xs
xsm
sm
md
lg

โพล 63% หนุนเลือกตั้งวุฒิสภา 65% ค้านให้เครือข่าย-ครอบครัว ส.ส.เป็น ส.ว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นิด้าโพล” สำรวจความเห็นประชาชนส่วนใหญ่ 63% เห็นด้วยให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. ขณะเดียวกัน 65% เห็นว่าไม่ควรอนุญาตให้เครือข่ายหรือครอบครัว ส.ส. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีสิทธิลงสมัคร ส.ว. เพราะจะทำให้ไม่เป็นกลาง เอื้อประโยชน์พวกพ้อง 47% ควรให้ ส.ว.อยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 2 สมัย

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คุณสมบัติสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)” จากประชาชนทั่วภูมิภาค ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,249 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ เกี่ยวกับคุณสมบัติและการดำรงตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error : S.E.) ไม่เกินร้อยละ 1.4

ผลการสำรวจการได้มาซึ่ง ส.ว. หรือที่มาของ ส.ว.ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.65 เห็นว่า ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะต้องการให้ยึดเสียงของประชาชนเป็นหลัก รองลงมาร้อยละ 25.78 เห็นว่าควรมาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่งและสรรหาครึ่งหนึ่ง เพราะจะได้มีความคิดเห็นที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ และเข้ามาถ่วงดุลกัน และร้อยละ 5.44 เห็นว่า ควรมาจากการสรรหาทั้งหมดระบบการเลือกตั้งไม่มีประสิทธิภาพ และจะได้ ส.ว.ที่มีคุณภาพมากกว่า ขณะที่ร้อยละ 2.40 เห็นว่าไม่ควรมีสมาชิกวุฒิสภาอีกต่อไป

ส่วนความคิดเห็นต่อการอนุญาตให้เครือข่ายหรือครอบครัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีสิทธิเป็น ส.ว. พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.65 ระบุว่าไม่ควรอนุญาต เพราะทำให้เกิดความไม่เป็นกลางหรือไม่ยุติธรรมในการพิจารณาบางเรื่อง เป็นการเอื้อประโยชน์หรือระบบอุปถัมภ์แก่พวกพ้อง ขณะที่ร้อยละ 25.38 ระบุว่าควรอนุญาต เพราะอาจจะมีอุดมการณ์หรือความคิดที่แตกต่างกัน บางคนมีความรู้ความสามารถ ไม่ควรเอามาเป็นประเด็นหรือข้อจำกัดสิทธิในการเป็น ส.ว.

ท้ายสุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการให้ ส.ว.ดำรงตำแหน่งได้มากกว่า 1 สมัย พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.40 เห็นด้วย เพราะจะได้บริหารงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน แต่ไม่ควรเกิน 2 สมัย และร้อยละ 45.80 ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการปิดกั้นโอกาสคนอื่นที่มีความรู้ความสามารถ และหากได้คณะทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารงานก็อาจส่งผลกระทบในระยะยาว

นายสุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับผลการสำรวจในครั้งนี้เพิ่มเติมว่า จากผลสำรวจที่ออกมาแสดงให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการมีส่วนร่วมในการเลือก ส.ว.ตามแบบที่ตนเองอยากจะได้ อย่างไรก็ตาม ในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยนั้นสมาชิกวุฒิสภามีหลายรูปแบบและอำนาจที่แตกต่างกัน เช่น ในประเทศอังกฤษสมาชิกวุฒิสภา (สภาสูง) จะมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด แต่จะมีอำนาจน้อยกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ในขณะที่สหรัฐอเมริกา สมาชิกวุฒิสภาจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จึงมีอำนาจมากในการควบคุมและถอดถอนผู้บริหารได้ แต่ถ้าต้องการแบบผสมสามารถดูตัวอย่างได้จากประเทศฝรั่งเศส

ส่วนผลการสำรวจในประเด็นที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้เครือข่ายหรือครอบครัวของ ส.ส. มีสิทธิดำรงตำแหน่ง ส.ว. เนื่องจากประชาชนเคยได้รับบทเรียนในอดีตเมื่อหลายปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่รัฐสภาไทยเคยได้รับการขนานนามว่าเป็น “สภาผัวเมีย สภาพ่อ แม่ ลูก” ซึ่งคิดว่าประเด็นนี้น่าจะสำคัญมากที่สุดในการป้องกันการใช้อำนาจผูกขาดรัฐสภาของกลุ่มการเมืองใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ


กำลังโหลดความคิดเห็น