกินร้อยละ 1.4

จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการที่รัฐบาลควรอุดหนุนสินค้าการเกษตรอื่นๆ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลรับจำนำข้าวโดยให้ราคาสูงกว่าราคาตลาดโลก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.40 เห็นด้วย เพราะรัฐบาลควรสนับสนุนสินค้าเกษตรทุกชนิดให้เท่าเทียมกันและมากขึ้น ราคาสินค้าเกษตรเกือบทุกชนิดมีราคาหน้าสวนต่ำมาก อีกทั้งต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น ขณะที่ร้อยละ 13.17 ไม่เห็นด้วย เพราะรัฐบาลมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณที่จะมาชดเชยส่วนต่างของราคาสินค้าเกษตร และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโครงการจำนำข้าวก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ควรปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกลตลาด

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้รัฐบาลแสดงท่าทีไม่ทำตามคำเรียกร้องของผู้ชุมนุมชาวสวนยางพาราและสวนปาล์ม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.00 ระบุว่า เป็นเพราะราคาที่ชาวสวนเรียกร้องสูงกว่าราคาตลาดโลกมากเกินไป รองลงมา ร้อยละ 30.57 ระบุว่า เป็นเพราะผู้ชุมนุมอยู่ภาคใต้ ไม่ใช่ฐานเสียงหลักของพรรครัฐบาล ร้อยละ 23.46 ระบุว่า เป็นเพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณอุดหนุนในภาคเกษตรแล้ว และร้อยละ 0.56 ระบุว่า เป็นเพราะรัฐบาลต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณา อีกทั้งยางเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญน้อยกว่าข้าวและอาจเกิดปัญหายางล้นตลาดได้

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อสาเหตุการรวมตัวกันของชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มในภาคใต้ในขณะนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.14 ระบุว่า เป็นเพราะชาวสวนได้รับความเดือดร้อนจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ รองลงมา ร้อยละ 25.51 ระบุว่า เป็นเพราะรัฐบาลเคยรับปากว่าจะแก้ไขปัญหาให้แต่ไม่ทำตามสัญญา ร้อยละ 20.33 เป็นการชุมนุมทางการเมืองเพื่อกดดันรัฐบาล และร้อยละ 0.06 มีผู้ที่ต้องการสร้างความปั่นป่วนและล้มรัฐบาล

นายธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับผลการสำรวจในครั้งนี้เพิ่มเติมว่า จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าในฐานะที่ประชาชนเป็นผู้ที่มีสิทธิออกเสียงและเลือกรัฐบาลเข้ามาบริหารบ้านเมือง ประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออุดหนุนผลผลิตภาคการเกษตรให้เท่าเทียมกันทุกกลุ่ม ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีประชาชนอีกกลุ่มที่เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเท่าใดนัก เนื่องจากเกษตรกรที่มาชุมนุมนั้นมิใช่ฐานคะแนนเสียงของพรรครัฐบาล สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลว่าเป็นการฃเลือกปฏิบัติ และหากเป็นเช่นนั้นจริงถือว่าเป็นสิ่งที่อันตรายมากในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ หลักการดำเนินนโยบายตามหลักประชาธิปไตยควรอยู่บนพื้นฐานหลักสำคัญ 3 ประการ คือ 1. หลักความเท่าเทียมกัน 2. ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล 3. การดำเนินนโยบายต้องไม่เป็นไปในลักษณะที่ก่อให้เกิดความแตกแยก เช่น ไม่อุดหนุนสินค้าเกษตรอย่างใดอย่างหนึ่งมากจนเกินไป ดังนั้น รัฐบาลจึงควรรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะ

ขณะที่ยังมีประชาชนเกือบ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 23.46 ที่ให้ความสนใจในเรื่องงบประมาณที่รัฐบาลใช้ช่วยเหลือ เพราะประชาชนไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบหรือเป็นภาระแก่รัฐบาลและประชาชนเอง โดยเฉพาะโครงการหรือนโยบายประชานิยมในระยะยาวที่มีช่องโหว่และเอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งนี้ ในส่วนตัวมองว่ารัฐบาลควรช่วยเหลือเกษตรกรในระยะสั้น เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตต่อไร่มากขึ้น การลดต้นทุนด้วยการลดภาษีนำเข้าปัจจัยการผลิต เช่น เครื่องจักรทางการเกษตร เคมีภัณฑ์ทางการเกษตร การให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับราคาผลผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้เกษตรกรได้วางแผนการเพาะปลูก หรือการประกันราคาผลผลิตทางการเกษตรในระยะสั้นหากราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลกหรือราคากลาง เมื่อราคาเข้าสู่ภาวะปกติก็ควรปล่อยราคาให้เป็นไปตามกลไกลตลาด แต่ถ้าหากจำเป็นรัฐบาลอาจช่วยเหลือในระยะยาวได้แต่ไม่ควรบ่อยหรือเป็นประจำ เช่น โครงการจำนำข้าว เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น